วันพุธ, ธันวาคม 11, 2024

หนังสือพิมพ์ พิมพ์ไทยออนไลน์

หน้าแรกกระทรวงยุติธรรมป.ป.ช.ชี้มูล อดีตผกก.ทุ่งสง อมเบี้ยเลี้ยงโควิด

ป.ป.ช.ชี้มูล อดีตผกก.ทุ่งสง อมเบี้ยเลี้ยงโควิด

พิมพ์ไทยออนไลน์ // เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เผย อัยการตั้งข้อไม่สมบูรณ์ สำนวนคดี คณะกรรมการป.ป.ช.ชี้มูลผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรทุ่งสง ทุจริตงบเบี้ยงโควิด มั่นใจหลักฐานในสำนวน หากอสส.สั่งไม่ฟ้อง ป.ป.ช.พร้อมฟ้องเอง

เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ นิวัติไชย เกษมมงคล เปิดเผยความคืบหน้าคดีที่ คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด พ.ต.อ.สมพงศ์ ทิพย์อาภากุล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้กำกับการ สถานีตำรวจภูธรทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง

ภายหลังคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด พ.ต.อ.สมพงศ์ และส่งรายงาน เอกสารพร้อมความเห็นไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลที่มีอำนาจ แต่ทราบว่าอัยการ ตั้งข้อไม่สมบูรณ์ในสำนวน ขระนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะทำงานร่วม อัยการ และป.ป.ช.

อย่างไรก็ตาม หากอัยการสูงสุด สั่งไม่ฟ้อง ป.ป.ช.จะดำเนินการฟ้องเอง เพราะเชื่อมั่นในพยานหลักฐาน สามารถเอาผิดผู้ถูกกล่าวหาได้

นอกจากนี้ ในส่วนคดีทางวินัย ส่งความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชา หรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอน ตามมาตรา 91 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561

ทั้งนี้ 19 สิงหาคม 2564 ผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 8 พล.ต.ท.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ มีคำสั่งตำรวจภูธรภาค 8 ที่ 262/2564 ลงวันที่ 18 สิงหาคม 2564 ให้ลงโทษไล่ออก พ.ต.อ.สมพงศ์ ทิพย์อาภากุล ออกจากราชการ

อย่างไรก็ตามผู้ถูกลงโทษ สามารถยื่นอุทธรณ์คำสั่ง ต่อ ก.ตร.ได้ และหากประสงค์จะฟ้องโต้แย้งคำสั่ง หรือคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ให้ทำคำฟ้องเป็นหนังสือยื่นต่อศาลปกครอง ภายใน 90 วันนั้น แต่วันที่ได้รับแจ้งหรือรับทราบคำวินิจฉัยอุทธรณ์

สำหรับคดีนี้ สืบเนื่องจากการร้องเรียนเกี่ยวกับค่าเบี้ยเลี้ยงงบโควิด – 19 โดยปรากฏข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อประมาณปี 2563 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จัดสรรเงินค่าตอบแทน ค่าเบี้ยเลี้ยงงบโควิด-19 ให้สถานีตำรวจภูธรทุ่งสง เพื่อเบิกจ่ายค่าตอบแทนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ที่ได้รับคำสั่งให้ปฏิบัติงานนอกที่ตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง ในอัตราคนละ 60 บาทต่อชั่วโมง เบิกจ่ายเท่ากับที่ปฏิบัติงานจริง แต่ไม่เกิน 7 ชั่วโมงต่อวัน ทั้งในวันราชการ และวันหยุดราชการ และงดเบิกค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทาง ไปราชการ ตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป จนกว่าสถานการณ์ของโรคจะยุติลง

ต่อมาสถานีตำรวจภูธรทุ่งสง ประชุม ประจำเดือนกันยายน 2563 ในวันอังคารที่ 29 กันยายน 2563 โดยมี พ.ต.อ.สมพงศ์ ทิพย์อาภากุล เป็นประธาน ที่ประชุม ได้ชี้แจงเรื่องค่าเบี้ยเลี้ยงงบโควิด – 19

ให้ตำรวจทุกนาย ของสถานีตำรวจภูธรทุ่งสง มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนรายละ 15,000 บาท โดยให้ตำรวจที่ได้รับเงินเกินจาก 15,000 บาท นำไปบริจาคให้กับสถานีตำรวจภูธรทุ่งสง เพื่อนำไปจัดสรรให้กับตำรวจที่ได้รับการจัดสรรน้อยกว่า 15,000 บาท เพื่อความเท่าเทียมกันและเพื่อความสามัคคี ส่วนเงินที่เหลือจากการปันส่วน ให้เก็บไว้เป็นกองกลาง เป็นเงินบริหารของสถานี ใช้สำหรับจัดหาอุปกรณ์ในการปฏิบัติงาน จัดงานตำรวจ งานสังสรรค์ภายในสถานี เงินรางวัล ผู้ปฏิบัติงานและอื่นๆ โดยให้เจ้าหน้าที่การเงินสถานีตำรวจภูธรทุ่งสง มีหน้าที่เก็บรวบรวมเงิน

ทั้งนี้ มีตำรวจหลายรายไม่เห็นด้วย แต่ไม่มีใครโต้แย้งหรือคัดค้าน

และปรากฏข้อเท็จจริงต่อมาว่าสถานีตำรวจภูธรทุ่งสง ได้เรียกเก็บเงินค่าตอบแทน (ค่าเบี้ยเลี้ยงงบโควิด-19) จากตำรวจผู้ปฏิบัติงานนอกที่ตั้งศูนย์ปฏิบัติการ และได้นำไปจัดสรรให้กับข้าราชการตำรวจที่ได้รับจัดสรรน้อยกว่า 15,000 บาท และข้าราชการตำรวจที่ไม่มีสิทธิจะได้รับ เพื่อให้ถึง 15,000 บาท

หากตำรวจรายใดไม่เห็นด้วยและไม่ยอมนำเงินค่าตอบแทน เบี้ยเลี้ยงงบโควิด-19 มาคืน จะถูกคำสั่งย้าย ปรับเปลี่ยนหน้าที่รายนั้น เพื่อไม่ให้รายอื่นถือเป็นตัวอย่าง

คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาสำนวนการไต่สวนแล้วเห็นว่า การกระทำของ พ.ต.อ.สมพงศ์ มีมูลความผิด ทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและ ปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง

สนับสนุนโดยกองทุน ป.ป.ช.

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวใหม่