วันพุธ, ธันวาคม 11, 2024

หนังสือพิมพ์ พิมพ์ไทยออนไลน์

หน้าแรกกระทรวงยุติธรรมธนารักษ์รอคำสั่งศาลปกครองชี้ขาดประมูลท่อส่งน้ำEEC

ธนารักษ์รอคำสั่งศาลปกครองชี้ขาดประมูลท่อส่งน้ำEEC

พิมพ์ไทยออนไลน์ // กรมธนารักษ์ รอคำสั่งศาลปกครองยังไม่เซ็นสัญญาเอกชนรายใหม่ที่ชนะการคัดเลือกโครงการบริหารระบบท่อส่งน้ำสายหลักตะวันออก หลัง EASTWATER ยื่นคุ้มครองชั่วคราว

นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมธนารักษ์ ระบุว่า โครงการคัดเลือกเอกชนในการจัดให้เช่า/บริหารระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออกของกรมธนารักษ์ขณะนี้ยังไม่มีการลงนามสัญญากับบริษัทเอกชนรายใหม่ ที่ได้รับการคัดเลือกแทนบริษัทรายเดิม คือ บมจ. จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก
(EASTWATER) ที่สัญญาสัมปทานจะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธ.ค. 2567 เพราะต้องรอคำสั่งจากศาลปกครองว่าให้ดำเนินการอย่างไร หลังจากที่บริษัทรายเดิมได้ไปยื่น ศาลปกครอง ของคุ้มครองชั่วคราว กรณีการคัดเลือกเอกชนในโครงการดังกล่าว

ทั้งนี้ หากศาลปกครอง มีคำสั่งออกมาอย่างไร กรมธนารักษ์ ก็พร้อมปฏิบัติตาม จึงยังไม่มีการลงนามสัญญากับเอกชนรายใหม่

ยอมรับว่า ตนเพิ่งเข้ามารับตำแหน่งอธิบดีกรมธนารักษ์ เมื่อวันที่ 1 ต.ค. ที่ผ่านมา แต่โครงการดังกล่าวมีการคัดเลือกตามกระบวนการเสร็จสิ้นไปแล้ว ส่วนที่ว่าเอกชนรายเดิมมองว่าควรจะต้องเจรจากับเอกชนรายเดิมเพื่อให้ได้รับสิทธิ์ในการบริหารจัดการโครงการท่อส่งน้ำตะวันออกอย่างต่อเนื่อง ประเด็นดังกล่าวก็ต้อง
รอศาลปกครองมีคำสั่งออกมาเช่นกัน

อธิบดีกรมธนารักษ์ บอกว่า สำหรับโครงการประมูลท่อส่งน้ำภาคตะวันออก ซึ่ง บมจ.จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก ซึ่งเป็นเอกชนรายเดิม ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง 2 ส่วน คือ คดีหลักที่ยื่นฟ้อง และการขอคุ้มครองชั่วคราว จึงต้องรอคำสั่งของศาล ดังนั้น กรมธนารักษ์ จึงยังทำอะไรมากไม่ได้ และพร้อมน้อมรับคำสั่งศาล

รายงานข่าวแจ้งว่า การคัดเลือกเอกชนโครงการดังกล่าว กรมธนารักษ์ มีหนังสือเชิญบริษัทที่มีคุณสมบัติ 3 ราย ให้ยื่นข้อเสนอเพื่อเข้าร่วมการคัดเลือก จากนั้นใน วันที่ 30 ก.ย. 2564 คณะกรรมการคัดเลือกมีมติให้บริษัทเอกชนรายใหม่ เป็นผู้ได้รับคัดเลือกในการบริหารและการดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก เพื่อรองรับโครงการ EEC แทน บมจ.จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก ซึ่งเป็นบริษัทรายเดิม และมีอายุสัญญา 30 ปี โดยกรมธนารักษ์ จะได้รับผลตอบแทนตลอดระยะเวลา 30 ปีเป็นจำนวนเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท

กรณีดังกล่าว ทำให้บริษัทรายเดิมที่กำลังจะสิ้นสุดสัญญา ได้ยื่นศาลปกครอง เพื่อขอคุ้มครองชั่วคราว เนื่องจากมองว่า คณะรัฐมนตรี เคยมีมติให้กรมธนารักษ์
ต้องเจรจากับบริษัทรายเดิมก่อนที่สัญญาจะสิ้นสุดไม่น้อยกว่า 3 ปี นอกจากนี้ การดำเนินการคัดเลือกครั้งนี้อาจจะไม่ได้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของรัฐบาลที่ต้องการให้การดำเนินการมีความคล่องตัว และมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการและให้บริการน้ำในภูมิภาค ซึ่งถือเป็นหลักการที่เป็นสาระสำคัญ

ดังนั้น แม้ว่าสัญญาระหว่างกรมธนารักษ์ กับบมจ.จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จะใกล้สิ้นสุดอายุของสัญญาในวันที่ 31 ธันวาคม 2567 ก็ตาม แต่เป็นพันธะของกรมธนารักษ์ ที่จะต้องพิจารณาจัดทำสัญญาฉบับใหม่เพื่อให้บริษัทรายเดิมเป็นผู้ใช้และบริหารโครงการท่อส่งน้ำต่อไปตามมติคณะรัฐมนตรีดัง
กล่าว เพื่อไม่ให้กระทบต่อการบริหารจัดการระบบท่อส่งน้ำในภาคตะวันออก ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมของประเทศได้.

Cr. : นายทวีศักดิ์ ชิดทัพ ผู้สื่อข่าวพิมพ์ไทยออนไลน์

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวใหม่