วันศุกร์, พฤษภาคม 17, 2024

หนังสือพิมพ์ พิมพ์ไทยออนไลน์

หน้าแรกกระทรวงยุติธรรมศรีสุวรรณ บุก ยธ จี้ ทวงถามตรวจสอบองค์กรผู้บริโภคทิพย์หวังเงินอุดหนุน

ศรีสุวรรณ บุก ยธ จี้ ทวงถามตรวจสอบองค์กรผู้บริโภคทิพย์หวังเงินอุดหนุน

พิมพ์ไทยออนไลน์//  ศรีสุวรรณ บุก ยธ. จี้ขยายผลสอบ 152 องค์กรผู้บริโภคทิพย์ จัดตั้งองค์กรหวังเงิน อุเหนุนจากภาครัฐ ตรวจสอบไม่มีตัวตน

วันที่ 14 ก.ค.64  เวลา 10.00 น. ที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) ถ.แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เดินทางมายื่นคำร้องต่อ นายสมศักดิ์  เทพสุทิน รมว.ยธ. เพื่อขอให้ตรวจสอบองค์กรผู้บริโภค 152 องค์กร ร่วมกันจัดตั้งเป็นสภาองค์กรของผู้บริโภค เพื่อขอรับเงินสนับสนุนงบประมาณแผ่นดินจากรัฐบาล 350 ล้านบาทว่ามีคุณลักษณะเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ โดยมี ว่าที่ ร.ต.ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เลขานุการ รมว.ยธ. มารับมอบแทนเอกสาร

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า จากข้อสงสัยการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคดังกล่าว พบว่ามีบางองค์กรอาจถูกจัดตั้งขึ้นมาลอยๆ เพื่อให้ครบตามจำนวนที่กฎหมายกำหนด คือ ต้องมีสมาชิกอย่างน้อย 150 องค์กรขึ้นไปจะสามารถรวมตัวกันจัดตั้งได้ จึงทำการสุ่มตรวจสอบองค์กรผู้บริโภคตามบัญชีรายชื่อที่ สปน.ประกาศในระดับจังหวัด ก็พบว่าองค์กรผู้บริโภคที่แจ้งไว้กับทางราชการนั้น ชาวบ้านในบางพื้นที่ไม่เคยรู้จักหรือได้ยินชื่อเลย และเมื่อตรวจสอบเชิงลึกโดยการพูดคุยกับผู้นำท้องถิ่น ชาวบ้าน ก็พบว่าหลายองค์กรไม่มีที่ตั้งตามที่แจ้งไว้ หรือไม่มีการทำกิจกรรมตามที่จดแจ้ง

นายศรีสุวรรณ กล่าวอีกว่า ซ้ำร้ายที่อยู่ที่จดแจ้งในทะเบียนราษฎร์ไม่มีเลขที่ในสารบบเลย บางองค์กรไม่มีที่ตั้ง และไม่มีคนที่อ้างว่าเป็นประธานเครือข่ายอยู่ในพื้นที่เลย อาจถือได้ว่ามีคุณลักษณะไม่เป็นไปตาม ม.6 ประกอบ ม.5 ของกฎหมาย จึงได้ทำบันทึกถ่ายรูป อัดคลิปเสียงของผู้ให้ข้อมูล และนำหลักฐานทั้งหมดมามอบให้กระทรวงยุติธรรม เพื่อขยายผลสอบ 152 องค์กรต่อไป

นายศรีสุวรรณ กล่าวต่อว่า ตาม ม.5 แห่ง พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค 2562 กำหนดไว้ว่า การที่จะใช้สิทธิเข้าชื่อกันเพื่อเป็นผู้เริ่มก่อการในการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคได้นั้น องค์กรผู้บริโภคนั้นๆ จะต้องดำเนินการคุ้มครองผู้บริโภค “เป็นที่ประจักษ์” มาแล้ว ไม่น้อยกว่า 2 ปีตามที่กฎหมายกำหนด แต่เมื่อมีการสุ่มตรวจบางองค์กรก็พบความจริงว่ากว่า 16 องค์กร ไม่มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนดแต่อย่างใด และไม่ได้ทำกิจกรรมเชิงประจักษ์ ดังนั้น จึงเชื่อว่าอีก 136 องค์กรที่เหลือ ก็อาจมีลักษณะเดียวกันกับที่สุ่มตรวจก็ได้ ซึ่งเชื่อว่ากระทรวงยุติธรรมมีศักยภาพในการตรวจสอบทุกองค์กรได้

“นอกจากนั้น หากการสอบข้อเท็จจริงแล้วพบว่า องค์กรใดไม่มีคุณสมบัติหรือคุณลักษณะตามที่กฎหมายบัญญัติ ผู้ที่ร่วมจัดตั้งและผู้ที่เข้าชื่อเสนอนายทะเบียนย่อมเข้าข่าย แจ้งความเท็จต่อเจ้าหน้าที่รัฐ ตาม กฎหมายอาญา ม.137 ที่บัญญัติไว้ความว่า ผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

นายศรีสุวรรณ กล่าวเพิ่มเติมว่า สมาคมฯ จึงนำความมาร้องเรียนต่อกระทรวงยุติธรรม เพื่อเอาผิดบุคคลและหรือองค์กรผู้บริโภคนั้นๆ และถือเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคที่ผ่านมาไม่สมบูรณ์อาจถือเป็น “โมฆะ” ตามกฎหมาย การทำนิติกรรมใดๆ ขององค์กรดังกล่าวย่อมเป็นโมฆะและจะกระทำมิได้ด้วย อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 12 ต.ค.63 เคยได้ยื่นเรื่องร้องให้ สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ตรวจสอบองค์กรผู้บริโภคที่ขอจัดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภคดังกล่าว ว่าเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ และขอให้ดำเนินการตามกฎหมาย

ด้าน ว่าที่ ร.ต.ธนกฤต เผยว่า เบื้องต้น กระทรวงยุติธรรม รับเรื่องไว้ตรวจสอบการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคดังกล่าวและหน่วยงานต่างๆ ว่าใช้เอกสารจดแจ้งอย่างไรและปฏิบัติตามข้อกฎหมายหรือไม่ โดยมี กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) จะดำเนินการสืบสวนสอบสวนหาข้อเท็จจริงเพราะเกี่ยวข้องกับงบประมาณแผ่นดิน

Cr : ทวีศักดิ์ ชิตทัพ ผู้สึ่อข่าวพิมพ์ไทยออนไลน์

บทความก่อนหน้านี้
บทความถัดไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวใหม่