พิมพ์ไทยออนไลน์//สสส. ปลื้มนักวิ่งหญิงร่วมโครงการ Woman Active Running ประสบความสำเร็จตามเป้า 6 สนามทั่วประเทศ จนถึงสนามสุดท้าย Umay+ Bangkok Midnight Marathon 2023 นำร่องเป็นต้นแบบยกระดับความปลอดภัย สำหรับนักวิ่งหญิงกว่า 5,000 คน ช่วยสร้างการรับรู้ และความตระหนักเรื่องมาตรฐานของงานวิ่ง
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผนึกกำลังเทศกาลงานวิ่ง Umay+ Bangkok Midnight Marathon 2023 นำร่องเป็นต้นแบบ จัดกิจกรรมส่งท้ายโครงการ “Ready to Move On : Woman Active Running” ส่งเสริม และยกระดับมาตรการ และมาตรฐานความปลอดภัย การวิ่งสำหรับผู้หญิง เป็นสนามที่ 6 สนามสุดท้าย ที่ ท้องสนามหลวง กรุงเทพ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 9-10 ธันวาคมที่ผ่านมา ประสบความสำเร็จเข้าเป้าแผนยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยสำหรับนักวิ่งผู้หญิงกว่า 5,000 คนทั่วประเทศ พร้อมขยายผลเชิงคุณภาพสู่กิจกรรมระดับประเทศต่อไปในอนาคต
โครงการ Ready to Move On : Woman Active Running เป็นกิจกรรมมุ่งเน้นสร้างพลังความร่วมมือขับเคลื่อนงานวิ่งสู่ต้นแบบมาตรฐานความปลอดภัยให้กับนักวิ่งหญิงทั่วประเทศอย่างเป็นรูปธรรม โดยได้นำร่องใช้การแข่งขันวิ่ง 6 พื้นที่ใน 6 จังหวัด ประกอบด้วย ภูเก็ต, ชลบุรี, เชียงราย, ราชบุรี, อุบลราชธานี และกรุงเทพฯ สนามสุดท้ายในปี 2566 นี้ ภายใต้แนวทาง 3 actives 1.Active People 2.Active Society 3.Active Environment ที่เชื่อมโยงกับการออกกำลังกายที่เหมาะสมของผู้หญิงจากการ “เริ่ม” ที่ตัวเอง สู่การเผยแพร่เรื่องมาตรการความปลอดภัยของนักวิ่งหญิง และ “แสดงสิทธิ์” การสร้างเสริมสุขภาวะทางร่างกาย สร้างความสมดุลของชีวิต จัดสรรเวลาออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์
นางสาวคุณนิรมล ราศรี ผู้อำนวยการ สำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. (สำนัก 5) กล่าวว่า ในนามของ สสส. ต้องขอขอบคุณกรุงเทพมหานคร และพันธมิตรผู้ร่วมจัดงานวิ่ง Umay+ Bangkok Midnight Marathon ที่ร่วมนำองค์ความรู้ของโครงการ “Ready to Move On : Woman ActiveRunning” ที่มุ่งเป้าสร้างมาตรการคุ้มครองในการจัดกิจกรรมเดิน วิ่ง ที่มีแนวทางสร้างความเข้าใจกับผู้จัดงานวิ่งทั่วประเทศ ยกระดับการสร้างความปลอดภัยให้กับนักวิ่งหญิงเป็นแนวนโยบาย การปฏิบัติทั่วไป สู่ต้นแบบมาตรฐานความปลอดภัยที่นักวิ่งหญิงควรได้รับการปฏิบัติอย่างมีเกียรติ และเท่าเทียมกับเพศอื่นๆ
“แนวทางปฏิบัติสำหรับนักวิ่งผู้หญิง ‘8 Safety ACTIVE Well’ 1.Sleep Well พักผ่อนเต็มที่ นอนอย่างน้อย 6 ชั่วโมง 2.Eat Well เลือกกินอาหารปลอดภัยและเหมาะสม 3.Drink Well ดื่มน้ำปริมาณที่เหมาะสมก่อนนอน และก่อนวิ่ง 4.Check Well ตรวจเช็คร่างกายก่อนลงแข่งขัน 5.Warm Up Well ยืดเหยียดและเพิ่มอุณหภูมิก่อนเริ่มวิ่งทุกครั้ง 6.Focus Well สร้างสมาธิ ไม่เร่งรีบจนเกินไป 7.Plan Well วางแผนร่วมกิจกรรมล่วงหน้า 8.Train Well ฝึกซ้อมก่อนลงแข่งขัน ทั้งนี้ ได้นำแนวทางปฏิบัติ ‘8 Safety Active Well’ นำร่องใช้ 6 พื้นที่ ใน 6 จังหวัด (ภูเก็ต, ชลบุรี, เชียงราย, ราชบุรี, อุบลราชธานี และกรุงเทพฯ) ในปีนี้”
นางสาวนิรมล กล่าวเพิ่มเติมว่า งานวิ่ง Bangkok Midnight Marathon นี้ ถือเป็นต้นแบบงานวิ่งมาราธอนมาตรฐานระดับประเทศ และนานาชาติของประเทศไทย สนามสุดท้าย ตลอดทุกสนามที่ผ่านมาประสบผลสำเร็จในการจัดงานเป็นอย่างดี สามารถ Engagement การรับรู้รับทราบในเนื้อหาของโครงการ เพื่อประโยชน์เชิงคุณภาพไปยังกลุ่มเป้าหมายเป็นอย่างดี ตั้งแต่เริ่มโครงการจนถึงปัจจุบันได้มีผู้ให้ความสนใจ และตระหนักถึงโครงการเกือบหมื่นคนในระยะเวลาอันรวดเร็ว ในการร่วมสร้างความเข้าใจพันธกิจหลักของ Woman Active Running และเผยแพร่แนวทางปฏิบัติที่จะสร้างความตระหนัก และความตื่นตัวในสังคมไทยในการสร้างมาตรฐานใหม่สำหรับผู้หญิง หรือนักวิ่งหญิงของเรา
“อยากเชิญทุกคนไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายให้มีกิจกรรมทางกาย ออกมาเดินวิ่งร่วมกัน แต่ก็อยากให้คำนึงถึงความปลอดภัย และการเตรียมตัวก่อนที่เราจะออกวิ่ง อยากให้มีความพร้อม นอนให้พอ รู้ตัวเองว่าเราเหมาะกับระยะไหน เราซ้อมาดีมากน้อยแค่ไหน และอยากให้ครอบครัวออกมาออกกำลังกายร่วมกัน โดยในงานวิ่งต่างๆ ก็อยากจะให้เช็คดูก่อนว่าแต่ละงานมีความปลอดภัยแบบไหน ซึ่งตอนนี้เราจะเห็นได้ว่าในงานวิ่งจะมีโลโก้ Mass Sport Safety Label ที่แสดงให้เห็นว่างานวิ่งนั้นมีความปลอดภัยแค่ไหน มีการออกแบบงาน รวมทั้งมีแพทย์ และทีมที่คอยดูแลเรื่องความปลอดภัยในงานวิ่ง ทาง สสส.ก็ขอสนับสนุนให้ทุกๆ คนมาร่วมกันออกกำลังกาย และปลอดภัยด้วยนะคะ” นางสาวนิรมล กล่าว
ขณะที่ นางสาวภคอร เถลิงสกุล นักวิ่งสาววัย 15 ปี เปิดเผยว่า ความประทับของตัวเองในการวิ่งเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยเด็กที่ได้คลุกคลีกับงานวิ่ง พอโตขึ้นมาก็ลองมาวิ่งจนทำให้รู้ว่ามันดีต่อร่างกาย และจิตใจ ซึ่งตอนแรกที่เริ่มวิ่งก็ยากอยู่เหมือนกัน เพราะว่ารู้สึกเหนื่อย แต่พอมาวิ่งจริงๆ แล้วไม่ได้เหนื่อนอย่างที่คิด เราเริ่มต้นจากการเดินก่อน พอเริ่มคุ้นเคยแล้วก็มาวิ่งต่อ การวิ่งทำให้เรารู้สึกมั่นใจขึ้นเยอะเลย เพราะช่วยให้น้ำหนักลดลง และเราได้ออกกำลังกายด้วย เป้าหมายก็อยากจะลดน้ำหนักลงอีกสัก 5 กิโลกรัม
“หนูเริ่มวิ่งตั้งแต่ตอน ป.6 เลยค่ะ ตอนนี้อยู่ ม.3 แล้ว ประมาณ 4 ปีแล้วที่ช่วยทำให้น้ำหนักลดลงเยอะเลย ก็อยากให้ทุกคนมาวิ่งด้วยกันนะคะ อาจจะเริ่มจากวิ่งไม่ต้องเร็วมากก็ได้ วิ่งช้าๆ ก็ได้ แล้วก็จะรู้สึกชินไปเอง ก็อยากให้ทุกคนออกมาวิ่งกันเยอะๆ นะคะ เพราะว่ามันดีต่อร่างกาย และจิตใจค่ะ”
Cr..วิชัย แสงทวีป ผู้สื่อข่าวพิมพ์ไทยออนไลน์