วันพฤหัสบดี, กันยายน 19, 2024

หนังสือพิมพ์ พิมพ์ไทยออนไลน์

หน้าแรกข่าวเด่นประเด็นร้อน“ชัชชาติ”หมดเวลา”ฮันนีมูน”

“ชัชชาติ”หมดเวลา”ฮันนีมูน”

พิมพ์ไทยออนไลน์ // ต้องถือว่าหมดช่วงเวลา “ฮันนีมูน”ไปแล้ว สำหรับ “นายชัชชาติ สิทธิพันธ์” ผู้ว่า กทม.ที่ได้ชื่อว่า “แข็งแกร่งที่สุดในปฏพี เพราะเข้ารับตำแหน่งตั้งแต่ 22 พ.ค.65 ผ่านมาวันนี้ปาเข้าไปกว่า 6 เดือนแล้ว นโยบายอะไรที่เคยสัญญาไว้กับประชาชนคนกรุง คงถึงเวลาที่คนกรุงจะลุกขึ้นมาทวงสัญญากันแล้ว

แม้ผลสำรวจนิด้าโพลล์ล่าสุดต่อผลงานใสนรอบ 6 เดือนของผู้ว่ากทม.คนใหม่ที่ออกมาจะพบว่าประชาชนคนกรุงกว่าร้อยละ 42.60 จะค่อนข้างพอใจกับผลงานในรอบ 6 เดือนของ “ผู้ว่าชัชชาติ” และอีก 38.93%พอใจมากกับความเปลี่ยนแปลงของกทม.ภายใต้บังเหียนของผู้ว่าไฟแรงที่แข็งแกร่งที่สุดในปฏพี แต่ผลสำรวจที่ได้นั้นก็เป็นเรื่องของงาน “รูทีน”เป็นหลัก

ขณะที่ปัญหากลัดหนองของคนกรุงจริงๆ โดยเฉพาะเรื่องของปัญหาจราจรและ “รถไฟฟ้าสายสีเขียว” ที่นอกจากเจ้าตัวจะไม่สามารถทำให้ราคาค่าโดยสารลดลงมาเหลือ 25-30 บาทตามที่เคยหาเสียงเอาไว้..

ล่าสุด! เมื่อ BTS ประกาศเตรียมดีเดย์ปรับอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสำหรับเส้นทางหลักสายสุขุมวิท และสายสีลม(รวมส่วนต่อขยาย) จาก 16-44 บาทเป็น 17-47 บาท ตั้งแต่วันที่1 ม.ค.66 เป็นต้นไป โดยอ้างผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อ ค่าแรง และต้นทุนค่าใช้จ่ายในการเดินรถและซ่อมบำรุงที่เพิ่มสูงขึ้น

ผู้ว่า กทม.ที่แกร่งที่สุดในปฏฐพีได้แต่นั่งทำตาปริบๆ ปล่อยให้ประชาชนคนกรุงที่ต้องสำลักค่าน้ำ ค่าไฟและราคาพลังงานเป็นทุนเดิมอยู่แล้วต้องบักโกรกหนักขึ้นไปอีก ขณะที่ปัญหาพะรุงพะรังของหนี้ค้างค่าจ้างติดตั้งระบบรถไฟฟ้าและค่าจ้างเดินรถที่ กทม.มีอยู่กับบริษัทเอกชนคู่สัญญา ซึ่งเป็นปัญหาหลักที่ผู้ว่ากทม.คนใหม่จะต้องเข้ามา “ผ่าทางตัน”เป็นลำดับแรก ก็ทำท่าจะถูก ”ซื้อเวลา” ทิ้งให้เป็นดินพอกหางหมูของ กทม.ต่อไป

จนหลายฝ่ายเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่า นี่คือผลงาน “ชิ้นโบแดง” ของผู้ว่า กทม.ที่ประชาชนคนกรุงตั้งความหวังเอาไว้สูงยิ่งก่อนหน้านี้แน่หรือ? !

ซื้อเวลา-ชิ่งหนีเผือกร้อนสัมปทานสายสีเขียว

หากทุกฝ่ายจะย้อนรอยไปพิจารณาปัญหา “กลัดหนอง” ของ กทม.กับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยเฉพาะภาระหนี้อันหนักอึ้งที่กทม.ค้างชำระ BTS ผู้รับสัมปทาน ทั้งในส่วนของหนี้ติดตั้งระบบรถไฟฟ้า และค่าจ้างเดินรถส่วนต่อขยายและซ่อมบำรุงที่ กทม.ไม่ได้จ่ายให้บริษัทเอกชนคู่สัญญามาตลอดช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา กระทั่งบริษัทได้ยื่นเรื่องฟ้องศาลปกครองไปก่อน
หน้านี้ ซึ่งล่าสุดศาลได้มีคำพิพากษาให้ กทม.และบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด(KT) วิสาหกิจของ กทม.ร่วมกันชำระหนี้ค้างค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าจำนวน 12,000 ล้านภายใน 180 วันไปแล้ว และหากรวมหนี้ค่าจ้างติดตั้งระบบรถไฟฟ้าและค่าซ่อมบำรุง ในเวลานี้มูลหนี้ดังกล่าวทะลักไปกว่า 40,000 ล้านบาทแล้ว และคาดว่ามูลหนี้ที่ กทม.ต้องจ่ายให้แก่ BTS ก่อนสัญญาสัมปทาน
หลักจะสิ้นสุดในปี 2572 จะอยู่ที่ 120,000-130,000 ล้านบาทเลยทีเดียว!

อย่างไรก็ตาม แม้ผู้ว่ากทม.จะรับรู้ถึงปัญหานี้มาตั้งแต่แรก แต่กลับเป็นเรื่องน่าแปลก หลังจากที่กระทรวงมหาดไทยมีหนังสือสอบถามผู้ว่าการ กทม.ถึงแนวทางการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว และปัญหาหนี้ค้างชำระที่กทม.มีอยู่กับเอกชนคู่สัญญา เนื่องจากกระทรวงมหาดไทยจำเป็นต้องรายงานความคืบหน้าการแก้ไขปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียวต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ค
รม.) ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ที่ 3/2562 ลงวันที่ 11 เม.ย.62 ที่ยังคงคาราคาซังอยู่

แต่คำตอบที่ รมต.มหาดไทยได้รับจากผู้ว่ากทม.กลับทำให้เจ้ากระทรวงคลองหลอด “กุมขมับ” หนักเข้าไปอีก เพราะไม่รู้จะสรุปและนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้อย่างไร เนื่องจากผู้ว่ากทม.ได้ยื่นข้อเสนอขอให้รัฐบาลสนับสนุนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานรถไฟฟ้าทั้งระบบให้แก่ กทม.เช่นที่รัฐบาลให้การสนับสนุนรถไฟฟ้าสายอื่น ๆ และหากรัฐไม่ให้การสนับสนุน กทม.ก็
พร้อมจะโอนโครงข่ายรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั่งหมดกลับไปให้ รฟม.และรัฐบาลรับไปบริหารจัดการเอง

ส่วนเรื่องหนี้ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าที่ศาลมีคำพิพากษาไปแล้ว ผู้ว่ากทม.ยืนยันว่าไม่ได้มีเจตนาที่จะบิดพลิ้วไม่ชำระหนี้ แต่สัญญาที่กทม. ทำไว้กับกรุงเทพธนาคาร (KT) ไม่ได้มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ ในขณะที่ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงส่วนต่อขยายที่ 2 นั้น กทม.ไม่ขอรับผิดชอบ เนื่องจากไม่ได้มีการปฏิบัติตามกระบวนการ และขั้นตอนการขอใช้งบประมาณตามข้อบัญญัติ
กรุงเทพมหานคร กทม.จึงไม่ต้องรับผิดชอบ

จุดยืนของผู้ว่ากทม. ถึงกับทำให้ “เจ้าสัวคีรี กาญจนพาสน์” ประธานกรรมการบีทีเอสกรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด(มหาชน) ถึงกับต้องออกมาอัดคลิปทวงหนี้ค้างจากกทม.ที่วันนี้ทะลักไปถึง 40,000 ล้านบาทแล้ว โดยตีแผ่ประจานออกไปทั่วโลกระบุว่า อันเป็นเครื่องสะท้อนถึงความสุดอดกลั้น “เต็มคาราเบล” ของบริษัทเอกชนผู้รับสัมปทานจากรัฐได้เป็นอย่างดี

กทม. “หักดิบ” คำสั่งหัวหน้าคสช.?

สำหรับผู้คว่ำหวอดในแวดวงขนส่งต่างมองว่า สิ่งที่ผู้ว่า กทม.ดำเนินการไปก่อนหน้า สะท้อนให้เห็นว่า ไม่ได้มีความเข้าใจในปัญหาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวแม้แต่น้อย เพราะในคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่3/2562 ลงวันที่ 11 เม.ย.62 เรื่อง การดําเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย
(รฟม.)โอนโครงข่ายส่วนต่อขยาย 2 สายทางมาให้ กทม.บริหารจัดการโดยตรง เพื่อเชื่อมต่อให้เป็นโครงข่ายเดียวกันนั้น ขอบเขตการดำเนินโครงการตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ดังกล่าวครอบคลุมไปถึงสัมปทานสายสีเขียวเดิม และส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2 ไว้แล้ว จึงหาใช่เรื่องที่ กทม.จะกลับไปฟื้นฝอยหาตะเข็บ หรือตีกรรเชียงไม่รับรู้ใด ๆ ได้

“ในคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่สั่งการให้ กทม.ดำเนินการจ้างผู้ประกอบการเอกชนติดตั้งระบบรถไฟฟ้า และบริหารจัดการเดินรถส่วนต่อขยายที่ 2 ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อแก้ปัญหาการจราจรและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน พร้อมให้กระทรวงมหาดไทยตั้งคณะกรรมการขึ้นมา เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์แบ่งปันผลประโยชน์จากค่าโดยสาร รวมถึงหลักเกณฑ์อื่นเพื่อประโยชน์ในการรวมโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวโครงการส่วนต่อขยายที่ 1 และ ส่วนต่อขยายที่ 2 โดยเมื่อได้ข้อยุติ ให้กรุงเทพมหานครเสนอร่างสัญญาร่วมลงทุนต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบต่อไป โดยให้ถือว่าเป็นการดำเนินการตาม พรบ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562

คำถามคือ กทม.และกระทรวงมหาดไทย ได้ดำเนินการตามคำสั่งหัวหน้าคสช.แล้วหรือยัง? คำตอบก็คือได้ดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้วตั้งแต่ปีมะโว้ และได้นำเสนอผลการเจรจาตลอดจนร่างสัญญาแก้ไขสัญญาสัมปทานต่อที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจไปแล้ว ตั้งแต่ปลายปี 62 แต่ยังไม่ทันได้นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.)ในชั้นสุดท้ายเท่านั้น เพราะ ถูก รมว.กระทรวงคมนาคมทัก
ท้วงขึ้นมา ทั้งที่ก่อนหน้านี้กระทรวงคมนาคมได้เห็นชอบแนวทางการเจรจาแก้ไขสัญญาสัมปทานบีทีเอสมาโดยตลอด จนกลายเป็นมหากาพย์ความขัดแย้งที่ “คุกรุ่น” มาจนกระทั่งวันนี้

ทั้งๆที่การดำเนินการดังกล่าว ก็ตั้งอยู่บนบรรทัดฐานเดียวกับรถไฟฟ้า สายสีน้ำเงิน และสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค บางซื่อ-ท่าพระ ของ รฟม. และกระทรวงคมนาคม ที่ก็อาศัยคำสั่งหัวหน้า คสช. “ผ่าทางตัน” ปัญหาการเดินรถส่วนต่อขยาย และจบลงด้วยการแก้ไขสัญญาขยายสัญญาสัมปทานให้กับ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้า หรือ BEM จากที่สิ้นสุดในปี
2572 ไปจนถึงปี 2592 เช่นกัน

นอกจากนี้ การที่ กทม.ทำเรื่องอุทธรณ์ไปยังศาลปกครองสูงสุดไม่เห็นพ้องกับคำพิพากษาของศาลปกครองกลางที่ออกมา ยังสะท้อนให้เห็นว่ากทม.กำลังมอบว่า คำพิพากษาของศาลปกครองที่ใช้เวลาเป็นแรมปีในการพิจารณาคดีฟ้องร้องดังกล่าวคลาดเคลื่อนผิดไปจากความเป็นจริง โดยที่ กทม.เองก็ไม่ได้แสดให้เห็นว่า แนวทางที่เหมาะสมในการชำระหนี้ควรดำเนินการอย่างไร
การว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาเข้ามาศึกษาประเมินมูลหนี้ที่เกิดขึ้น สมควรเป็นเรื่องของ กทม.หรือบริษัทกรุงเทพธนาคมดำเนินการก็ไม่มีความชัดเจน

แต่ผู้ว่า กทม.กลับโยนทุกเรื่องให้เป็นเรื่องของคณะรัฐมนตรี(ครม.)จะต้องมีคำตอบที่ชัดเจนในเรื่องสัมปทานรถไฟฟ้า และสภากทม.จะต้องตอบรับข้อเสนอในเรื่องการโอนทรัพย์สินมาเป็นของ กทม.เสียก่อน ทั้งที่ขั้นตอนเหล่านี้ผ่านเลยไปตั้งแต่ปีมะโว้แล้ว และหัวหน้า คสช.ได้มีคำสั่งที่ 3/2562 ให้กทม.ดำเนินการว่าจ้างเอกชนลงทุนติดตั้งระบบรถไฟฟ้า และเดินรถไฟฟ้าไปแล้ว

ด้วยเหตุนี้ การที่ผู้ว่า กทม.อ้างว่าการทำสัญญาจ้างเดินรถส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2 ยังขาดความชัดเจน เพราะมีทั้งที่เสนอให้สภา กทม.ให้ความเห็นขอบ และที่ไม่มีการนำเสนอร่างสัญญาให้สภา กทม.เห็นชอบก่อนลงนามในสัญญาทำให้เกิดปัญหาว่าเป็นสัญญาโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น ชี้ให้เห็นว่า ยังไม่ได้ศึกษาคำสั่งหัวหน้า คสช.อย่างละเอียดถี่ถ้วน และปราศจาก
ความเข้าใจในเนื้อหาและบริบทของโครงการรถไฟฟ้าใต้ชายคาตนเองแม้แต่น้อย จนก่อให้เกิดคำถามตามมาว่า หากท้ายที่สุด ศาลปกครองสูงสุดเกิดมีคำสั่งให้ กทม.และกรุงเทพธนาคม (KT) ต้องร่วมชดใช้หนี้ค้างชำระ พร้อมดอกเบี้ยที่เกิดขึ้น กทม. จะทำอย่างไรในเมื่อตนเอง “สำคัญผิดในสัญญา”ไปถึงขนาดนี้

ส่วนข้อเสนออื่น ๆ รวมทั้งการเสนอให้นำโครงการนี้กลับไปดำเนินการตาม พรบ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนปี 62 (พรบ.พีพีพี) นั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชน ฝากข้อคิดไปยังผู้ว่า กทม.ว่า ตราบใดที่คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2562 ยังคงมีอยู่ไม่ได้ถูกยกเลิกไป ผู้ว่ากทม.และฝ่ายบริหาร กทม.ไม่สามารถจะตีกรรเชียง เลี่ยงบาลี ไปดำเนินการแก้ไขสัญญา หรือ
ดำเนินการในแนวทางอื่นใดที่แตกต่างออกไปได้ แม้แต่แนวความคิดที่จะไม่ต่อขยายสัมปทานหลังสัญญาสัมปทานเดิมสิ้นสุดในปี 2572 ก็ตาม

ตราบใดที่คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2562 ที่กำหนดแนวทางการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเอาไว้ และมติคณะรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจเมื่อ 11 พ.ย. 62 ที่เห็นชอบแนวทางการแก้สัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวระหว่าง กทม.และ BTSC ไปแล้ว แต่ยังไม่ได้นำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ให้เสร็จสิ้นตามกระบวนการ กทม. และกระทรวงมหาดไทยก็ยัง
คงต้องปฏิบัติตามประกาศฉบับดังกล่าว ไม่สามารถจะไปผุดแนวทางดำเนินการดำเนินการอื่นใดได้

หาไม่แล้วยิ่งเวลาทอดยาวออกไป ดอกเบี้ยที่เกาะเกี่ยวอยู่บนมูงหนี้ที่ทอดยาวออกไป จะย้อนศรมาให้ผู้ว่า กทม.ที่แข็งแกร่งที่สุดในปฏพีนั่นแหล่ะต้อง “แบกรับ” โดยลำพัง !!!

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวใหม่