วันเสาร์, ตุลาคม 19, 2024

หนังสือพิมพ์ พิมพ์ไทยออนไลน์

หน้าแรกข่าวกีฬา"องค์การอนามัยโลก" เชื่อ "ไอโอซี-ญี่ปุ่น" คุมเข้มโควิด โอลิมปิกปลอดภัย

“องค์การอนามัยโลก” เชื่อ “ไอโอซี-ญี่ปุ่น” คุมเข้มโควิด โอลิมปิกปลอดภัย

พิมพ์ไทยออนไลน์ // คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล ไอโอซีเมมเบอร์ เผย ทีโดรส อัดฮานอม กรีเบรเยซุส ผู้อำนวยการ องค์การอนามัยโลก (WHO) เชื่อมั่น ไอโอซี และเจ้าภาพญี่ปุ่น วางมาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเข้มข้น จะช่วยทำให้ โอลิมปิก โตเกียว 2020 ปลอดภัย เปรียบการกระจายวัคซีนไปยังคนทั่วโลก เข้ากับคำขวัญใหม่โอลิมปิก นั่นคือ เราต้องกระจายวัคซีนให้เร็วขึ้น (faster) เราต้องให้มีจำนวนคนเข้าถึงวัคซีนได้มากขึ้น (higher) เราต้องแข็งแกร่งขึ้น เพิ่มการผลิตวัคซีน (stronger)
โธมัส บาค ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) เป็นประธานการประชุมใหญ่ไอโอซี ครั้งที่ 138 วันที่ 2 ที่โรงแรมโอกุระ กรุงโตเกียว ญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2564 โดยมี คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล ไอโอซีเมมเบอร์หญิงไทย เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ จัดรูปแบบนิวนอร์มอล ตั้งโต๊ะแยกอิสระ เป็นรายบุคคล
คุณหญิงปัทมา กล่าวว่า ทีโดรส อัดฮานอม กรีเบรเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวเปิดในช่วงต้นการประชุม แสดงความยินดีกับ นักกีฬา เจ้าหน้าที่ ที่เข้าร่วมในมหกรรมกีฬาโอลิมปิก โตเกียว 2020 และแสดงความชื่นชม ทั้งไอโอซี และเจ้าภาพญี่ปุ่น ที่ทำงานหนักร่วมกันมาตลอด โดยมีองค์การอนามัยโลก คอยให้คำแนะนำ เพื่อวางมาตรการป้องกัน สู้กับวิกฤติโควิด-19 ร่วมกัน
ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก ระบุว่า ญี่ปุ่นได้มอบความกล้าให้คนทั่วโลก ขอแสดงความเคารพให้ในเรื่องนี้ และขอแสดงความเคารพ ต่อนายกรัฐมนตรี โยชิฮิเดะ ซูกะ และชาวญี่ปุ่นทุกคน ที่จัดโตเกียว 2020 ซึ่งให้ความหวังและแสงสว่างกับผู้คนทั่วโลก โอลิมปิกเกมส์นำคนทั่วโลกมารวมกัน และทำให้คนทั่วโลกเกิดความสนใจร่วมกัน

ไอซีเมมเบอร์หญิงของไทย กล่าวต่อว่า องค์การอนามัยโลก มีเป้าหมายให้ทุกประเทศฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ ภายในเดือนกันยายนนี้ แต่นอกเหนือจากวัคซีนแล้ว ระบบสาธารณสุขแต่ละประเทศก็มีความสำคัญมาก โดยเฉพาะมาตรการต่าง ๆ เพื่อรับมือกับโควิด เพราะมาตรการเหล่านี้ ชี้ความเป็นความตายได้เลย
การที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันให้ปลอดภัย ไม่ใช่เรื่องง่าย หากแต่เราเชื่อมั่นและหวังว่ามาตรการต่าง ๆ ที่ทั้งไอโอซี และญี่ปุ่น วางแผนร่วมกันมาอย่างดีจะได้ผล ไม่มีอะไรที่ไม่เป็นความเสี่ยง ซึ่งการตัดสินใจของเรา ถ้าไม่เพิ่มก็ลดความเสี่ยง แต่ไม่มีทางทำให้ความเสี่ยงหายไปได้ และไม่สามารถทำให้การติดเชื้อเป็นศูนย์ได้ สิ่งที่ทำได้คือเมื่อพบผู้ติดเชื้อแล้วสามารถตอบสนองได้รวดเร็วและติดตามการแพร่ระบาดของเชื้อ เป้าหมายของทุกประเทศไม่ใช่ศูนย์ราย แต่คือการตอบสนองต่อสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว
รัฐบาลแต่ละประเทศต้องให้ความสำคัญกับเรื่องการปกป้องชีวิตผู้คน และจัดระบบสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพ โดยมีโครงการ โคแวคซ์ ที่ทำให้มีการแพร่กระจายวัคซีนไปประเทศต่าง ๆ ผ่านความร่วมมือ อีกฝ่ายหนึ่งคือบริษัทผลิตวัคซีน กับความรับผิดชอบในการทำให้มั่นใจว่าวัคซีนจะมีเพียงพอ เราต้องการฉีดวัคซีนอีก 1.1 หมื่นล้านโดส ซึ่งควรผลิตให้ได้ภายในปี 2022 ถ้าเป็นในปี 2023 จะช้าไป การผลิตมากขนาดนี้ต้องมีการแบ่งปันองค์ความรู้ ไม่เช่นนั้นจะหาผู้มาช่วยผลิตไม่ทัน
ฝ่ายสำคัญที่ 3 คือ ภาคประชาสังคม ต้องช่วยกันสนับสนุน เรื่องการจัดหาวัคซีน ถึงเป้าหมายการฉีดวัคซีนให้ได้ 70 เปอร์เซ็นต์ ในทุกประเทศกลางปีหน้า และฝ่ายสุดท้าย คือประชากรโลก ต้องแสดงความต้องการให้รัฐบาลและบริษัทวัคซีนฟัง คุณต้องพูดเพื่อให้เกิดการปกป้องชีวิต

“ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก เปรียบเทียบการกระจายวัคซีนไปทั่วโลก กับคำขวัญโอลิมปิกใหม่ “faster higher stronger, together” หรือ “เร็วกว่า สูงกว่า แข็งแรงกว่า ด้วยกัน” ว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้ เจำเป็นต้องกระจายวัคซีนให้เร็วขึ้น (faster) ต้องให้มีจำนวนคนเข้าถึงวัคซีนได้มากขึ้น (higher) แข็งแกร่งขึ้น การขจัดอุปสรรคต่าง ๆ เพื่อจะได้เพิ่มการผลิตวัคซีน (stronger) และต้องทำทุกอย่างนี้ร่วมกัน (together)
พร้อมกันนี้ ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก ย้ำในตอนท้ายว่า ขอให้คบเพลิงโอลิมปิก เป็นสัญลักษณ์ของความหวังที่เดินทางไปทั่วโลก และขอให้ความหวังที่เกิดขึ้นในดินแดนอาทิตย์อุทัย ทำให้สังคมโลกมีสุขภาพดีขึ้น และมีความยุติธรรมมากขึ้น” ว

Cr..วิชัย แสงทวีป ผู้สื่อข่าวพิมพ์ไทยออนไลน์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวใหม่