พิมพ์ไทยออนไลน์ // ตามที่ สมาคมกีฬายกน้ำหนักสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ได้ทำเรื่องอุทธรณ์ เพื่อขอความเป็นธรรมให้กับนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ยกน้ำหนักไทย ต่อศาลกีฬาโลก ทั่ เมืองโลซานน์ สวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2563 ตามคดีเลขที่ CAS 2020/A/6981 นั้น
นายนิพนธ์ ลิ่มบุญสืบสาย ประธานคณะทำงานกฎหมายระหว่างประเทศ ของสมาคมกีฬายกน้ำหนักสมัครเล่นฯ ได้รายงานถึงผลแห่งคดีอันเป็นคำตัดสินที่ถือได้ว่าเป็นที่ยุติแล้ว จากคณะอนุญาโตตุลาการของศาลกีฬาโลก หรือ CAS ระหว่าง ผู้อุทธรณ์ คือ สมาคมกีฬายกน้ำหนักสมัครเล่นแห่งประเทศไทย กับ สหพันธ์ยกน้ำหนักนานาชาติ หรือไอดับลิวเอฟ โดยเป็นเอกสารจำนวนถึง 52 หน้า ลงวันที่ 8 เมษายน 2564 (ตามวัน/เวลาท้องถิ่น) โดยภาพรวม เป็นไปตามเป้าประสงค์หลักของสมาคมฯ ในการต่อสู้เพื่อขอความเป็นธรรมให้กับ บุคคลากรของกีฬายกน้ำหนัก เป็นสำคัญ
โดยแบ่งเป็น 3 ภาคส่วนหลัก ส่วนที่ 1 นักกีฬายกน้ำหนักระดับยุวชน สามารถกลับเข้าแข่งขันรายการระดับนานาชาติของไอดับบลิวเอฟ ได้แล้ว เพราะโทษห้ามเข้าร่วมการแข่งขัน หมดไปตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2563 สำหรับนักกีฬายกน้ำหนักในระดับนอกเหนือข้างต้น คือ เยาวชน และประชาชน ถกลับเข้าไปร่วมการแข่งขันได้ หลังจากวันที่ 18 มิถุนายน 2564 แต่ถ้าหาก ต้องการไปแข่งขันนานาชาติของไอดับบลิวเอฟในทันที สมาคมฯ จะต้องชำระเงิน 200,000 ดอลลาร์สหรัฐห รือประมาณ 6,400,000 บาทให้ไอดับบลิวเอฟ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น นักกีฬายกน้ำหนักทีมชาติไทย ไม่สามารถเข้าร่วมมหกรรมกีฬาโอลิมปิกส์เกมส์ ที่ กรุงโตเกียว
ส่วนที่ 2 เจ้าหน้าที่ทางเทคนิค เป็นผู้ตัดสินหรือกรรมการตัดสินนานาชาติ กลับไปปฏิบัติหน้าที่ได้ในทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข
ส่วนที่ 3 สำหรับสมาคมฯ จะถูกจำกัดสิทธิ์การดำเนินการกิจกรรมต่าง ๆ จนถึงวันที่ 1 เมษายน 2566 โดยไม่มีสิทธิจัดการแข่งขัน จัดประชุมคองเกรส จัดประชุมกรรมการบริหาร จัดประชุมกรรมาธิการและกรรมการชุดอื่นใดได้ ไม่มีสิทธิการเข้าร่วมประชุมคองเกรส หมายรวมถึงการออกเสียง ไม่มีสิทธิในการยื่นหรือเสนอญัตติ และวาระต่าง ๆในการประชุมคองเกรส และไม่มีสิทธิเข้าร่วมและรับสิทธิประโยชน์จาก IWF Development Program ยกเว้น การศึกษากับเข้าอบรมในเรื่องการต่อต้านการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา
อย่างไรก็ตาม คำตัดสินของศาลกีฬาโลก เปิดช่องให้ระยะเวลาการถูกจำกัดสิทธิ์ของสมาคมฯ กระชับหรือย่อขึ้นประมาณ 1 ปี โดยให้ไปสิ้นสุดได้วันที่ 7 มีนาคม 2565 (จากวันที่ 1 เมษายน 2566) เพียงสมาคมฯ ชำระเงิน 200,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 6,400,00 บาท พร้อมกันนี้ สมาคมฯ จะต้องแสดงถึงเจตนารมณ์พร้อมหลักฐานเชิงประจักษ์ ของการปฏิบัติที่เป็นจริงในการต่อต้านการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬาที่สอดคล้อง ตามประมวลมาตรฐานของ องค์กรต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก หรือ WADAโดยให้กับชุดคณะทำงานของไอดับบลิวเอฟ ซึ่งมีองค์ประกอบเป็นกรรมการอิสระจากภายนอก Independent Monitoring Group (IMG) มาติดตามผลการปฏิบัติงานของสมาคมฯ
“โดยสรุปแล้ว คิดว่าสมาคมฯ บรรลุการทำงานระดับยุทธศาสตร์ เป้าหมายคำนึงถึงบุคคลกรทางการกีฬายกน้ำหนัก ได้แก่ นักกีฬายกน้ำหนัก กับเจ้าหน้าที่เทคนิคของสมาคมฯ เป็นศูนย์กลางหรือเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญ ซึ่งเห็นได้จาก คำตัดสินแสดงถึงความเมตตาจากท่านในองค์คณะอนุญาโตตุลากรของศาลกีฬาโลกในคดีนี้ โดยเราน้อมรับและเคารพการตัดสินทุกประการ นอกจากนี้แล้ว สมาคมฯ ก็ได้มีหลายสิ่งอย่างจำเป็นต้องถอดเป็นบทเรียน เพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ในลักษณะนี้เกิดขึ้นกับสมาคมฯ ซ้ำอีก สมาคมฯ กำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่การเป็นองค์กรกีฬาอัจฉริยะ มีบุคลากรอันทรงคุณค่าระดับสากล การขับเคลื่อนเสมือนเฟืองหนึ่งที่สำคัญในการสร้างพลังอำนาจทางกีฬาให้กับไทย ในอนาคตอันใกล้นี้” นายนิพนธ์ กล่าว
Cr. : นายวิชัย แสงทวีป ผู้สื่อข่าวพิมพ์ไทยออนไลน์