พิมพ์ไทยออนไลน์//เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี พร้อมด้วย สมเด็จพระราชินี ซิลเวียแห่งสวีเดน เสด็จมาเป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาระดับประเทศ Child Protection Summit, Bangkok 2024 และพระราชทานพระราชดำรัสแก่ผู้เข้าร่วม โดยมี คุณพอลล่า กิลเลต์ เดอ มองทูซ์ ผู้แทนมูลนิธิ World Childhood และคุณชเล วุทธานันท์ ประธานมูลนิธิพิทักษ์และคุ้มครองเด็ก กล่าวต้อนรับ อีกทั้ง มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงการแก้ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศเด็กในประเทศไทย ระหว่างกระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยนายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) ร่วมลงนาม โดยมีนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) กล่าวสุนทรพจน์ พร้อมทั้งคณะผู้บริหารกระทรวง พม. เฝ้าฯ รับเสด็จ ณ สำนักงานองค์การสหประชาชาติ กรุงเทพฯ
นายวราวุธ ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ตอนหนึ่งว่า ตนรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ของประเทศไทย ในการนี้ ข้าพเจ้าขอปฏิญาณว่าจะสานต่อและต่อยอดความคิดริเริ่มของใต้ฝาละอองธุลีพระบาท เพื่อทำให้โลกนี้น่าอยู่ยิ่งขึ้นสำหรับเด็กๆ ของเราทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ อีกทั้งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้ดำเนินงานตามสหประชาชาติโมเดลที่มียุทธศาสตร์ในการต่อต้านความรุนแรงต่อเด็ก ที่พัฒนาโดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญระหว่างรัฐบาล ซึ่งมี พระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร ทรงเป็นประธาน และได้รับการรับรองโดยสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ในปี ค.ศ. 2014 (พ.ศ. 2557) ซึ่งเป็นการฉลองครบรอบ 25 ปีของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก หรือ CRC
นายวราวุธ กล่าวต่อไปว่า ประเทศไทย โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันดำเนินการเพื่อปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชน ประกอบด้วย 1) การออกกฎหมายและพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เด็กได้รับการคุ้มครองและพัฒนาอย่างเต็มที่ เนื่องจากกระทรวง พม. ตระหนักถึงบทบาทสำคัญของครอบครัวและชุมชนในกระบวนการคุ้มครองเด็ก รวมถึงประเด็นเร่งด่วนของการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็ก อาทิ พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 พระราชบัญญัติคุ้มครองความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 และพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 ทั้งนี้ พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กได้มีการแก้ไขเพื่อพิจารณาความรับผิดชอบทั้งในแง่ของกลไกการป้องกันและการช่วยเหลือ และคาดว่าร่างกฎหมายการแก้ไขจะถูกส่งให้คณะรัฐมนตรีรับรองในเดือนมิถุนายน 2567 2) การคุ้มครองเด็ก เรามีสถานสงเคราะห์และสถานรับเลี้ยงเด็ก สภาเด็กและเยาวชน รวมทั้งกองทุนคุ้มครองเด็ก ที่ดำเนินการอย่างเป็นระบบทั่วประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตและปกป้องเด็กจากการทารุณกรรม ความรุนแรง และการแสวงผลประโยชน์ทุกรูปแบบ เรามีระบบคุ้มครองเด็กออนไลน์ร่วมกับศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) หรือ HuSec และสายด่วน พม. 1300 นอกจากนี้ กระทรวง พม. ได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานสหประชาชาติ และเครือข่ายต่างๆ อาทิ COPAT, Thailand Safe Internet Coalition, Safe Kids เป็นต้น ในการปกป้องเด็กจากอาชญากรรมทางอินเตอร์เน็ตทุกประเภท โดยเฉพาะการทารุณกรรมทางเพศต่อเด็กทางออนไลน์ ในสื่อสังคมออนไลน์ เช่น TikTok และ Facebook และ 3) ปัจจุบันประชากรกำลังมีการเติบโตในอัตราที่ลดลง โดยมีอัตราการเจริญพันธุ์ที่ต่ำมากคือ 1.08 ในปี 2022 ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการขาดแคลนวัยแรงงาน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ และตนเชื่อว่าหลายประเทศกำลังเผชิญกับความท้าทายด้านประชากรศาสตร์เช่นเดียวกัน ทั้งนี้ ในการรับมือกับวิกฤตินี้ ประเทศไทยได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม รวมถึงหน่วยงานระหว่างประเทศและสหประชาชาติ เช่น ยูนิเซฟ, UNDP, WHO, World Bank เป็นต้น ในการจัดทำยุทธศาสตร์ในการจัดการกับสถานการณ์เหล่านี้
นายวราวุธ กล่าวเพิ่มเติมว่า ยุทธศาสตร์ที่ได้จากการประชุมเชิงปฏิบัติการ มีชื่อว่า “5×5 ฝ่าวิกฤติประชากร” ประกอบด้วย 5 กลยุทธ์ และแต่ละกลยุทธ์ประกอบด้วย 5 มาตรการ ซึ่งในกลยุทธ์ที่สอง เราให้ความสำคัญของเด็กที่ต้องการให้เด็กที่เติบโตขึ้นมามีคุณภาพ การหามาตรการในการปกป้องเด็กและทำให้แน่ใจว่าเด็กๆ สามารถเพลิดเพลินกับวัยเด็กในขณะที่ได้รับการศึกษาและการฝึกอบรมที่เพียงพอและเหมาะสม ซึ่งเป็นสาระสำคัญของกลยุทธ์นี้ และกลยุทธ์นี้ได้รับการรับรองจากคณะรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ดังกล่าวอาจทวีความรุนแรงขึ้นจากวิกฤตการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งกำลังส่งผลกระทบต่อเด็กซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบาง ไม่เพียงแต่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่ในระดับโลกรวมถึงผู้มีรายได้สูงก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ทั้งนี้ ตามรายงาน “Climate-Changed Child Report” ที่เผยแพร่โดยยูนิเซฟ ในเดือนพฤศจิกายน 2023 เด็ก 1 พันล้านคน จาก 2.2 พันล้านคนทั่วโลก มีความเสี่ยงสูงต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดังนั้นกระทรวง พม. ได้ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศ ร่วมกันวางแผนเตรียมความพร้อมในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสร้างขีดความสามารถด้านความยืดหยุ่นและการปรับตัวสำหรับกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ซึ่งไม่มีประเทศใดสามารถรับมือกับความท้าทายนี้เพียงลำพังได้ ทุกคนทุกประเทศต้องร่วมกันปกป้องเด็กและเพื่อเป็นอนาคตที่สำคัญของโลกต่อไป#ข่าวพม #พม #ศรส #esshelpme #1300 #วราวุธศิลปอาชา #วราวุธรับฟังทำจริง #พมพอใจให้ทุกวัยพึงพอใจในพม #พมหนึ่งเดียว #วิกฤตประชากร #พม:Cr;มณสิการ รามจันทร์