พิมพ์ไทยออนไลน์//เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 66) เวลา 08.45 น. นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานเปิดการประชุมระดับชาติเรื่องเด็กในยุคดิจิทัล ครั้งที่ 1 “ร่วมกันสร้างสภาพแวดล้อมดิจิทัลที่ปลอดภัยสำหรับเด็กทุกคน” ซึ่งจัดโดยองค์การยูนิเซฟ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดส.) สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ และองค์การเอ็คแพท อินเตอร์เนชั่นแนล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประสานความร่วมมือในการทำงานอย่างเป็นระบบร่วมกันระหว่างภาคีเครือข่าย พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการจัดการกับการล่วงละเมิดทางเพศและภัยออนไลน์สำหรับเด็ก ทั้งนี้ นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวง พม. นางจตุพร โรจนพานิช อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวง ดส. นางคยองซัน คิม (Ms. Kyungsun Kim) ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย นางสาวธันยพร(ธัญญา) กริชติทายาวุธ ผู้อำนวยการสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย และผู้แทนภาคีเครือข่าย เข้าร่วมงาน ณ โรงแรมอีสติน แกรนด์สาทร กรุงเทพฯ
นายจุติ กล่าวว่า ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันที่เทคโนโลยีสมัยใหม่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว แม้ว่าเด็กจะได้รับผลดีจากการเปิดโลกทัศน์ในการเรียนรู้ ทำให้สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่เพิ่มมากขึ้น แต่จากผลการศึกษาโครงการ Disrupting Harm in Thailand ที่จัดทำขึ้นโดยองค์การเอ็คแพท องค์การตำรวจกลาง และองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ในปี 2564 พบตัวเลขที่น่ากังวลว่า เด็กอายุ 12 – 17 ปี ในประเทศไทย ร้อยละ 9 หรือประมาณ 400,000 คน ตกเป็นเหยื่อการแสงหาประโยชน์ทางเพศ และล่วงละเมิดทางเพศออนไลน์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า เด็กและเยาวชนกำลังเผชิญความเสี่ยงที่จะถูกล่วงละเมิดบนโลกออนไลน์เพิ่มมากขึ้น และจากการดำเนินงานที่ผ่านมา ประเทศไทยไม่ได้นิ่งเฉยต่อความเสี่ยงดังกล่าว
โดยกระทรวง พม. ได้บูรณาการความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดระบบการคุ้มครองเด็กที่ป้องกันการแสวงหาประโยชน์และล่วงละเมิดทำให้เกิดความปลอดภัยสำหรับเด็กบนโลกออนไลน์อย่างแท้จริง ด้วยการขับเคลื่อนงานตามยุทธศาสตร์ส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ พ.ศ. 2560 – 2564 อีกทั้งการจัดตั้งศูนย์ประสานงานขับเคลื่อนการส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ (Child Online Protection Action Thailand – COPAT) ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2560 เพื่อการขับเคลื่อนงานด้านการคุ้มครองเด็กบนโลกออนไลน์ภายใต้การดูแลของกระทรวง พม. โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน และการจัดตั้งเครือข่ายเสริมสร้างอินเทอร์เน็ตปลอดภัยประเทศไทย (Thailand Safe Internet Coalition) เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2565 เพื่อเป้าหมายในการพัฒนาระบบคุ้มครองเด็กอย่างครอบคลุม รวมถึงการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมออนไลน์ที่ปลอดภัยสำหรับเด็กและเยาวชนอย่างครอบคลุม นอกจากนี้ ภาคธุรกิจเอกชนได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนงานเชิงป้องกันที่สามารถออกแบบมาตรการกลไก เพื่อลดโอกาสของการล่วงละเมิดและแสวงประโยชน์ทางเพศออนไลน์ต่อเด็กได้ และเป็นการส่งเสริมการดำเนินการตามหลัก Human Rights Business Principles
นายจุติ กล่าวต่อไปว่า วันนี้ จึงมีการประชุมระดับชาติเรื่องเด็กในยุคดิจิทัล ครั้งที่ 1 “ร่วมกันสร้างสภาพแวดล้อมดิจิทัลที่ปลอดภัยสำหรับเด็กทุกคน” เพื่อให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงและผู้เชี่ยวชาญจากภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนที่ทำงานทั้งด้านการคุ้มครองเด็ก สาธารณสุข การศึกษา กฎหมาย และเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์และความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นสำคัญต่างๆ ได้แก่ สถานการณ์ความเสี่ยงด้านการคุ้มครองเด็กออนไลน์ในประเทศไทย การล่วงละเมิดทางเพศทางออนไลน์ การดำเนินการและความท้าทายในปัจจุบันที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสภาพแวดล้อมดิจิทัลที่ปลอดภัยยิ่งขึ้นสำหรับเด็ก การปกป้องคุ้มครองเด็กออนไลน์: การแก้ไขช่องว่างในกฎหมายความผิดที่เป็นอาชญากรรมข้ามชาติและคดีนอกราชอาณาจักร การมีส่วนร่วมของภาคเอกชนเกี่ยวกับการคุ้มครองเด็กออนไลน์ในประเทศไทย และแนวปฏิบัติที่ดี – สภาพแวดล้อมทางกฎหมายและการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน เป็นต้น
นายจุติ กล่าวเพิ่มเติมว่า วันนี้ ต้องขอขอบคุณองค์การยูนิเซฟ ที่เป็นผู้เบิกทางให้กระทรวง พม. โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน ที่ทำงานสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็กและเยาวชน ในเรื่องความปลอดภัยจากอินเทอร์เน็ต ซึ่งมีการศึกษางานจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยเรามีความตั้งใจถอดบทเรียนจากความสำเร็จของประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และปัจจุบัน โลกออนไลน์มีความปรับเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว จึงจำเป็นต้องปรับตัวตามให้ทัน ซึ่งขณะนี้ กำลังเป็นภัยคุกคามทางอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นการล่วงละเมิดทางเพศ รวมถึงการพนันออนไลน์ ยาเสพติด และสิ่งผิดกฎหมาย เนื่องจากเด็กมากกว่าครึ่งใช้โทรศัพท์มือถือในการสื่อสาร ติดตามข้อมูลข่าวสาร ฉะนั้น ผู้ปกครองควรเอาใจใส่เด็กในการใช้อินเทอร์เน็ต ดังนั้น อยากจะบอกว่า เราต้องสอนเด็กให้สามารถแยกแยะให้ออกระหว่างโลกความเป็นจริง และโลกเสหมือน และอยากให้องค์การยูนิเซฟ เป็นผู้นำ ในการเรียกร้องให้เด็กปลอดภัยจากอินเทอร์เน็ต รวมทั้งทุกภาคส่วนต้องตั้งสติต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมอย่างรวดเร็ว ด้วยความรับผิดชอบ ถูกต้อง โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และหวังว่าการประชุมระดับชาติวันนี้ จะเป็นก้าวสำคัญในการทำให้เด็กปลอดภัยจากโลกออนไลน์ต่อไป :Cr;มณสิการ รามจันทร์