พิมพ์ไทยออนไลน์ // นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาขับเคลื่อนธุรกิจออนไลน์ เร่งปรับใช้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) ให้เกิดประโยชน์ เพื่อขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ ได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาช่องทางการตลาดทั้งออฟไลน์และออนไลน์แก่ผู้ประกอบการไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ ที่ปัจจุบันมีอัตราการเติบโตและได้รับความนิยมในกลุ่มคนรุ่นใหม่เป็นอย่างมาก สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็ว
รมช.พาณิชย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า งานศิลปหัตถกรรมไทยก็เช่นกัน ถึงแม้จะเป็นงานที่ต้องใช้ทักษะ ความสามารถในการบรรจงสร้างสรรค์ชิ้นงานที่มาจากภูมิปัญญาเชิงช่างให้มีความวิจิตร งดงาม ทรงคุณค่า ก็ต้องให้ความสำคัญกับการเสริมศักยภาพและทักษะความสามารถของผู้สร้างสรรค์ไปพร้อมกับการให้ความรู้ด้านการตลาดดิจิทัล (Digital Marketing) เพื่อให้งานศิลปหัตถกรรมไทยสามารถตอบโจทย์ความต้องการ และโดนใจผู้ซื้อมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่ผู้บริโภคทุกช่วงวัยหันมาเปิดรับข่าวสารผ่านช่องทางออนไลน์มากยิ่งขึ้น สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ sacit ในฐานะหน่วยงานหลัก ที่มีบทบาทด้านการสืบสาน สร้างสรรค์ และส่งเสริมงานศิลปหัตถกรรมไทยให้เกิดการต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ จึงได้มอบหมายให้ sacit เพิ่มพูนความรู้ด้านการตลาดออนไลน์และนวัตกรรม เพื่อผลักดันให้ งานศิลปหัตถกรรมไทยสามารถเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวัน สร้างรายได้กลับสู่ผู้ผลิตงานหัตถศิลป์ไทยอย่างยั่งยืน
ด้าน นายภาวี โพธิ์ยี่ รักษาการผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย กล่าวเสริมว่า sacit ได้นำแนวทางและนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ ไปปรับใช้ในด้านการเพิ่มศักยภาพผู้ผลิตงานศิลปหัตถกรรมไทยในด้านต่างๆ โดยในปี 2566 นี้ sacit จะมีการประชุมสมาชิกและสร้างเครือข่าย ผู้สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรม จำนวน 4 ครั้ง ได้แก่ ครั้งที่ 1 จ.ขอนแก่น , ครั้งที่ 2 จ.สงขลา , ครั้งที่ 3 จ.เชียงใหม่ และครั้งที่ 4 กรุงเทพฯ หรือปริมณฑล โดยให้ความสำคัญทั้งในด้านการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องการจดลิขสิทธิ์คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของตลาดในปัจจุบัน การส่งเสริมการขายงานศิลปหัตถกรรมไทยทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์ รวมถึงการให้ความรู้ใหม่ๆ ด้านการขายในแพลตฟอร์มออนไลน์ใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น อาทิเช่น การถ่ายภาพสินค้าให้มีความโดดเด่น น่าสนใจ การเพิ่มช่องทางการขายงานศิลปหัตถกรรมไทยด้วยการทำ Digital Content ผ่านแพลตฟอร์ม TikTok อาทิ การสร้างเอกลักษณ์ให้กับชิ้นงาน , การกำหนดกลุ่มเป้าหมาย , การเลือก Sound ที่เหมาะสม , เทคนิคการใช้เครื่องมือตัดต่อ , การสร้างแฮชแท็กที่น่าสนใจ หรืออื่นๆ เป็นต้น
ซึ่งในปัจจุบัน TikTok เป็นแพลตฟอร์มที่กลุ่มคนรุ่นใหม่นิยมเพิ่มขึ้นอย่างมากในประเทศไทย เป็นการสร้างสรรค์คลิปวิดีโอสั้นแนวตั้ง มีลูกเล่นตกแต่งวิดีโอได้มากมาย สามารถทำได้ง่ายบนสมาร์ทโฟนเพียงเครื่องเดียว อีกทั้ง TikTok ยังเป็นแพลตฟอร์มที่รวมทั้งคอนเทนต์สุดไวรัลและทันกระแสทุกเทรนด์ มีผู้ใช้งานในประเทศไทย มากถึง 35.8 ล้านคนเลยทีเดียว ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการเผยแพร่ภูมิปัญญาและคุณค่างานศิลปหัตถกรรมไทยให้คงอยู่ในวิถีชีวิต เกิดการอนุรักษ์ และส่งต่อไปยังคนรุ่นหลังต่อไป.