พิมพ์ไทยออนไลน์// กระทรวงพลังงาน นำทัพ 70 องค์กรชั้นนำภาครัฐ-เอกชน ประกาศเจตนารมณ์ “Energy Beyond Standards” เดินหน้าปลุกกระแสอนุรักษ์พลังงานให้เกิดผลเป็นรูปธรรมสร้างต้นแบบองค์กรใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสูง ตั้งเป้าช่วยไทยลดการนำเข้าพลังงานกว่า 5,400 ล้านบาท/ปี เทียบเท่าแอลเอ็นจี 90,000 ตัน บรรเทาผลกระทบวิกฤตราคาพลังงานอย่างยั่งยืน
เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2565 นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน กิจกรรมประกาศเจตนารมณ์เครือข่ายอนุรักษ์พลังงาน “Energy Beyond Standards” โดยมีดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน พร้อมด้วยนายนพดล ปิ่นสุภา รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานสถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม นายพิชัย จิราธิวัฒน์ ที่ปรึกษาหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และประธานคณะทำงานด้านพลังงาน หอการค้าไทยและดร.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายองค์กรสัมพันธ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมกับองค์กรภาครัฐ เอกชนชั้นนำกว่า 70 แห่ง แสดงความมุ่งมั่นร่วมกันดำเนินการอนุรักษ์พลังงานภายในองค์กร พร้อมกระตุ้นให้เกิดกระแสความความร่วมมือด้านการอนุรักษ์พลังงานเพิ่มขึ้น เพื่อลดผลกระทบจากการผันผวนของราคาพลังงาน
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี ฯ กล่าวว่า กระทรวงพลังงานได้เร่งผลักดันนโยบายการอนุรักษ์พลังงานอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจ ซึ่งถือเป็นภาคส่วนที่มีการใช้พลังงานสูงให้เกิดการใช้พลังงานอย่างประสิทธิภาพ โดยการประกาศเจตนารมณ์จากภาครัฐและเอกชนทั้ง 70 องค์กรในวันนี้ จะเป็นก้าวสำคัญให้เกิดการสร้างเครือข่ายด้านอนุรักษ์พลังงาน สร้างความร่วมมือการให้คำปรึกษา ให้ความช่วยเหลือเพื่อให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้จากมาตรการที่หน่วยงานแต่ละแห่งจะดำเนินการเพื่อการอนุรักษ์พลังงานนั้น นอกจากจะช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้าในองค์กรแล้ว คาดว่าจะส่งผลในภาพรวมเกิดการลดใช้ไฟฟ้าได้กว่า 675 ล้านหน่วย/ปี ลดค่าใช้จ่ายการนำเข้าพลังงานของประเทศได้สูงถึง 5,400 ล้านบาท/ปี เทียบเท่าแอลเอ็นจี 90,000 ตัน บรรเทาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 296,000 ตันคาร์บอน/ปี อีกทั้งช่วยขับเคลื่อนนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย เพื่อบรรลุสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ให้ได้ในปี ค.ศ. 2050
“จากการทำงานของรัฐบาล สิ่งที่เราพบเห็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราคาพลังงานที่สูงขึ้นมาทั้งหมด เกิดจากปริมาณพลังงานก้อนสุดท้าย คือ การนำเข้า โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้า และ แก๊สธรรมชาติ ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร การให้ประชาชนประหยัด ก็ทำได้ระดับหนึง แต่ตัวเลขก็ไม่ได้ลดลงมากนัก ซึ่งเราเข้าใจดี เศรษฐกิจค่อยๆฟื้นตัวด้วย ความท้าทายจะไปอยู่กับผู้ประกอบการและอุตสาหกรรมต่างๆ และการประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันครั้งนี้ หากมีเป้าลดลงเช่น ลงร้อยละ 10 ร้อยละ 20 และหากสามารถลงถึงร้อยละ30 ราคาพลังงานที่กล่าวถึง ไม่ว่าจะเป็นราคาไฟฟ้า และ แก๊สธรรมชาติ จะไม่ปรับขึ้นเลย เพราะเป็นพลังงานที่เราผลิตได้ในประเทศไทย และที่แพง เพราะเป็นส่วนที่เกิน แต่ที่แพง แพงหลายเท่าตัว ไม่ใช่แพงแค่ 1 หน่วย เป็น 2 หน่วย ตามเงินเฟ้อไม่ใช่ แต่กระโดดจาก 10 หน่วย เพิ่มขึ้น 30-40 หน่วย แต่แพงไปถึง 4 เท่าตัว หรือแพงขึ้นไปร้อยละ 30 ทำให้ต้นทุนพลังงานเราสูงขึ้นหลายเท่าตัว ซึ่งถ้าเราร่วมมือกัน จะผ่านพ้นไปได้ด้วยดี ผมเชื่อมั่นในศักยภาพของภาคอุตสาหกรรม ผ่านไปได้ แตกต่างกับภาคครัวเรือนที่มีหลายล้านครัวเรือน ที่ปรับตัวลำบาก ดังนั้น อยากให้กระทรวงพลังงานสื่อสารไปว่า พลังงานหน่วยสุดท้ายแพงมากจริงๆ พลังงานหน่วยสุดท้ายที่เอาเข้ามา มีผลต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าสูงถึง 7-8 บาท ถ้าไม่มีตรงนี้ อย่างไรค่าไฟฟ้าก็ต้องลดลง”นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว
ด้าน ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดี พพ. กล่าวว่า การประกาศเจตนารมณ์เครือข่ายอนุรักษ์พลังงาน “Energy Beyond Standards” พพ. ได้รับความร่วมมือจากสมาชิกสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาชิกสมาคมพลังงานหมุนเวียนไทย สมาชิกสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และองค์กรชั้นนำรวมทั้งสิ้นจำนวน 70 แห่ง อาทิ กลุ่มบริษัท เครือปตท. เครือเซ็นทรัล ค่ายรถยนต์โตโยต้า และบริษัท SCG เป็นต้น โดยทุกองค์กรที่มาร่วมกันจะมีส่วนช่วยให้ประเทศไทยก้าวข้ามวิกฤติด้านพลังงาน ด้วยการดำเนินการอนุรักษ์พลังงานในองค์กร ทั้งนี้ พพ. จะให้การสนับสนุนด้านเทคนิค การฝึกอบรมให้ความรู้ การให้คำปรึกษาและแนะนำ ตลอดจนเผยแพร่ผลสำเร็จและความรู้ด้านอนุรักษ์พลังงานสู่สาธารณชน กระตุ้นทุกภาคส่วนให้เกิดความตระหนักและเกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับตัวอย่างมาตรการเพื่อสนับสนุนให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้ความร่วมมือในกิจกรรมฯ ครั้งนี้ จะมีมาตรการทั้งด้านอนุรักษ์พลังงาน การใช้พลังงานทดแทน ที่เกิดผลสัมฤทธิ์สูงและสามารถนำมาประยุกต์ใช้ให้กว้างขวางมากขึ้น อาทิ มาตรการลดการสูญเสียพลังงานของเครื่องจักรและอุปกรณ์ โดยมุ่งเน้นการปรับปรุงปรับเปลี่ยนเครื่องจักรอุปกรณ์ โดยใช้เครื่องจักรอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูง มาตรการติดตั้งระบบ Monitoring and control เพื่อประเมินค่าการใช้พลังงาน และการนำพลังงานทดแทนมาใช้งาน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานชีวมวล และ ระบบพลังงานชีวภาพ ร่วมกับระบบควบคุมการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพ เป็นต้น
โดยหลังจากนี้ พพ.จะมีการติดตามผลการประหยัดพลังงาน รายงานผ่านระบบ online และจัดตั้ง energy clinic ในการให้คำปรึกษาทั้งด้านการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน ตลอดจนให้คำแนะนำแหล่งเงินลงทุน โดยผู้เชี่ยวชาญ ที่มีความรู้ไว้รองรับกิจกรรมนี้ด้วยแล้ว ดร.ประเสริฐ กล่าว :Cr;มณสิการ รามจันทร์