พิมพ์ไทยออนไลน์//นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.พม. เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2565 เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 เวลา 14.00 – 16.00 น. ณ ห้องประชุม สป.1 ชั้น 8 กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ และผ่านระบบประชุมทางไกล Zoom Cloud Meeting โดยคณะกรรมการฯ มีมติเห็นชอบแนวทางการทำงานเพื่อคุ้มครองเด็กที่สำคัญ ดังนี้
1. กระทรวง พม. ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างสังคมที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก จึงได้จัดเสวนาเพื่อปกป้องความรุนแรงต่อเด็ก “ซ่อม เสริม สร้างสังคมไทยที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก” เมื่อวันจันทร์ที่ 17 ตุลาคม 2565 ระหว่างเวลา 10.30 – 12.45 น. ณ ห้องประชุมปกรณ์ อังศุสิงห์ ชั้น 2 กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ โดยมีหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และสื่อมวลชน เข้าร่วมเวทีการเสวนาฯ 6 กระทรวง 11 หน่วยงาน โดยมีแนวทางการขับเคลื่อนงานร่วมกันของภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้(1) ร่วมผลักดันประเด็นการสร้างสังคมไทยที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก ให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยเสริมสร้างความร่วมมือ ผ่านการกำหนดพันธกิจ และหน้าที่ความรับผิดชอบของหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่ชัดเจน เพื่อนำไปสู่การบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานในทุกระดับ(2) ร่วมพัฒนายุทธศาสตร์การคุ้มครองเด็กแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2566 – 2567) โดยรับฟังความคิดเห็น จากทุกภาคส่วน เน้นการสร้างหลักประกันความปลอดภัยสำหรับเด็ก มุ่งเน้นการดำเนินงาน เชิงรุกในระดับพื้นที่และการขับเคลื่อนเชิงปฏิบัติการให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่(3) ร่วมสร้างความตระหนักรู้และการสร้างหลักฐานเชิงประจักษ์ภายในหน่วยงาน โดยมีการระบุปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดความรุนแรงต่อเด็ก ศึกษาช่องว่าง และกำหนดมาตรการ กลไก เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ(4) ร่วมสนับสนุนบริการสำหรับบุคคลแวดล้อมเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู หรือผู้ดูแลเด็ก ในการเลี้ยงดูเด็กตามช่วงวัยตามมาตรฐานขั้นต่ำ และจัดให้มีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก รวมถึงการสร้างเครือข่ายในระดับชุมชน(5) ร่วมสร้างพลังของเด็กและเยาวชนให้มีส่วนร่วมในป้องกันความรุนแรงและสร้างความปลอดภัยสำหรับเด็ก ผ่านการเสริมพลังอำนาจในการมีส่วนร่วมอย่างปลอดภัยแก่เด็กและเยาวชน(6) ร่วมจัดให้มีนโยบายคุ้มครองเด็กในทุกสถานที่ที่มีเด็กอยู่ในความดูแล มีแนวปฏิบัติที่สร้างความปลอดภัยจากการใช้ความรุนแรงต่อเด็ก และมีกลไกการจัดการกับสถานการณ์ความรุนแรงได้ทันการณ์ รวมถึงมีแผนการรับมือในภาวะฉุกเฉิน และซักซ้อมตามแผนอย่างต่อเนื่อง(7) ร่วมสร้างความตระหนักรู้ และสร้างการมีส่วนร่วมของสื่อสารมวลชนในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร กำหนดมาตรการและแนวทางการสื่อสารเรื่องความรุนแรง ทั้งในด้านการคุ้มครองและการป้องกันร่วมกัน
2. เห็นชอบการขับเคลื่อนงานตามแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยการเลี้ยงดูทดแทนสำหรับเด็ก ระยะที่ ๑ (พ.ศ. 2565 – 2569) โดยมีการดำเนินงานสำคัญในปี 2566 ดังนี้(1) การศึกษาค้นคว้าบริการทางเลือกด้านการเลี้ยงดูทดแทนที่หลากหลายสำหรับเด็ก เช่น ครอบครัวกาฟาลาห์(2) การพัฒนาการเลี้ยงดูทดแทนรูปแบบอื่น ๆ โดยเฉพาะครอบครัวเครือญาติอุปถัมภ์ ครอบครัวอุปถัมภ์ และการดำรงชีวิตโดยอิสระภายใต้การกำกับดูแล
3. การพัฒนาแนวทางการป้องกันการส่งเด็กเข้ารับการดูแลในสถานรองรับเด็กและลดจำนวนเด็กในสถานรองรับเด็ก ได้แก่(3.1) การดำเนินโครงการในสถานรองรับเด็กของภาครัฐ (โครงการพัฒนากลไกคุ้มครองเด็กเพื่อสนับสนุนให้เด็กเติบโตในครอบครัว)(3.2) การจัดทำแผนจัดการรายกรณีสำหรับเด็กทุกคน และทบทวนแผนอย่างต่อเนื่อง(3.3) การเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัวให้มีความสามารถดูแลเด็กได้ตามมาตรฐานขั้นต่ำ ทั้งครอบครัวโดยกำเนิด หรือครอบครัวทดแทนรูปแบบต่าง ๆ
4. การศึกษาวิจัยและจัดทำมาตรฐานหรือแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง เช่น การศึกษาต้นทุนการเลี้ยงดูเด็กในรูปแบบครอบครัว
นายจุติ ไกรฤกษ์ ย้ำว่า กระทรวง พม. ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างสังคมที่ปลอดภัยสำหรับเด็กเป็นอย่างมาก และถือเป็นความรับผิดชอบของทุกภาคส่วน ทุกภาคส่วนต้องตระหนักและร่วมกันขับเคลื่อนงาน เพื่อสร้างสังคมที่ปลอดภัย สำหรับเด็ก :Cr;มณสิการ รามจันทร์