พิมพ์ไทยออนไลน์//เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 65 เวลา 10.00 น. นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการมอบโล่ เข็ม และประกาศเกียรติคุณเชิดชูเกียรติแก่อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) อาสาสมัคร และองค์การที่มีกิจกรรมทางสังคมดีเด่น ประจำปี 2564 ระดับภาคเหนือตอนล่าง (9 จังหวัด) โดยมีนายอนุกูล ปีดแก้ว อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กล่าวรายงาน ณ โรงแรมเมย์ฟลาวเวอร์ แกรนด์ พิษณุโลก อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก จากนั้น เดินทางไปยังองค์การบริหารส่วนตำบลชมพู อำเภอเนินมะปราง เพื่อเปิดโครงการจดทะเบียนคนพิการเคลื่อนที่ (One Stop Service) เพื่อสร้างการเข้าถึงสิทธิประโยชน์แก่คนพิการ พร้อมทั้งเปิดจุดลงทะเบียนสำหรับโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 ให้กับประชาชนกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ โดยมีคณะผู้บริหารกระทรวง พม. ร่วมลงพื้นที่
นายจุติ กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) ได้สนับสนุนและส่งเสริมบทบาทของภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน รวมทั้งอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน เพื่อให้ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ได้รับบริการและสวัสดิการต่างๆ ของรัฐอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังตามนโยบายของรัฐบาล
ทั้งนี้ กระทรวง พม. โดย พส. จึงได้ขับเคลื่อนโครงการมอบโล่ เข็ม และประกาศเกียรติคุณเชิดชูเกียรติแก่อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) อาสาสมัคร และองค์การที่มีกิจกรรมทางสังคมดีเด่น ในพื้นที่ทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง สำหรับพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง (9 จังหวัด) วันนี้ มีผู้ได้รับยกย่องเชิดชูเกียรติจำนวนทั้งสิ้น 31 คน และ 1 องค์กร ได้แก่ 1) อาสาสมัครดีเด่น จำนวน 19 คน 2) องค์การที่มีกิจกรรมทางสังคมดีเด่น จำนวน 1 องค์กร 3) อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ดีเด่นพิเศษ จำนวน 2 คน 4) อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ดีเด่นพิเศษ (ชมเชย) จำนวน 1 คน และ 5) อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ดีเด่น จำนวน 9 คน
นายจุติ กล่าวต่อไปว่า อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือ อพม. จะเป็นตัวแทนของกระทรวง พม. และรัฐบาลในการดูแลประชาชนกลุ่มเปราะบาง และครอบครัวที่มีรายได้น้อย ที่ไม่มีโอกาส โดยเราพยายามจะให้ทุกหมู่บ้านมี อพม. อย่างน้อย 2 คน แต่ความต้องการเฉลี่ย คือ 10 คนต่อ 1 หมู่บ้าน ซึ่ง อพม. จะช่วยชี้เป้า ช่วยเหลือเยียวยา เฝ้าระวัง และคอยติดตาม นับเป็นจิตอาสาที่แท้จริง เพราะว่ากระทรวง พม. ไม่มีเงินเดือนให้ และเป็นที่น่าชมเชยว่า ช่วงวิกฤติโควิด – 19 อพม. ทุกคน ทุ่มเททำงาน โดยไม่คิดถึงอันตรายของตนเอง ช่วยกระทรวง พม. ดูแลประชาชนตั้งแต่เกิดจนตาย ซึ่งทุกคนได้ทำงานด้วยใจนำด้วยจิตวิญญาณ
นายจุติ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับโครงการจดทะเบียนคนพิการเคลื่อนที่ (One Stop Service) เพื่อสร้างการเข้าถึงสิทธิประโยชน์แก่คนพิการ ดำเนินการโดยศูนย์บริการคนพิการจังหวัดพิษณุโลก สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดพิษณุโลก เพื่อเป็นการนำร่องการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ประกอบด้วย โรงพยาบาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และศูนย์ช่วยเหลือสังคมตำบล สำหรับการให้บริการครบวงจรในรูปแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ (One Stop Service – OSS) ด้วยการค้นหาคนพิการและผู้ป่วยติดเตียงที่ยังไม่สามารถเข้าถึงสิทธิให้ได้รับการตรวจวินิจฉัยและออกเอกสารรับรองความพิการจากแพทย์ พร้อมทั้งรับบัตรประจำตัวคนพิการ และขึ้นทะเบียนรับเบี้ยความพิการได้อย่างครบถ้วนภายในวันเดียว นับเป็นการอำนวยความสะดวกของหน่วยงานภาครัฐให้กับคนพิการได้สามารถเข้าถึงการรับบริการได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว ส่งผลให้การพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น :Cr;มณสิการ รามจันทร์