นายจุติ กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) ได้ขับเคลื่อนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการอย่างต่อเนื่อง ด้วยการส่งเสริมอาชีพ สร้างรายได้ที่มั่นคง เพื่อให้คนพิการสามารถพึ่งพาตนเองและเลี้ยงดูครอบครัวได้อย่างยั่งยืน แต่ด้วยสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและตลอดเวลา โดยเฉพาะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด – 19 ส่งผลให้คนพิการต้องปรับตัวและเรียนรู้อาชีพใหม่ๆ ตามศักยภาพที่แตกต่างกัน เพื่อใช้ศักยภาพในการทำงานของแต่ละบุคคล ทั้งนี้ กระทรวง พม. โดย พก. จึงได้มีการปรับรูปแบบการทำงานของคนพิการเพื่อให้สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น เป็นการเตรียมความพร้อมด้านการทำงานให้กับคนพิการ โดยมีการพัฒนาศักยภาพคนพิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมายในการทำงานอาชีพช่างล้างแอร์ ภายใต้โครงการ Special Care บริการล้างแอร์ที่ใส่ใจ ด้วยการอบรมหลักสูตร “Home Service” ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่าง กระทรวง พม. โดย พก. บริษัท แซนด์บ๊อกซ์ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด และวิทยาลัยเทคโนโลยีดอนบอสโก ซึ่งเปิดสอนเป็นนักเรียนภาคค่ำ
โดยสามารถใช้เวลาว่างในช่วงกลางวันหารายได้เลี้ยงตนเองระหว่างเรียนได้ และเพื่อให้โครงการ Special Care มีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง และสามารถสร้างรายได้ให้กับคนพิการอย่างยั่งยืน กระทรวง พม. โดย พก. จึงร่วมกับภาคีเครือข่ายต่อยอดการให้บริการล้างแอร์โดยคนพิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย และได้รับการตอบรับจากภาคส่วนต่างๆ เป็นอย่างดี อาทิ สถานเอกอัคราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย บริษัท แซนด์บ๊อกซ์ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด วิทยาลัยเทคโนโลยีดอนบอสโก สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การเคหะแห่งชาติ บริษัท สมาร์ทเซอร์วิส แอนด์ แมเนจเม้นท์ จำกัด บริษัท เน็กซเตอร์ ดิจิตอล แอนด์ โซลูชั่น จำกัด บริษัท ลมเย็น จำกัด บริษัท เดอะ โบตานิค จำกัด โรงพยาบาลบางมด บริษัท วาย เอช เอ็ม กรุ๊ป จำกัด และ และบริษัท อาร์ เอฟ เอส จำกัด
นายจุติ กล่าวต่อไปว่า วันนี้ ต้องขอขอบคุณผู้สนับสนุนทุกท่าน สำหรับโครงการ Special Care โดยเฉพาะ บริษัท แซนด์บ๊อกซ์ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ที่นำคนพิการซึ่งมีความเชี่ยวชาญมาเพื่อปรับจากวิกฤตเป็นโอกาส สามารถหาอาชีพได้ เพราะเป็นอาชีพที่สุจริต สังคมกำลังขาดแคลน ซึ่งวันนี้ คนพิการพึ่งพาตนเองได้ มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และความยั่งยืน ทั้งนี้ ต้องขอขอบคุณ พก. ที่ไม่ย่อท้อ พยายามหาอาชีพ และขยายอาชีพเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย ที่สนับสนุนงบประมาณ 1,000,000 บาท เพื่อจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือ สำหรับให้กลุ่มคนพิการได้ฝึกงาน และภาคเอกชนที่เปิดโอกาสให้ใช้บริการเด็กที่เรียนจบ เพื่อยืนยันว่าเด็กเหล่านี้จบไปแล้วมีงานทำ มีรายได้ที่แน่นอน รวมทั้งวิทยาลัยเทคโนโลยีดอนบอสโก สำหรับสถานที่ฝึกงาน ที่มุ่งมั่นและดูแลเปรียบเหมือนแม่ของเด็กคนหนึ่ง ทำให้เราเห็นได้ว่าสังคมไทยไม่แล้งน้ำใจ