พิมพ์ไทยออนไลน์ // เส้นทางการควบรวมกิจการทรู-ดีแทค ภายหลังการปรับเปลี่ยนคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.)ชุดใหม่ ส่อจะไม่ราบรื่นแล้ว หลังกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบการควบรวมกิจการโทรคมนาคม สภาผู้แทนฯ ส่งหนังสือถึงนายกรัฐมนตรียืนยันดีลควบรวมกิจการส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคมของประเทศขอให้ใช้อำนาจระงับยับยั้งเป็นการเร่งด่วน
โดยเมื่อวันที่ 20 เม.ย.ที่ผ่านมา น.อ. อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ประธานคณะกรรมธิการวิสามัญพิจารณาการศึกษาผลกระทบกรณีการควบรวมกิจการโทรคมนาคมระหว่าง บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) และการการค้าปลีกค้าส่งสภาผู้แทนราษฎร ได้ส่งหนังสือด่วนที่สุด เลขที่ สผ 0018.11//2641 ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ชะลอการควบรวมธุรกิจระหว่างบมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) โดยระบุถึงเหตุผลที่ขอให้นายกฯใช้อำนาจระงับยับยั้งดีลควบรวมกิจการในครั้งนี้ 7 ประการด้วยกัน ประกอบด้วย
1.ประเด็นผลกระทบต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคม ซึ่งจากผลศึกษาดัชนีการกระจุกตัวของอุตสาหกรรม(HHI) พบว่า หากมีการรวมธุรกิจจะทำให้ดัชนีการกระจุกตัวอุตสาหกรรมมากกว่า 2,500 จุด ส่งผลต่อภาวการณ์แข่งขันสุ่มเสี่ยงต่อการใช้อำนาจเหนือตลาดและเป็นอุปสรรคต่อการเข้าสู่ตลาดของผู้ประกอบการรายใหม่เพิ่มขึ้น
2.ประเด็นข้อกฎหมาย ที่พบว่า ตามประกาศเรื่องมาตรการดูแลการกำกับดูแลการควบรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2561 ข้อ5 กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตหรือผู้มีอำนาจเหนือผู้รับใบอนุญาตท ประสงค์จะทำการรวมธุรกิจกับผู้รับใยอนุญาตรายอื่นต้องรายงานต่อเลขาธิการ กสทช.ไม่น้อยกว่า 90 วันก่อนดำเนินการ แต่ประเด็นข้อกฎหมายดังกล่าวยังมีความกังวลว่าขัดแย้งประกาศ กสทช.เดิมกำหนดให้ กสทช.มีอำนาจในการอนุญาตหรือไม่อนุญาต ทำให้เห็นว่าประกาศ กสทช.ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันนั้นมีการลดทอนอำนาจของหน่วยงานกำกับดูแลลงอย่างมีนัยยะสำคัญ ขณะที่ประกาศเรื่องมาตรการป้องกันมิให้มรีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคมปี 2549 ยังคงมีข้อกำหนดห้ามในเรื่องดังกล่าวอยู่ ดังนั้น จำเป็นจะต้องมีการตีความกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อการควบรวมธรกิจในครั้งนี้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน
3.ประเด็นเรื่องการเปลี่ยนผ่านการพิจารณาอนุญาตการรวมธุรกิจระหว่างคณะกรรมการ กสทช.ชุดเดิมและชุดใหม่ ที่เพิ่งมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้เข้ามาทำหน้าที่ จำเป็นต้องมีระยะเวลาในการพิจารณาปัญหานี้อย่างรอบคอบเพราะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคมของประเทศในภาพรวม
4.ประเด็นการเลือกที่ปรึกษาอิสระของ กสทช.ให้เข้ามาทำหน้าที่ให้ความเห็นหรือรายงานเพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการ กสทช. แต่พบว่าคุณสมบัติของที่ปรึกษาอิสระอาจไม่มีความเป็นอิสระจริง
5.ประเด็นข้อมูลรายงานผลศึกษาผลกระทบต่างๆ รวมทั้งการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวในต่างประเทศที่พบว่า กสทช.มีการนำรายงานผลศึกษาเปรียบเทียบมาพิจารณาน้อยมากและไม่ทันสมัย
6.ประเด็นแนวทางการกำหนดมาตรการของหน่วยงานกำกับดูแลที่จะดำเนินการควบคุมการกำกับดูแลการรวมธุรีกิจที่ยังไม่มีความชัดเจนกว่าจะดำเนินการอย่างไรเพื่อไม่ให้การควบรวมกิจการส่งผลกระทบต่อประชาชนและประเทศชาติทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และ
7. ประเด็นความกังวลของสังคมและองค์กรต่างๆ เช่นคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน กสทช.ที่มีต่อการทำหน้าที่ของ กสทช.ต่อการพิจารณาประเด็นในการควบรวมกิจการในครั้งนี้
“ จากข้อมูลประเด็นต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้น คณะกรรมาธิการวิสามัญ ฯ พิจารณาแล้วเห็นว่าหากมีการดำเนินการให้เกิดการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรูและดีแทค ในห้วงเวลานี้ ขณะที่มีหลายประเด็นยังคงไม่ชัดเจน อาจจะทำให้การรวมธุรกิจครั้งนี้เกิดผลเสียหรือส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค ประชาชนผู้ใช้บริการและประเทศชาติโดยรวมในอนาคตได้ ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันและรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ จึงมีข้อเสนอมายังท่านในฐานะผู้บริหารสูงสุดของประเทศเพื่อพิจารณาขอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบได้มีการชะลอการดำเนินการดังกล่าวออกไปก่อนจนกว่าจะมีข้อกฎหมาย ข้อมูลและแนวทางการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำกับดูแลเรื่องดังกล่าวเป็นที่ชัดเจนว่าจะสามารถปกป้องประเทศชาติและประชาชนจากผลกระทบต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้
องค์กรพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคโดดขวางด้วย
ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 27 เมษายน 65 ที่ผ่านมา นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิ์ผู้บริโภค (มพบ.)ได้ออกแถลงการณ์ กรณีที่ มพบ.ได้ตรวจสอบประเด็นข้อกฎหมายที่คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า(กขค.) เคยชี้แจงต่อ มพบ.ว่า ไม่มีอำนาจในการตรวจสอบการควบรวมกิจการของทรูและดีแทค เพราะใน พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 มาตรา 4 (4) ระบุเรื่องที่ไม่ให้ใช้กฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้ากับธุรกิจที่มีกฎหมายเฉพาะดูแลอยู่ ดังนั้น กรณีการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคมของทรูและดีแทคจึงอยู่ในการกำกับดูแลของ กสทช. ตามกฎหมายดังที่กล่าวอ้างอิงได้แก่
1. ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ลงวันที่ 4 ธันวาคม 2560 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 27 (11) (24) และมาตรา 81 แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ประกอบกับ มาตรา 21 และมาตรา 22 (3) (4) (5) แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544
2. ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณากำหนดผู้มีอำนาจเหนือตลาดในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2557 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 27 (11) และ (24) แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 และมาตรา 21 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 ประกาศดังกล่าวเป็นมาตรการกำกับดูแลล่วงหน้าเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญใช้อำนาจในการจำกัด หรือกีดกันการแข่งขันในตลาด สอดคล้องกับหลักการส่งเสริมการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรมและมาตราการเพื่อป้องกันไม่ให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคมรวมทั้งสอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน
“ การควบรวมกิจการโทรคมนาคมที่มีความเสี่ยงในการผูกขาดตลาด ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกน้อยลง เป็นหน้าที่ที่รัฐต้องคอยกำกับดูแล ให้ประชาชนได้รับผลประโยชน์ ให้เข้าถึงบริการที่ครอบคลุม ทั่วถึง ทำให้เกิดกระบวนการที่มีการแข่งขัน สามารถเลือกผู้ประกอบธุรกิจได้ เนื่องจากระบบอินเทอร์เน็ตเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นแล้ว มูลนิธิฯ ขอเร่งรัดให้ กสทช. ตอบหนังสือที่ มพบ. ส่งไปให้ก่อนหน้านี้โดยเร็ว และใช้อำนาจสั่งการในเรื่องนี้ตามกฎหมาย”