พิมพ์ไทยออนไลน์//ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 65 เวลา 15.00 น. นางพัชรี อาระยะกุล ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) เป็นประธานเปิดศูนย์ช่วยเหลือสังคมชุมชนร่วมเกื้อ เขตทวีวัฒนา กทม. ซึ่งเป็นศูนย์ช่วยเหลือสังคมชุมชนแห่งแรกในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พร้อมทั้งมอบประกาศนียบัตรให้อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) เขตทวีวัฒนา จํานวน 58 คน มอบเงินสงเคราะห์จากกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการและกรมกิจการผู้สูงอายุ รวมจํานวน 15 ราย นอกจากนี้ ยังได้มอบถุงยังชีพให้กลุ่มเปราะบาง จํานวน 300 ราย ณ ที่ทำการชุมชนหมู่บ้านร่วมเกื้อ เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ
นางพัชรี กล่าวว่า ศูนย์ช่วยเหลือสังคมชุมชนหมู่บ้านร่วมเกื้อ เขตทวีวัฒนา เป็นศูนย์ต้นแบบนําร่องในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นจุดบริการจัดสวัสดิการสังคมที่เหมาะสมและช่วยเหลือประชาชนทุกช่วงวัยและกลุ่มเปราะบาง อาทิ เด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ คนเร่ร่อน ไร้บ้าน ผู้ป่วยติดเตียง พ่อ-แม่เลี้ยงเดี่ยว และผู้ด้อยโอกาส ที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนทางสังคมและสถานการณ์โควิด – 19 โดยบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่ายในพื้นที่ กับทุกส่วนราชการสังกัดกระทรวง พม. ในรูปแบบของการให้บริการแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) ทั้งนี้ ชุมชนหมู่บ้านร่วมเกื้อ เป็นชุมชนประเภทบ้านจัดสรรตั้งอยู่บนเนื้อที่ 108 ไร่ มีบ้าน 449 หลังคาเรือน มีประชากร 1,124 คน โดยมีกลุ่มเปราะเบาง อาทิ เด็ก 102 คน เยาวชน 74 คน ผู้สูงอายุ 386 คน และคนพิการ 11 คน อีกทั้งยังได้มีการจัดตั้งชมรมผู้สูงอายุร่วมเกื้อ ชมรมเพื่อนช่วยเพื่อน ชุมชนหมู่บ้านร่วมเกื้อ (เพื่อคนพิการ) กองทุนสวัสดิการชุมชนเขตทวีวัฒนา และกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ร่วมเกื้อนางพัชรี กล่าวต่อไปว่า การเปิดศูนย์แห่งนี้ได้รับความร่วมมือจากสำนักงานเขตทวีวัฒนา กทม. ตลอดจนภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนรวมทั้ง อพม. ในพื้นที่ อีกทั้งได้ร่วมกันบูรณาการจัดกิจกรรมต่างๆ อาทิ การออกบัตรประจำตัวคนพิการด้วยแอปพลิเคชันซึ่งสามารถรับบัตรได้ทันที การให้ความรู้ในเรื่องโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน พม. โทร. 1300 การกู้ยืมเงินทุนประกอบอาชีพสำหรับผู้สูงอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และ Gold แอปพลิเคชัน เพื่อคนไทยใส่ใจผู้สูงอายุ เป็นต้น สำหรับศูนย์แห่งนี้มีคณะกรรมการศูนย์ฯ คอยกำกับดูแล และดำเนินงานใน 5 มิติ ได้แก่ 1) มิติด้านการเข้าถึงสิทธิเบื้องต้นที่ควรได้รับจากภาครัฐ 2) มิติด้านที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะการปรับปรุงสภาพที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมต่อการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุและคนพิการ รวมทั้งบ้านเช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อย 3) มิติด้านสุขภาพ โดยช่วยประสานโรงพยาบาลใกล้เคียงเข้ามาบริการผู้ป่วยที่ไม่ได้เข้าถึงสิทธิ 4) มิติด้านการศึกษาของเด็กในครอบครัว และ 5) มิติด้านอาชีพและรายได้ ทั้งนี้ เราจะใช้สมุดพกครอบครัวในการจัดเก็บข้อมูลประจำครอบครัว เพื่อติดตามการดูแลและวางแผนการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง
นางพัชรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ศูนย์ช่วยเหลือสังคมชุมชนหมู่บ้านร่วมเกื้อ เป็นศูนย์ช่วยเหลือสังคมในส่วนของ กทม. มีจุดประสงค์เหมือนกันกับ ศูนย์ช่วยเหลือสังคมในส่วนของภูมิภาค แต่จะแตกต่างกัน คือ ในส่วนของภูมิภาคจะมีผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นคอยกำกับดูแลศูนย์ฯ จึงทำให้สามารถติดต่อประสานงานช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็ว แต่ในส่วนของ กทม. ศูนย์ฯ จะมีประธานชุมชนเป็นผู้รับปัญหาและประสานส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะต้องมีการติดตามผลการดำเนินงานแล้วประเมินว่าจะพัฒนาให้ศูนย์ฯ ทั้งในส่วนของ กทม. และภูมิภาค ดำเนินงานไปในทิศทางเดียวกันต่อไป :Cr;มณสิการ รามจันทร์