พิมพ์ไทยออนไลน์// สมาคมกีฬาจักรยานฯ ร่วมกับ คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา มาใช้อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อพัฒนาศักยภาพของนักปั่นทีมชาติไทย เตรียมสู้ศึกซีเกมส์ ครั้งที่ 31 ที่เวียดนาม และเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 19 ที่นครหางโจว จีน รวมทั้งวางแผนระยะยาวจนถึงโอลิมปิกเกมส์ 2024 ที่กรุงปารีส ศฝรั่งเศส
“เสธ.หมึก” พลเอกเดชา เหมกระศรี นายกสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทย เผยว่า สมาคมกีฬาจักรยานฯ เดินหน้าเตรียมทีมนักกีฬาจักรยานทีมชาติ เพื่อเข้าร่วมแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 31 ที่เวียดนาม ระหว่างวันที่ 12-23 พฤษภาคม 2565 และการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 19 ที่นครหางโจว จีน ระหว่างวันที่ 10-25 กรกฎาคม 2565 ซึ่งฝ่ายเทคนิคของสมาคมกีฬาจักรยานฯ นำโดย “โค้ชตั้ม” วิสุทธิ์ กสิยะพัท ผู้ฝึกสอนประเภทถนน, ร้อยตำรวจเอก อดิศักดิ์ วรรณศรี ผู้ฝึกสอนประเภทลู่, ร้อยตำรวจโทหญิง กฤติกา ศิลาพัฒน์ ผู้ฝึกสอนประเภทเสือภูเขา, และ นายอัถร ไชยมาโย ผู้ฝึกสอนประเภทบีเอ็มเอ็กซ์ ได้มีการหารือร่วมกับ ผศ.ดร.ภัทรพร สิทธิเลิศพิศาล อาจารย์ประจำภาควิชากายภาพบำบัด คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) พร้อมคณะทำงาน เพื่อวางแผนในการพัฒนาขีดความสามารถของนักกีฬาจักรยาน
พลเอกเดชา กล่าวว่า หลังจากที่กีฬาจักรยานประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 18 ที่อินโดนีเซีย เมื่อปี 2561 และกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 30 ที่ฟิลิปปินส์ เมื่อปี 2563 สมาคมกีฬาจักรยานฯ ได้นำเอาวิทยาศาสตร์การกีฬา เข้ามาประยุกต์ใช้การพัฒนานักกีฬาจักรยานทีมชาติไทยอย่างเป็นรูปธรรม ตามนโยบายของ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลด้านกีฬา และประธานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย โดยสมาคมฯ ประสานกับคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และฝ่ายวิทยาศาสตร์การกีฬา กกท. เพื่อนำเอาองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การกีฬามาใช้อย่างเต็มที่
ด้าน ผศ.ดร.ภัทรพร สิทธิเลิศพิศาล เผยว่า คณะผู้เชี่ยวชาญของภาควิชากายภาพบำบัด คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วางแผนการทำงานทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยระยะแรกเตรียมเรื่องการตรวจร่างกาย วิเคราะห์กายวิภาคของนักกีฬาจักรยานโดยเฉพาะ มีการตรวจเลือดนักกีฬาแต่ละคน เพื่อวัดทั้งขนาด, ความเข้มข้น และปริมาณของเม็ดเลือดแดงที่จะนำไปใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงพื้นฐานของนักกีฬาแต่ละคน และจะนำไปเปรียบเทียบกับผลการตรวจเลือด ระหว่างการฝึกซ้อมเป็นระยะ ซึ่งทางคณะเทคนิคการแพทย์ของ มช. ร่วมกับสมาคมกีฬาจักรยานฯ การนำวิทยาศาสตร์การกีฬามาใช้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 3 ปีแล้ว
จึงมีประวัติและผลการตรวจเลือดของนักกีฬาเกือบทุกคนอยู่ในฐานข้อมูล ผศ.ดร.กภ.ภัทรพร กล่าวอีกว่า หลังจากนั้นก็จะวางแผนการฝึกซ้อมให้นักกีฬามีร่างกายที่ทรหดอดทน รวมถึงติดตามแก้ไขอาการบาดเจ็บระหว่างการฝึกซ้อมอย่างต่อเนื่อง มีการทำกายภาพบำบัด ดูแลนักกีฬาโดยการนำเอา “สหวิทยาการ” หรือองค์ความรู้ด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาศักยภาพนักกีฬามาใช้กับนักปั่นทีมชาติไทย อาทิ โภชนาการการกีฬา, สรีรวิทยาการกีฬา, เทคโนโลยีการกีฬา, จิตวิทยาการกีฬา, เวชศาสตร์การกีฬา, ทักษะและการฝึกซ้อม เป็นต้น ซึ่งแผนการฝึกซ้อมระยะแรกจะจบการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ แล้วให้นักกีฬามีช่วงเวลาพักร่างกาย เข้าสู่ระยะกลางการเตรียมทีมเอเชี่ยนเกมส์ และจะเป็นแผนระยะยาวจนถึงกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 32 ที่กัมพูชา ในปี พ.ศ.2566 และโอลิมปิกเกมส์ 2024 ที่กรุงปารีส ฝรั่งเศส ปี 2567
พลเอกเดชา กล่าวเสริมว่า สำหรับการคัดเลือกตัวนักกีฬาทีมชาติไทย พิจารณาจากผลงานที่นักกีฬาทำไว้ในการแข่งขันจักรยานชิงแชมป์ประเทศไทย ประจำปี 2564 และการแข่งขันจักรยานทางไกลนานาชาติ “ทัวร์ ออฟ ไทยแลนด์ 2021” ที่เพิ่งเสร็จสิ้นไปเมื่อต้นเดือนธันวาคม รวมถึงการแข่งขันจักรยานประเภทถนนและเสือภูเขา ชิงแชมป์ประเทศไทย ชิงถ้วยพระราชทานฯ ประจำปี 2565 สนามที่ 1 ที่ศรีสะเกษ วันที่ 14-16 มกราคม 2565 และสนามที่ 2 ที่มุกดาหาร วันที่ 18-20 กุมภาพันธ์ 2565 รวมทั้งการแข่งขันจักรยานประเภทบีเอ็มเอ็กซ์ ชิงแชมป์ประเทศไทย ประจำปี 2565 สนามที่ 1 วันที่ 29-30 มกราคม 2565 และสนามที่ 2 วันที่ 12-13 กุมภาพันธ์ 2565 ที่สนามเขาขยาย ชัยนาท
Cr…วิชัย แสงทวีป ผู้สื่อข่าวพิมพ์ไทยออนไลน์