พิมพ์ไทยออนไลน์ // รฟม.งานเข้า! หลังบีทีเอส เดินหน้าฟ้องทุจริตกราวรูด ทั้งฝ่ายบริหาร-กก.คัดเลือกดั้นเมฆเปลี่ยนแปลงเกณฑ์คัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนรถไฟฟ้า สายสีส้มโดยมิชอบ ขัดคำสั่งศาลปกครอง วงการรับเหมายกเคสคดีร้อนอดีตผู้ว่ารถไฟฯถูกศาลสั่งจำคุกเปรียบเทียบ เตือนบิ๊ก รฟม. ระวังมีจุดจบเหตุแก้สัญญาในเอกสารประกวดราคาเอื้อประโยชน์เอกชน
จ่อลากยาวเป็นมหากาพย์อีกระลอก สำหรับการประมูลคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้า สายสีส้ม ชาวงบางขุนนนท์-มีนบุรี วงเงินลงทุนกว่า 1.42 แสนล้านบาท หลังการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้สั่งยกเลิกการประมูลเดิมเพื่อจัดประมูลใหม่ ด้วยข้ออ้างไม่สามารถรอฟังผลชี้ขาดจากศาลปกครองกลาง และศาลปกครองสูงสุดได้
ล่าสุดกลับปรากฏว่า บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือบีทีเอส(BTS) ได้ส่งทนายยื่นฟ้องฝ่ายบริหาร รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 165 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐ,ธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172 เพราะ รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกมีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การคัดเลือกที่แตกต่างไปจากเอกสารประกวดราคา(RFP)ที่ออกไปแล้วโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และแม้ก่อนหน้านี้ศาลปกครองกลาง จะมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับใช้เกณฑ์ดังกล่าวจนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น แต่รฟม.ยังคงมีความพยายามที่จะนำหลักเกณฑ์ดังกล่าวมาบังคับใช้ในการประมูลจึงน่าจะมีปัญหาไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นไปตามคำสั่งศาล
แหล่งข่าวในวงการรับเหมา เปิดเผยเพิ่มเติมว่าเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง และนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีทุจริตโครงการก่อสร้างระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (แอร์พอร์ตลิงค์)ตามที่สำนักงานคณะกรรมการป.ป.ช.ได้ยื่นฟ้องอดีตผู้ว่ารถไฟ ฯ ในข้อหาเป็นเจ้า
พนักงานปฏิบัติหน้าที่มิชอบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 เนื่องจากมีการแก้ไขสัญญาในเอกสารประกวดราคาเพื่อเอื้อประโยชน์แก่เอกชน จนเป็นเหตุให้รถไฟได้รับความเสียหาย โดยศาลอุทธรณ์ได้สั่งจำคุก นายจิตต์สันติ ธนะโสภณ อดีตผู้ว่าการรถไฟ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ลงโทษจำคุก 9 ปี แต่จำเลยให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษ 1 ใน 3 คงจำคุก 6 ปี ส่วนจำเลยอีกรายอดีตหัวหน้าสำนักงานกฎหมายนั้นศาลอุทธรณ์ยืนตามศาลชั้นต้น
แหล่งข่าวกล่าวว่า ผลพวงจากคดีทุจริตโครงการแอร์พอร์ตลิงค์ข้างต้น น่าจะเป็นบทเรียนให้กับบอร์ดและฝ่ายบริหาร รฟม. ต่อกรณีประมูลคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้า สายสีส้มที่กำลังเป็นประเด็นอยู่นี้ เนื่องจากที่ผ่านมา รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 มีการปรับเปลี่ยนเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกที่แตกต่างไปจากเอกสารประกวดราคา(RFP)เดิม จนถูกบริษัทเอกชนที่เข้าร่วมประมูลยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง และศาลได้มีคำสั่งให้ รฟม.ทุเลาการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา พร้อมสั่งให้ รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกกลับไปใช้เกณฑ์เดิมตามเงื่อนไขประมูล
(RFP) ที่ได้ออกไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม แม้ศาลจะมีคำสั่งทุเลาการบังคับใช้เกณฑ์คัดเลือกใหม่ แต่การที่ฝ่ายบริหาร รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกยังคงมีความพยายามที่จะประมูลภายใต้หลักเกณฑ์คัดเลือกใหม่ดังกล่าว จึงเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นว่า มีความพยายามที่จะแก้ไขเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่เอกชนบางราย สอดคล้องกับกรณีทุจริตในโครงการแอร์พอร์ตลิงค์ที่มีการแก้ไขเอกสารประกวดราคาจนทำให้รัฐเสียหาย จึงเชื่อว่าทั้งบริหาร รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกน่าจะมีชะตากรรมบน
บรรทัดฐานเดียวกับคดีแอร์พอร์ตลิงค์อย่างแน่นอน.