พิมพ์ไทยออนไลน์//เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2567 ที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เปิดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติในพื้นที่ภาคใต้ตามบทบาทภารกิจของกระทรวง พม. พร้อมมอบนโยบาย “การแก้ไขปัญหากลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติเนื่องจากสภาวะโลกร้อน” และ มอบข้อสั่งการการขับเคลื่อนศูนย์บริหารการดูแลกลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติ (ศบปภ.) โดยมี นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวง พม. พร้อมคณะผู้บริหาร หัวหน้าและเจ้าหน้าที่หน่วยงานทีม พม.หนึ่งเดียว จังหวัดในพื้นที่ภาคใต้เข้าร่วม จากนั้น ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการจัดตั้งศูนย์บริหารการดูแลกลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติ (ศบปภ.) ภาคใต้ ที่ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวภาคใต้ จังหวัดสงขลา
นายวราวุธ กล่าวว่า ปัจจุบันทุกภาคส่วนมีความตื่นตัวในการรับมือภัยพิบัติอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่กระทรวง พม. ได้กำหนดให้การจัดทำ “แผนการจัดการผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติต่อกลุ่มเปราะบาง” เป็นโครงการเรือธง (Flagship Project) และเมื่อเดือนตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา ได้จัดตั้งกลไกในการดูแลกลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติ ด้วยการจัดตั้ง “ศูนย์บริหารการดูแลกลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติ (ศบปภ.) หรือ Disaster Care Center for the Vulnerable : DCCV” เพื่อขับเคลื่อนงานให้ความช่วยเหลือเยียวยากลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติเชิงรุก รวมถึงมีการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนศูนย์ดังกล่าว ซึ่งมีคณะที่ปรึกษาติดตามและเร่งรัดขับเคลื่อนนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวง พม. รวมถึงปลัดกระทรวง พม. เป็นที่ปรึกษาคณะทำงาน และมีรองปลัดกระทรวง พม. เป็นประธานคณะทำงาน พร้อมคณะทำงาน ประกอบด้วย ผู้บริหารจากทุกกรม และทุกหน่วยงาน สังกัดกระทรวง พม. สำหรับการจัดทำแผนและเสนอมาตรการการให้ความช่วยเหลือ ดูแล และเยียวยากลุ่มเปราะบางที่ครอบคลุมทุกกลุ่ม โดยมีการจัดตั้ง ศบปภ. ภาคใต้ เป็นศูนย์นำร่องในจังหวัดสงขลาเป็นแห่งแรก
นายวราวุธ กล่าวว่า เนื่องจากกลุ่มเปราะบางเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อสภาพภูมิอากาศ (Climate risk) มากกว่า เพราะมีการเปิดรับต่อภัย (Exposure) และความอ่อนไหวต่อผลกระทบ (Sensitivity) มากกว่ากลุ่มคนทั่วไป ขณะเดียวกัน ศักยภาพในการปรับตัว (Adaptive capacity) ก็น้อยกว่าอีกด้วย ดังนั้นกระทรวง พม. จึงให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบางเป็นพิเศษ ซึ่งเราทำงานคำนึงถึงความเป็นธรรมทางภูมิอากาศ (Climate justice) การจัดการภัยพิบัติและการช่วยเหลือดูแลและเยียวยาประชาชน ไม่ใช่หน้าที่ของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเท่านั้น บทบาทหน้าที่ของกระทรวง พม. ได้ถูกกำหนดไว้อย่างชัดเจนในแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2558 ด้วยการสนับสนุนการปฏิบัติงานในภาวะฉุกเฉิน 6 (สปฉ. 6) ที่เกี่ยวข้องกับส่วนงานสวัสดิการสังคมและความมั่นคงของมนุษย์อย่างครอบคลุม อาทิ การประสานงานและสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว การแจกจ่ายสิ่งของที่จำเป็น การสังคมสงเคราะห์ การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สวัสดิการด้านสาธารณภัย การวางแผนความช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัย การดูแลบุคคลที่ต้องได้รับการดูแลเป็นกรณีพิเศษ การฟื้นฟูด้านสังคมและจิตใจ และการช่วยเหลือเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครที่พิการ เจ็บป่วย หรือบาดเจ็บจากการปฏิบัติงานขณะเกิดภัย
นายวราวุธ กล่าวว่า สำหรับการขับเคลื่อนเชิงนโยบายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กระทรวง พม. ได้ร่วมมือกับธนาคารโลกขับเคลื่อนงานด้านมิติทางสังคมของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Social Dimensions of Climate Change) ในภาพรวม ซึ่งสอดคล้องกับบทบาทของกระทรวง พม. ที่จะไม่เพียงการช่วยเหลือฟื้นฟูเท่านั้น แต่จะต้องสนับสนุนข้อมูลให้แก่จังหวัด ด้วยการชี้เป้าได้ว่ากลุ่มเปราะบางที่อยู่ในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการเกิดภัยคือใครบ้าง อาศัยอยู่ที่ไหนบ้าง และต้องได้รับการช่วยเหลือเฉพาะในเรื่องใดบ้าง เพื่อให้สามารถจัดลำดับความเร่งด่วนในการช่วยเหลือได้อย่างเหมาะสมและทันสถานการณ์ได้
“ขอเน้นย้ำว่าการบริหารจัดการภัยพิบัติ ทั้งในช่วงก่อน-ระหว่าง-หลังเกิดภัยพิบัติ จะต้องมองไปที่มิติของคนและสังคมมากขึ้น เพราะหากได้รับผลกระทบแล้ว จำเป็นที่จะต้องใช้เวลาในการฟื้นฟู และใช้ทรัพยากรเป็นอย่างมาก การจัดทำแผนปฏิบัติการหรือการปรับเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้กลุ่มเปราะบางที่ประสบภัยสามารถอยู่รอดและกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติโดยเร็ว ซึ่งจะทำให้ความสูญเสียมีน้อยลง” นายวราวุธ กล่าว #ข่าวพม #พม #ศรส #esshelpme #1300 #วราวุธศิลปอาชา #วราวุธรับฟังทำจริง #พมพอใจให้ทุกวัยพึงพอใจในพม #พมหนึ่งเดียว #จังหวัดสงขลา #การแก้ไขปัญหากลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติเนื่องจากสภาวะโลกร้อน :Cr;มณสิการ รามจันทร์