พิมพ์ไทยออนไลน์// เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2567 เวลา 09.00 น. นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) พร้อมด้วย ดร.สุวรรณา ศิลปอาชา ภริยา และนายอนันต์ ดนตรี รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมพิธีทางศาสนามหามงคล 5 ศาสนา ถวายพระราชกุศลเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ซึ่งจัดโดยกระทรวงวัฒนธรรม โดยมี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และนางพักตร์พิไล ทวีสิน ภริยา เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรี และผู้นำองค์การศาสนา 5 ศาสนา เข้าร่วมงาน ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล
รัฐบาล โดยกระทรวงวัฒนธรรม จัดพิธีทางศาสนาเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ระหว่างเดือนกรกฎาคม 2567 ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ โดยในส่วนกลาง จัดพิธีทางศาสนามหามงคล 5 ศาสนา ถวายพระราชกุศล เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 เพื่อรวมพลัง 5 ศาสนา ในการแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ถวายเป็นราชสักการะแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สร้างความสมานฉันท์ระหว่างศาสนิกชนศาสนาต่างๆ โดยมีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมทางจิตใจ
ทั้งนี้ พิธีทางศาสนา ประกอบด้วย 1. ศาสนาพุทธ พิธีเจริญพระพุทธมนต์ หรือการสวดมนต์ เป็นหลักสำคัญอย่างหนึ่งในพระพุทธศาสนา เพื่อจำหลักคำสอนที่เป็นพระพุทธวจนะเท่านั้น การได้ยินได้ฟังพระสงฆ์สวดสาธยาย ถือว่าเป็นสิริมงคล ประสิทธิ์ประสาทความเจริญ และสามารถที่จะป้องกันภัยอันตรายได้ 2. ศาสนาอิสลาม ประกอบพิธีดุอาอ์ขอพร เพื่อแสดงออกถึงการรำลึกถึงอัลลอฮ์ ซึ่งอิสลามสอนให้อ่านดุอาอ์ในเวลาและโอกาสต่างๆ 3. ศาสนาคริสต์ ประกอบพิธีอธิษฐานภาวนาขอพร เป็นรูปแบบความผูกพันระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า การภาวนาสำหรับชาวคริสต์ศาสนิกชนจึงเป็นสิ่งที่มนุษย์แสดงออกถึงความสัมพันธ์ดังกล่าว โดยมีบทภาวนาที่คริสต์ศาสนิกชนทุกคนสามารถอธิษฐานภาวนาร่วมกันได้ เพื่อแสดงความเป็นน้ำใจเดียวกัน 4. ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู สวดถวายพระพร เรียกว่า พรหมยัชญะและเทวยัชญะ เป็นหลักสำคัญ 2 ประการ ที่ผู้นับถือศาสนาฮินดูที่เคร่งจะต้องทำประจำวัน ที่เรียกว่า ปัญจมหายัชญะ คือการบูชาที่ยิ่งใหญ่ 5 ประการ และ 5. ศาสนาซิกข์ สวดอัรดาสขอพรจากพระศาสดา เป็นบทสวดเพื่อรำลึกถึงพระคุณของศาสดาขอให้พระองค์ประทานพร ปกป้องคุ้มครองศาสนิกชนทุกเชื้อชาติศาสนา
ในส่วนภูมิภาค ร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด 76 จังหวัด องค์กรทางศาสนา ทุกส่วนราชการ องค์กรภาครัฐ และองค์กรภาคเอกชน จัดพิธีทางศาสนามหามงคล ถวายพระราชกุศล เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ณ สถานที่เหมาะสม ของแต่ละศาสนา และรณรงค์เชิญชวนส่วนราชการ พ่อค้า ประชาชน ร่วมประดิษฐานพระฉายาลักษณ์ ประดับโคมไฟ ธงชาติ ธง วปร ณ สถานที่ราชการ วัด ศาสนสถาน สถานศึกษา สำนักงาน ตลอดถึงอาคารบ้านเรือนของประชาชน เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาฯ เป็นการแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และเป็นการส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนได้น้อมนำหลักธรรม และพิธีกรรมมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน อันเป็นการส่งเสริมคุณธรรมและเห็นคุณค่าของวัฒนธรรม พิธีกรรมที่ดีงาม ในการร่วมกันอนุรักษ์ สืบทอดอย่างยั่งยืนให้คงอยู่คู่ประเทศไทย ส่งเสริมให้ศาสนิกชนได้แสดงออกถึงความจงรักภักดี และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ อีกทั้ง ส่งเสริมให้ศาสนิกชนทุกศาสนานำหลักธรรมทางศาสนาเป็นเครื่องมือในการสร้างสติ สมาธิ และปัญญา นำมาประพฤติปฏิบัติเพื่อให้ประชาชนในสังคมมีความสามัคคี ปรองดอง ด้วยการทำกิจกรรมทางศาสนาร่วมกัน โดยมีสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงระหว่างสถาบันชาติ ศาสนา และประชาชน ทำให้ประเทศชาติเกิดความสันติสุข เป็นพลังในการขับเคลื่อน อันจะก่อให้เกิดความสมานฉันท์ระหว่างศาสนิกชนในสังคมอย่างยั่งยืนสืบไป#ข่าวพม #พม #ศรส #esshelpme #1300 #วราวุธศิลปอาชา #วราวุธรับฟังทำจริง #พมพอใจให้ทุกวัยพึงพอใจในพม #พมหนึ่งเดียว #พิธีทางศาสนามหามงคล5ศาสนา #เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา6รอบ28กรกฎาคม2567:Cr;มณสิการ รามจันทร์