วันอาทิตย์, กันยายน 8, 2024

หนังสือพิมพ์ พิมพ์ไทยออนไลน์

หน้าแรกข่าวเด่นประเด็นร้อนพม. เปิดเวทีอภิปรายเชิงวิชาการ "การยุติการลงโทษทางกายทุกรูปแบบต่อเด็ก"แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1567 (2) ส่งเสริมการเลี้ยงดูบุตรปราศจากความรุนแรง

พม. เปิดเวทีอภิปรายเชิงวิชาการ “การยุติการลงโทษทางกายทุกรูปแบบต่อเด็ก”แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1567 (2) ส่งเสริมการเลี้ยงดูบุตรปราศจากความรุนแรง

พิมพ์ไทยออนไลน์//เมื่อวันที่  23 กรกฎาคม 2567 เวลา 09.30 น. นายโชคชัย วิเชียรชัยยะ รองปลัดการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานพิธีเปิดการประชุมเพื่ออภิปรายเชิงวิชาการ หัวข้อ การยุติการลงโทษทางกายทุกรูปแบบต่อเด็ก เพื่อเสนอความเห็นสนับสนุนสภาผู้แทนราษฎรแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1567 (2) โดยมี นางเธียรทอง ประสานพานิช ผู้อำนวยการกองคุ้มครองเด็กและเยาวชน ร่วมการการเสวนาหัวข้อ “ความก้าวหน้าของประเทศไทยในการดำเนินงานตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กเพื่อยุติการลงโทษทางกายทุกรูปแบบต่อเด็กโดยการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1567(2)” ร่วมกับนายสรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์ อดีตกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ , รศ.พญ.วนิดา เปาอินทร์ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการคุ้มครองเด็ก , นายอัมรินทร์ เปล่งรัศมี ผู้อำนวยการกลุ่มละคนชุมชน “กั๊บไฟ” และนายอิลยา สมิร์นอฝฝ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิสายเด็ก 1387 ณ ห้องประชุมภาณุมาศชั้น 10 โรงแรมรอยัลริเวอร์ เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร

นางอภิญญา ชมภูมาศ อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน เปิดเผยว่า จากการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย พ.ศ. 2565 (Multiple Indicator Cluster Surveys programme – MICS) โดยองค์การยูนิเซฟประเทศไทยร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) พบว่า เด็กอายุ 1 – 14 ปี มากกว่าครึ่ง ที่ร้อยละ 53.8 หรือคิดเป็นเด็กจำนวน 5,439,835 คน ในประเทศไทย ได้รับการอบรมโดยวิธีการรุนแรง โดยมีเด็กจำนวน 3,902,930 คน (ร้อยละ 38.6) ได้รับการอบรมโดยการลงโทษทางร่างกายอย่างใดอย่างหนึ่ง ขณะที่เด็กจำนวน 101,112 คน (ร้อยละ 1) ได้รับการลงโทษทางร่างกายอย่างรุนแรงในช่วงหนึ่งเดือนที่มีการเก็บข้อมูล และที่น่าเป็นห่วงคือ แม่และผู้ดูแลเกือบ 2 ใน 5 เชื่อว่าการลงโทษทางร่างกายเด็กเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งการลงโทษทางร่างกายนอกจากจะส่งผลให้เด็กได้รับความบาดเจ็บทางร่างกายและจิตใจแล้ว ยังส่งผลต่อการส่งต่อความรุนแรงข้ามรุ่นและความรุนแรงต่อสังคม เพื่อเป็นการป้องกันและลดความเสี่ยงที่จะเกิดการทารุณกรรมต่อเด็กในครอบครัว จึงจำเป็นที่จะต้องแก้ไขกฎหมายให้กำหนดถึงการคุ้มครองเด็กที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามการแก้ไขประมวลกฎหมายที่กระทบต่อวิถีการอบรมเลี้ยงดูเด็กในประเทศไทยนั้น จำเป็นต้องคำนึงถึงมิติเชิงวัฒนธรรม การปรับแก้กฎหมายจึงต้องควบคู่ไปกับการส่งเสริมความเข้มแข็งแก่ครอบครัว เพราะครอบครัวคือสถาบันทางสังคมที่ใกล้ชิดและเป็นทุนทางสังคมที่สำคัญของเด็ก โดยต้องส่งเสริมให้ครอบครัวมีศักยภาพในการว่ากล่าวสั่งสอนเด็กแบบปราศจากความรุนแรง และมุ่งเน้นการเลี้ยงดูที่ส่งเสริมการสร้างวินัยเชิงบวก เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเด็ก ตลอดจนเปิดโอกาสให้เด็กได้มีส่วนร่วมในการสร้างวินัยของตนเองตามศักยภาพของพัฒนาการในแต่ละช่วงวัย การเลี้ยงดูเช่นนี้ นอกจากจะส่งผลดีต่อเด็กในระยะยาวแล้ว ยังส่งผลดีต่อสัมพันธภาพภายในครอบครัว ทำให้ครอบครัวอบอุ่นไปด้วยความรัก ความสามัคคี และเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างสมาชิกภายในครอบครัว

โดยที่ผ่านมาประเทศไทยได้ปฏิบัติตามข้อเสนอแนะการเพิกถอนการลงโทษทางร่างกายต่อเด็กในทุกสถานที่ ภายในกระบวนการรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทยภายใต้กลไก Universal Periodic Review (UPR) รอบที่ 2 (พ.ศ. 2559 – 2563) โดยในปี พ.ศ.2559 – ปัจจุบัน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน ได้ดำเนินการส่งร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1567 (2) ซึ่งการระบุถึงการทำโทษบุตรตามความสมควรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอน ที่ปรากฏอยู่เดิมตามที่กำหนดในมาตรา 1567 (2) นั้น เป็นที่ยากต่อการตีความและการบังคับใช้ให้สอดคล้องกับหลักการยึดถือประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ จึงมีการเสนอแก้ไขข้อความ (2) “ปรับปรุงพฤติกรรมบุตรด้วยการสอนที่เหมาะสมแก่วัย สติปัญญา สภาพร่างกายและจิตใจ โดยต้องไม่กระทำด้วยความรุนแรง หรือการเฆี่ยนตี หรือด้วยวิธีการอื่นใดที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพกาย สุขภาพจิต หรือพัฒนาการของบุตร” ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมการเลี้ยงดูบุตรในเชิงบวก และสนับสนุนการเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่ครอบครัวให้สามารถดูแลเด็กได้อย่างเหมาะสม

อีกทั้งกระทรวง พม. ยังได้เสนอนโยบาย 5 x 5 ที่มุ่งเน้นประเด็นสำคัญ 5 เรื่อง ได้แก่ การเสริมสร้างวัยทำงาน เพิ่มคุณภาพเด็ก สร้างพลังผู้สูงอายุ สร้างคุณค่าผู้พิการ และสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีครอบครัว เพื่อเพิ่มคุณภาพเด็กผ่านการส่งเสริมสถาบันครอบครัวให้มีความเข้มแข็ง เด็กได้เติบโตในครอบครัวที่อบอุ่น ปลอดภัย เป็นครอบครัวที่สามารถให้ความรักและขัดเกลาทางสังคมแก่เด็กผ่านการสร้างวินัยเชิงบวก โดยปราศจากความรุนแรง ตามที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก และพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546

ทั้งนี้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้รับมอบหมายโดยคณะกรรมการประสานงาน
สภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) ให้เป็นผู้แทนคณะรัฐมนตรีในการรับร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่..) พ.ศ. … ที่เสนอโดย นายณัฐวุฒิ บัวประทุมและคณะ ในวันพุธที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ.2567 ที่จะถึงนี้ ซึ่งปัจจุบันการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวยังอยู่ในขั้นตอนของการลงมติของสภาผู้แทนราษฎร หากได้รับการอนุมัติจากสภาผู้แทนราษฎรก็จะเข้าสู่กระบวนการของการรับฟังความคิดเห็นต่อไปในอนาคต การอภิปรายในวันนี้เป็นโอกาสดีที่จะสร้างการตระหนักรู้ และมีส่วนร่วมต่อการเสนอความเห็นที่เกี่ยวข้อง ที่จะนำไปสู่การคุ้มครองโดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กอย่างแท้จริง เพื่อให้เด็กสามารถเติบโตเป็นพลเมืองของประเทศและพลเมืองของโลกที่มีคุณภาพต่อไป :Cr;มณสิการ รามจันทร์ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวใหม่