พิมพ์ไทยออนไลน์//เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 67 เวลา 09.30 น. นายโชคชัย วิเชียรชัยยะ รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานพิธีเปิดงานและปาฐกถาพิเศษ เนื่องในวันส่งเสริมอินเทอร์เน็ตปลอดภัยแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2567 ภายใต้แนวคิด “สานพลัง ร่วมสร้างสภาพแวดล้อมทางดิจิทัลที่ปลอดภัยสำหรับเด็กและเยาวชน” พร้อมกิจกรรมเสวนาเรื่อง “รับมืออย่างไร…กับภัยออนไลน์ในยุคดิจิทัล” และพิธีมอบโล่แก่จังหวัดดีเด่นด้านการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้และการรู้เท่าทันสื่อ และเมืองสวัสดิการหนังสือเพื่อเด็กปฐมวัย ณ ห้องประชุม ชั้น 2 อาคารกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวง พม. สะพานขาว กทม.
นายโชคชัย กล่าวว่า ความสำคัญของวันอินเทอร์เน็ตปลอดภัย หรือ Safer Internet Day ซึ่งคณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อปี พ.ศ. 2566 กำหนดให้วันอังคารสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี เป็นวันอินเทอร์เน็ตปลอดภัยแห่งชาติ และปีนี้ตรงกับวันที่ 6 กุมภาพันธ์ โดยจะมีการจัดกิจกรรมใน 190 ประเทศ และเขตปกครอง เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาออนไลน์ที่กำลังเกิดขึ้น และข้อห่วงกังวลต่างๆ สำหรับประเทศไทย ได้เร่งบูรณาการความร่วมมือและขับเคลื่อนการดำเนินงาน โดยเฉพาะการนำแนวปฏิบัติที่ดีทั้งในประเทศและต่างประเทศมาประยุกต์ใช้ในการสร้างพื้นที่ปลอดภัยบนอินเทอร์เน็ตสำหรับเด็กและเยาวชนอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ อินเทอร์เน็ตมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของเราเป็นอย่างมาก ทั้งช่วยอำนวยความสะดวกในการติดต่อสื่อสาร การทำให้โลกของเรามีการเชื่อมต่อกันมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเหล่านั้นก็มาพร้อมความเสี่ยงและภัยออนไลน์รูปแบบใหม่ๆ เช่นกัน อาทิ ข้อมูลจาก “รายงานหยุดยั้งอันตรายในประเทศไทย” ซึ่งจัดทำโดยยูนิเซฟ ร่วมกับเอ็คแพทและอินเตอร์โพล พบว่า ในปี 2564 มีเด็กไทยอายุ 12-17 ปี ประมาณ 400,000 คน ตกเป็นผู้เสียหายจากการถูกแสวงหาประโยชน์และการล่วงละเมิดทางเพศทางออนไลน์ อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานเพื่อคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากภัยออนไลน์ พบว่า ยังมีข้อท้าทายในการขับเคลื่อน ไม่ว่าจะเป็นความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี จำนวนเด็กที่ตกเป็นผู้เสียหาย ความซับซ้อนของรูปแบบที่เพิ่มมากขึ้น เป็นต้น ดังนั้น องค์กรและผู้ปฏิบัติงานต้องรู้เท่าทันกลวิธีของผู้กระทำผิด รวมถึงพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู และบุคคลที่แวดล้อมตัวเด็ก ต้องตระหนักว่าทุกคนมีส่วนสำคัญในการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากภัยออนไลน์
นายโชคชัย กล่าวต่อไปว่า วันส่งเสริมอินเทอร์เน็ตปลอดภัยแห่งชาติ เป็นเหมือนหมุดหมายให้เราทุกคนตระหนักถึงความรับผิดชอบร่วมกัน ในการส่งเสริมสภาพแวดล้อมทางดิจิทัลที่ปลอดภัย ครอบคลุม และสร้างศักยภาพสำหรับทุกคนในสังคม เมื่อเด็กและเยาวชนเป็นพลังสำคัญของชาติ เราทุกคนก็มีหน้าที่ช่วยเสริมพลังนั้น กระทรวง พม. จึงมุ่งทำงานเชิงรุก โดยส่งเสริมความเข้มแข็งของกลไกคณะกรรมการคุ้มครองเด็กจังหวัด คณะกรรมการคุ้มครองเด็กกรุงเทพฯ ให้ทันต่อสถานการณ์เด็กและเยาวชน ส่งเสริมความเข้มแข็งของจังหวัด สนับสนุนกิจกรรมเมืองรู้เท่าทันสื่อ พัฒนาพื้นที่การเรียนรู้ เพื่อเสริมทักษะของเด็กและเยาวชนให้รู้จักนำพาตนเองให้พ้นจากความเสี่ยง ส่งเสริมความเข้มแข็งของกลไกการช่วยเหลือที่รวดเร็ว ต่อเนื่อง ผ่านศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) ส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชน โดยขยายศูนย์ชุมชนคุ้มครองเด็ก ให้ครอบคลุมการส่งเสริมปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชน ทั้งในออนไลน์และออฟไลน์ให้ครบทุกตำบล และส่งเสริมความเข้มแข็งของเด็กและเยาวชนให้ช่วยเป็นเครือข่ายในการสื่อสารระหว่างเด็กด้วยกัน
นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา กล่าวว่า รางวัลเชิดชูจังหวัดดีเด่นด้านการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ และการรู้เท่าทันสื่อ และเมืองสวัสดิการหนังสือเพื่อเด็กปฐมวัย เป็นการเชิดชูเกียรติและยกย่องจังหวัดหรือพื้นที่ และหน่วยงานภายในจังหวัดหรือพื้นที่ดังกล่าว ที่แสดงเจตนารมณ์อย่างชัดเจนต่อสังคม พร้อมกำหนดนโยบาย วางแผน และตั้งคณะทำงานเป็นการเฉพาะ ตลอดจนดำเนินการตามแผนที่วางไว้อย่างเป็นรูปธรรม ในการร่วมขับเคลื่อนตามมติคณะรัฐมนตรีว่าด้วยการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้และการรู้เท่าทันสื่อ ที่มีมติเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2564 โดยวัตถุประสงค์สำคัญในการมอบรางวัลครั้งนี้ เพื่อต้องการสร้างพลังบวก และขวัญกำลังใจแก่จังหวัดหรือพื้นที่ที่ร่วมขับเคลื่อนนโยบายระดับชาติด้านสื่อเพื่อเด็ก
นางญาณี รัชต์บริรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสี่อและสุขภาวะทางปัญญา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ภัยคุกคามด้านเทคโนโลยีสารสนเทศมีหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะภัยจากข้อมูลที่ไม่เหมาะสมที่เผยแพร่ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต สร้างความเสียหาย และส่งผลกระทบต่อสังคมไทยเป็นอย่างมาก ดังจะเห็นได้จากผลการสำรวจของภาคีเครือข่าย สสส. ในปี 2566 ที่พบว่า เด็กและเยาวชนเล่นพนันออนไลน์กว่า 2.9 ล้านคน ในจำนวนนี้มีถึง 1.4 ล้านคน เสี่ยงเป็นนักพนันที่เป็นปัญหา และเป็นผู้เล่นหน้าใหม่สูงถึง 700,000 คน เล่นพนันผ่านช่องทางโทรศัพท์มือถือมากถึงร้อยละ 98.7 แสดงให้เห็นว่าเด็กและเยาวชนมีโอกาสเป็นผู้เสพติดพนันสูงกว่าผู้ใหญ่ ทั้งนี้ สสส. ตระหนักถึงความสำคัญของการสื่อสารสู่สังคมผ่านเวทีสาธารณะ จึงได้สานพลังภาคีเครือข่าย จัดเวทีเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรื่อง “รับมืออย่างไร… กับภัยออนไลน์ในยุคดิจิทัล” ให้สังคมไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาการสื่อสารผ่านสื่อ นำเสนอข้อมูลข่าวสารทั้งด้านสถานการณ์การใช้สื่อของเด็กและเยาวชน ทั้งภัยจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ภัยจากการพนันออนไลน์ ภัยจากการแสวงประโยชน์ทางเพศต่อเด็ก รวมถึงการปกป้องคุ้มครองเด็กให้ปลอดภัย และที่สำคัญ คือ เวทีเสวนาดังกล่าวยังสอดรับกับแนวคิดหลัก (Theme) ของวันอินเทอร์เน็ตปลอดภัยสากล ประจำปี ค.ศ.2024 ที่ว่า “Together for a safer internet : สานพลังเพื่ออินเทอร์เน็ตที่ปลอดภัยยิ่งขึ้น”
ดร.ธีรารัตน์ พันทวี วงศ์ธนะเอนก นายกสมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กเยาวชน (สสดย.) กล่าวว่า สสดย. เสนอแนวคิดการจัดเสวนาในครั้งนี้ เนื่องจากภัยออนไลน์ส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนอย่างรุนแรงและกว้างขวาง ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สติปัญญา และสังคม จึงควรสร้างความตระหนักรู้ และความฉลาดรู้เท่าทันภัยออนไลน์ เพื่อก่อให้เกิดภูมิคุ้มกันในการจัดการกับปัจจัยเสี่ยงที่อยู่รอบตัวในโลกออนไลน์ เวทีเสวนาครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก รศ.จุมพล รอดคำดี ประธานเครือข่ายเสริมสร้างอินเทอร์เน็ตปลอดภัยประเทศไทย เป็นผู้ให้แนวคิดสำคัญในการรับมือภัยออนไลน์ในยุคดิจิทัล รวมถึงมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญมากมาย ทั้งจากกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี กรมสอบสวนคดีพิเศษ กรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย ตลอดจนประธานสภานักเรียน ที่ได้มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และทาง สสดย. ได้นำข้อเสนอที่ได้จากเวทีเสวนา ส่งมอบต่อภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นการประกาศสู่สาธารณะ พร้อมติดตามการนำไปขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรมในอนาคต#ช่วย24ชั่วโมง #พม24ชม #ข่าวพม #esshelpme #วราวุธรับฟังทำจริง #พมพอใจให้ทุกวัยพึงพอใจในพม #พมหนึ่งเดียว #ศรส #พม #วันอินเทอร์เน็ตปลอดภัย #ป้องกันภัยคุกคามออนไลน์ #เด็กและเยาวชน:Cr;มณสิการ รามจันทร์