พิมพ์ไทยออนไลน์//เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2566 ณ โรงเรียนวัดนานอน ตำบลนาท่ามใต้ อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดตรัง ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลนาท่ามใต้ จัดโครงการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว ประจำปี 2566 ภายใต้แนวคิด “รวมพลังหยุดความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว” (Unite for the Prevention of Violence Against Women & Children)
โดยมี นางสาวโสพิญฐ์ สุวรรณหงส์ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดตรัง เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ และมีนายชาลี เมืองนก นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาท่ามใต้ เป็นผู้กล่าวรายงานสรุปความเป็นมา และวัตถุประสงค์ของโครงการฯ กลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย คณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาครอบครัวจังหวัดตรัง เจ้าหน้าที่หน่วยงานในสังกัดกระทรวง พม. (One Home) จังหวัดตรัง สภาเด็กและเยาวชนจังหวัดตรัง อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) ครูและนักเรียนโรงเรียนวัดนานอน ตลอดจนเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบลนาท่ามใต้ กว่า 100 คน ร่วมเดินขบวนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว ประจำปี พ.ศ. 2566 พร้อมแจกเอกสารเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ช่องทางการแจ้งเหตุสายด่วน 1300 และ LINE APPlICATION @ESS HELP ME เมื่อพบเจอ หรือประสบเหตุความรุนแรง ตลอดจนให้ข้อมูล ตอบข้อซักถาม แก่ประชาชนตลอดเส้นทางที่ขบวนเคลื่อนผ่านระยะทางประมาณ 2 กม.
นางสาวโสพิญฐ์ กล่าวว่า ก่อนที่จะมีการจัดงานเดินรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัวจังหวัดตรังในวันนี้ เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา พม.จังหวัดตรัง ได้เชิญชวนผู้บริหาร และหัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดตรังติดเข็มกลัดริบบิ้นขาว (White Ribbon) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงออกเพื่อรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัวร่วมกันแล้ว นำโดย นายทรงกลด สว่างวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัด รักษาราชการแทน ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง สำหรับกิจกรรมเดินรณรงค์ยุติความรุนแรงฯ ในวันนี้ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เห็นความสำคัญของ “การรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว” จึงได้ขอความร่วมมือทุกจังหวัดจัดกิจกรรมเพื่อ Kick Off รณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว และถ่ายทอดสด ผ่าน Facebook fanpage กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว โดยพร้อมเพรียงกันทั่วประเทศ อีกด้วย
นางสาวโสพิญฐ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี บุคคลในครอบครัว และความรุนแรงในสังคมทุกรูปแบบ เป็นปัญหาสำคัญที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาสังคมและประเทศชาติ ก่อให้เกิดความเสียหายมากมาย ซึ่งปรากฏให้เห็นมาเป็นเวลานาน และมีแนวโน้มมากขึ้นทุกปี ผู้ถูกกระทำส่วนใหญ่มักจะเป็นเด็กและสตรี ต้นเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นมากที่สุด คือ 1. เมาสุรา/ยาเสพติด 2.ปัญหาสุขภาพกาย/จิต และ 3.นอกใจ/หึงหวง ตามลำดับ
ทั้งนี้ ปัญหาความรุนแรงไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตในระดับปัจเจกบุคคลเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เศรษฐกิจ และสังคมโดยรวมอีกด้วย จึงขอเชิญชวนทุกคนร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ในการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี บุคคลในครอบครัว และความรุนแรงในสังคมทุกรูปแบบ ด้วยการรวมพลังหยุดความรุนแรงฯ หากพบเห็นสามารถแจ้ง ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน 1300 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือ แจ้งผ่านระบบแจ้งเหตุฉุกเฉินทางสังคม ปักหมุด หยุดเหตุ Ess Help Me ซึ่งเป็นระบบแจ้งเหตุฉุกเฉินทางสังคม ที่ทุกคนสามารถโหลดติดมือถือไว้ เพื่อจะได้ช่วยเหลือทุกคนได้ หากตกอยู่ในสถานการณ์อันตราย เช่น ถูกทำร้ายร่างกาย/ข่มขู่ว่าจะทำร้าย ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ถูกกักขังหน่วงเหนี่ยว หรือพบเห็นผู้คลุ้มคลั่งก่อให้เกิดเหตุร้าย และการมั่วสุมก่อให้เกิดเหตุร้ายสามารถกดแจ้งเหตุผ่านไลน์ ESS เพื่อแจ้งเจ้าหน้าที่เข้าไประงับเหตุได้อย่างทันท่วงทีด้วยระบบ Line OA ที่ช่วยสร้างความปลอดภัย แก่ตัวเองและชุมชนเพียงแชร์ให้เพื่อน แอดไลน์ @esshelpme หรือคลิกลิงก์ https://lin.ee/GetbF8D
:Cr;มณสิการ รามจันทร์