วันจันทร์, พฤศจิกายน 25, 2024

หนังสือพิมพ์ พิมพ์ไทยออนไลน์

หน้าแรกข่าวเด่นประเด็นร้อนข่าวกีฬาสถาบันการสร้างชาติฯ จัดประชุม ICPDN 2023 ระดมผู้ทรงคุณวุฒิทั่วโลกถกเรื่องการพัฒนาที่มีคนเป็นศูนย์กลางเพื่อสันติภาพ

สถาบันการสร้างชาติฯ จัดประชุม ICPDN 2023 ระดมผู้ทรงคุณวุฒิทั่วโลกถกเรื่องการพัฒนาที่มีคนเป็นศูนย์กลางเพื่อสันติภาพ

พิมพ์ไทยออนไลน์//สถาบันการสร้างชาตินานาชาติ (Nation-Building Institute International (NBII)) และองค์กรพันธมิตรระดับโลก ร่วมจัดการประชุมนานาชาติว่าด้วยสันติภาพ การพัฒนา และการสร้างชาติ 2566 (The International Conference on Peace, Development and Nation-Building (ICPDN) 2023) ในหัวข้อ “การพัฒนาที่มีคนเป็นศูนย์กลางเพื่อสันติภาพ” (Human-Centred Development for Peace) เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2566 ณ ห้องประชุม คอมพัส แคมพัส บางนา-ตราด โดยมีผู้นำ ผู้บริหารระดับสูง ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ และผู้สนใจกว่า 2,000 คน ทั้งออนไซต์และออนไลน์ จากทั่วโลกเข้าร่วม

โดยวัตถุประสงค์การจัดประชุมเพื่อการระดมความเห็นและนำเสนอผลงานวิชาการล่าสุดจากนานาชาติเกี่ยวกับการสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในชุมชน ประเทศ และ โลก ด้วยกระบวนการพัฒนาที่มีคนเป็นศูนย์กลาง มุ่งผลลัพธ์การพัฒนาที่ทำให้มนุษย์มีสันติสภาพ (Total Peace) หรือสันติภาพที่ครบถ้วนใน 4 ระบอบชีวิต อันได้แก่ 1) สันติในระบอบปัจเจก (Human Order) หรือ สันติสุข (Inner Peace) 2) สันติในระบอบชุมชน (Community Order) หรือ สันติภาพ (Commune Peace) 3) สันติในระบอบธรรมะ/เทวะ (Devine Order) หรือ สันติธรรม (Divine Peace) และ 4) สันติในระบอบธรรมชาติ (Nature Order) หรือ สันตินิเวศน์ (Nature Peace) ผ่านการพัฒนาคนให้มี “กระบวนธรรมะ ปัญญา รู้ คิด” เพื่อจะมีสัมมาทิฏฐิ การพัฒนากลไกที่จะช่วยสมานความคิดเห็นที่แตกต่าง เช่น การพัฒนากระบวนการ “อารยสนทนา” ในสังคม การเผยแพร่หลักยึดในสังคมที่จะช่วยลดความขัดแย้ง เช่น หลักปรัชญาอารยะ และ ธรรมะสากล (Universal Dharma) 10 ประการ การให้ความรู้และความเข้าใจประชาชนในการอยู่ร่วมกัน เช่น การมีสิทธิเสมอหน้าที่ หรือ ทัศนคติแบบ “อารักขาโลก” และ การยึดแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมืองที่มีคนเป็นศูนย์กลาง (ทุนนิยมคุณธรรม สังคมพหุเอกานิยม และอารยาธิปไตยหรือการเมืองประชาธิปไตยบนฐานธรรมาธิปไตย)

การประชุม ICPDN 2023 ได้รับเกียรติจากผู้นำและผู้ทรงคุณวุฒิระดับสูง ร่วมกล่าวปาฐกถา อาทิ ศ.ดร.นายแพทย์กระแส ชนะวงศ์ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ, ฯพณฯ ดร.โภคิน พลกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตประธานรัฐสภาไทย, คุณตะวักกัล กัรมาน ผู้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำ พ.ศ. 2554, ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ประธานสถาบันการสร้างชาตินานาชาติ ประเทศไทย,ดาโต๊ะ ดร.เจสซี่ ถัง ประธานสถาบันการสร้างชาติ ประเทศมาเลเซียผู้เข้าร่วมการประชุมยังได้รับฟังข้อมูล ความเห็น และผลการศึกษา ในการประชุมแต่ละช่วงและในการประชุมกลุ่มย่อย จากผู้ทรงคุณวุฒิและนักวิชาการจากทั่วโลก

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ หรือ ดร.แดน นักวิชาการอาวุโส มหาวิยาลัยฮาร์วาร์ด และประธานสถาบันการสร้างชาติ ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “Human-Centred Development for Peace” โดยมีเนื้อหาว่า “สันติภาพเป็นประเด็นที่โลกต้องการ และ หาทางออก เนื่องจาก ความขัดกันของมนุษย์เป็นเรื่องธรรมชาติ เกิดขึ้นได้ทุกวัน เกิดขึ้นได้ทุกระดับ ตั้งแต่ในตัวเราเอง ในครอบครัว ในองค์กร ในชุมชน ในประเทศ หรือในระหว่างประเทศ และในปัจจุบันสันติภาพโลกมีแนวโน้มที่ถดถอยลงต่อเนื่อง พิจารณาจากดัชนี Global Peace Index ในรอบ 12 ปีที่ผ่านมา ค่าดัชนีแต่ละปีที่วัดเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า (y-o-y) มีลักษณะถดถอยลงถึง 9 ครั้ง สันติภาพเป็นเงื่อนไขสำคัญของการพัฒนา เพราะสันติภาพทำให้สภาพแวดล้อมที่มั่นคงและปลอดภัยแก่ปัจเจกบุคคล ชุมชน ซึ่งส่งเสริมความสามัคคีทางสังคมและความไว้วางใจระหว่างบุคคลและชุมชน รวมทั้งส่งเสริมให้มีการจัดสรรและการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้สภาพแวดล้อมที่มีสันติภาพยังเอื้ออำนวยให้เกิดการพัฒนาทุนมนุษย์ได้อย่างเต็มที่ และส่งเสริมความยุติธรรมทางสังคม การพัฒนาแบบมีส่วนร่วม” การสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในชุมชน ประเทศ และ โลก ต้องเริ่มต้นจากความเข้าใจเรื่องสันติภาพเสียก่อน

โดย ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ อธิบายว่า สันติสภาพ (Total Peace) เป็นคำศัพท์ใหม่ที่ผมสร้างขึ้นมาเพื่ออธิบายว่าสันติที่แท้จริงนั้นต้องครบถ้วนใน 4 ระบอบชีวิต ได้แก่ 1) สันติในระบอบปัจเจก (Human Order) หรือ สันติสุข (InnerPeace) 2) ระบอบชุมชน (Community Order) หรือ สันติภาพ (CommunePeace) 3) ระบอบธรรมะ/เทวะ (Devine Order) หรือ สันติธรรม (DivinePeace) 4) ระบอบธรรมชาติ (Nature Order) หรือ สันตินิเวศน์ (NaturePeace) โดยแต่ละระบอบอาจมีความขัดแย้งหรือไม่สมดุลเกิดขึ้น ทำให้เป็นอุปสรรคในการเกิดสันติสภาพ ขณะที่การส่งเสริมการพัฒนาที่มีคนเป็นศูนย์กลาง คือ ความพยายามในตอบสนองความต้องการของมนุษย์ ภายใต้ข้อจำกัดหรือความไม่สมดุลของระบอบทั้งสี่นี้“ผมเสนอว่าในการพัฒนาที่คนเป็นศูนย์กลางเพื่อให้เกิดสันติสภาพนั้นต้องเริ่มจากการพัฒนาคนให้มีสัมมาทิฏฐิ สร้างคนให้มี “กระบวนธรรมะ ปัญญา รู้ คิด” เพื่อลดความเห็นที่ขัดกัน จากนั้นควรส่งเสริมกลไกคนที่จะช่วยสมานความคิดเห็นที่แตกต่าง เช่น อารยสนทนา 12 ขั้นตอน รวมทั้งเผยแพร่หลักยึดในสังคมที่จะช่วยลดความขัดแย้ง เช่น การมีหลักปรัชญาปัจเจกอารยะ (ดีแท้ งามแท้ จริงแท้) ปรัชญาสังคมอารยะ (เสรีภาพแท้ เสมอภาคแท้ ภราดรภาพแท้) เป็นเครื่องกรองตัดสินใจ และเผยแพร่แนวคิดเรื่องธรรมะสากล ซึ่งเป็นตัวร่วมต่ำสุด 10 ประการที่ทุกคนสามารถยอมรับยึดไว้เป็นหลักธรรมประจำใจร่วมกันได้ และที่สำคัญต้องยึดแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมืองที่มีคนเป็นศูนย์กลาง เศรษฐกิจทุนนิยมคุณธรรม สังคมพหุเอกานิยม และ อารยาธิปไตยหรือการเมืองประชาธิปไตยบนฐานธรรมาธิปไตย”

“นอกจากนี้ผมได้มีส่วนผลักดันให้เกิดการสร้างสันติสภาพอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน โดยการจัดตั้งศูนย์สันติสภาพ การพัฒนาและการสร้างชาติ (Centre of Peace, Development and Nation-Building – CPDN) ขึ้นมาเพื่อวิจัยและพัฒนา ถ่ายทอดองค์ความรู้ ให้คำปรึกษา พัฒนาบุคลากร ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการจัดการความขัดแย้งและสร้างสันติสภาพให้กับหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งมีโครงการที่จะจัดทำ Global Total Peace Index เพื่อจัดอันดับสันติสภาพของประเทศต่างๆ ทั่วโลก เพื่อเปรียบเทียบ เรียนรู้จากประเทศต่างๆ และโครงการอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก โดยเชื่อมั่นว่าสิ่งที่ทำนั้นจะส่งผลให้เกิดการขับเคลื่อนในการสร้างสังคมไทยให้มีสันติสภาพที่แท้จริงที่จะเอื้ออำนวยต่อการสร้างชาติไทยให้เจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืนได้ต่อไป” ดร.แดนกล่าวสรุป :Cr;มณสิการ รามจันทร์ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวใหม่