พิมพ์ไทยออนไลน์//เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 66 เวลา 08.00 น. นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาระบบการดูแล ช่วยเหลือเด็กเยาวชนด้อยโอกาส เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาและสังคม (ระบบการขอรับการช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาทางสังคม ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ : อพม. Smart) ลงนามโดย นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และนายไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พร้อมทั้งพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือในการพัฒนาระบบการแจ้งเหตุ ช่วยเหลือ และส่งต่อเด็กเยาวชนด้อยโอกาส เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาและสังคม (ระบบแจ้งเหตุฉุกเฉินทางสังคม Emergency Social Services : ESS Thailand) ลงนามโดยนายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พลตํารวจเอกดํารงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และนายไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา จากนั้น พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับฟังการนำเสนอระบบแจ้งเหตุฉุกเฉินทางสังคม (Emergency Social Services : ESS Thailand) ซึ่งมีคณะผู้บริหารกระทรวง พม. และผู้แทนภาคีเครือข่าย เข้าร่วม ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล
นายจุติ กล่าวว่า ระบบแจ้งเหตุฉุกเฉินทางสังคม หรือ ESS เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวง พม. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และกองทุนเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ซึ่งจะเปิดให้บริการประชาชนตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2566 เป็นต้นไป โดย ESS เป็นระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่จะเข้ามาช่วยเหลือประชาชนที่ประสบเหตุฉุกเฉินที่ต้องการความช่วยเหลือโดยเร็วที่สุด เพื่อลดการบาดเจ็บและสูญเสียชีวิต ไม่ว่าจะมาจากสาเหตุ 1) ข่มขู่ว่าจะทำร้ายหรือทำร้าย 2) กักขังหน่วงเหนี่ยว 3) เสี่ยงถูกล่วงละเมิดทางเพศ 4) ผู้คลุ้มคลั่งก่อให้เกิดเหตุร้าย และ 5) มั่วสุมจนก่อให้เกิดเหตุร้าย ทั้งนี้ ผู้ประสบเหตุฉุกเฉินเพียงแจ้งผ่าน Line OA แล้วค้นหาชื่อคำว่า ESS Help Me และแชร์พิกัดจุดเกิดเหตุ จากนั้น ESS จะแจ้งเตือนเจ้าหน้าที่ในระบบทันทีเพื่อให้เข้าไปช่วยเหลือ ณ จุดเกิดเหตุโดยเร็วที่สุด อีกทั้งมี Function พิเศษ คือ การแจ้งเหตุฉุกเฉินในกรณีที่ผู้ถูกกระทำไม่สามารถใช้เสียงได้ นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ในระบบยังสามารถติดตามการช่วยเหลือในรูปแบบ Real Time และนำข้อมูลการแจ้งเหตุมาใช้ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาเชิงรุกต่อไปได้
นายจุติ กล่าวต่อไปว่า ESS เป็นระบบที่ตำรวจภูธรภาค 6 รับผิดชอบพื้นที่ 9 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร ตาก นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุตรดิตถ์ และอุทัยธานี ได้ทดลองใช้มาแล้ว 9 เดือน และสามารถเห็นผลได้ จึงได้มีการพัฒนาต่อเนื่อง โดยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยศึกษาและพัฒนาระบบจาก กสศ. นำมาสู่การลงนามความร่วมมือในวันนี้ และจะขยายผลการใช้ระบบนี้ไปยังทั่วประเทศ โดยจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 5 เมษายน 2566 เพื่อเป็นของขวัญประชาชนในวันครอบครัวและวันผู้สูงอายุแห่งชาติ ทั้งนี้ ESS ถือเป็นระบบที่ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด ซึ่งมีครู สภานักเรียน สภาเด็กและเยาวชน ลูกเสือไซเบอร์ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) และชุมชน รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่สามารถเข้ามาเป็นสมาชิกในระบบได้ เพื่อร่วมตอบโจทย์ 1) พื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก 2) โรงเรียนปลอดภัย 3) การป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยเรียน 4) ปัญหายาเสพติด 5) การลดความรุนแรงในสังคม และ 6) ภัยอาชญากรรมทางออนไลน์
นายจุติ กล่าวต่อไปอีกว่า ตนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวง พม. มา 4 ปี มีความภูมิใจกับผลงานชิ้นนี้ ถือว่าคุ้มที่สุด เพราะคนทุกกลุ่มทุกช่วงวัยสามารถใช้เครื่องมือนี้ได้หมด เป็นการผ่าตัดศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 ให้สามารถตอบโจทย์ในมิติต่างๆ เพราะหลังโควิด – 19 ไม่สามารถทำงานแบบเดิมได้ จะต้องบูรณาการทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อเข้าถึงปัญหาและนำไปสู่การป้องกันและแก้ไขให้เบ็ดเสร็จ เป็นการปักหมุด หยุดเหตุได้ทันท่วงที”
นายจุติ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับ อพม. Smart เป็นระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่เข้ามาช่วยอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) ทั่วประเทศให้สามารถทำงานช่วยเหลือเด็กเยาวชนด้อยโอกาสที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนทางสังคมและการศึกษา ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพียง อพม. เข้าระบบ อพม.Smart ในโทรศัพท์มือถือแล้วแจ้งเหตุผู้ประสบปัญหาและส่งข้อมูลขอรับความช่วยเหลือ จากนั้นระบบจะมีการประมวลผลและติดตามการช่วยเหลือในรูปแบบ Real Time อีกด้วย :Cr;มณสิการ รามจันทร์ #ช่วย24ชั่วโมง #พม24ชม #ข่าวพม