พิมพ์ไทยออนไลน์//ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 20 ก.ค. 63 เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุม ชั้น 2 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม)นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศเป็นประธานในพิธีประกาศเจตนารมณ์ “การส่งเสริมความเสมอภาคและขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ” จัดขึ้นโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และมีหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน จำนวน 39 หน่วยงาน เข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์ฯ โดย นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวรายงานความเป็นมาและวัตถุประสงค์การจัดงาน และนายปรเมธี วิมลศิริ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พร้อมด้วยนางสาวอุษณี กังวารจิตต์ อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว และคณะผู้บริหาร พม. เข้าร่วมงานดังกล่าว
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ กล่าวว่า ขอแสดงความชื่นชมกับทุกหน่วยงานที่เข้าร่วมลงนามประกาศเจตนารมณ์ “การส่งเสริมความเสมอภาคและขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ” ในวันนี้ ซึ่งเป็นครั้งที่ 2 โดยครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 มีนาคมที่ผ่านมาได้มี 24 หน่วยงานจากทั้งภาครัฐ สถาบันการศึกษาและภาคเอกชน ได้ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ฯ และแสดงถึงความมุ่งมั่นที่จะร่วมสร้างให้สังคมไทยตระหนักถึงความเสมอภาค และขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ ร่วมกันป้องกันมาให้มีการกระทำใด ๆ อันเป็นการแบ่งแยกกีดกัน หรือจำกัดสิทธิประโยชน์ เพียงเพราะบุคคลนั้น เป็นเพศชาย เพศหญิง หรือบุคคลที่แสดงออกแตกต่างจากเพศกำเนิด
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ กล่าวต่อไปว่า ในการประกาศเจตนารมณ์ฯ ครั้งแรก ได้เคยกล่าวไว้ว่าอยากเห็นหน่วยงานภาครัฐ และภาคธุรกิจ ที่มีความพร้อมเข้ามาร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ฯ ให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น และผมในฐานะที่เป็นนักการเมืองด้วย เห็นว่าพรรคการเมืองควรจะมีบทบาทในการประกาศเจตนารมณ์ร่วมกับทุกภาคส่วนและจากการรายงานความก้าวหน้าของหน่วยงานที่มาร่วมประกาศเจตนารมณ์ฯ เมื่อวันที่ 2 มีนาคมที่ผ่านมา ยกตัวอย่างเช่น ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี และจังหวัดปทุมธานี ได้ประกาศเจตนารมณ์ เรื่องการส่งเสริมความเสมอภาคและขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มีการพิจารณาเรื่องประกาศการแต่งกายตามเพศสภาพ การจัดทำห้องน้ำ All Gender ภายในหมาวิทยาลัย เป็นต้น นอกจากนี้ การดำเนินงานเพื่อส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ จำเป็นต้องเร่งรัดการดำเนินงาน 3 ประการ คือ 1) มุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์พ.ร.บ. ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ให้ทุกคนได้รับรู้และเข้าถึงง่าย 2) ปรับเจตคติและค่านิยมของคนในสังคมให้คำนึงถึงความเสมอภาคระหว่างเพศ และยอมรับความหลากหลายทางเพศ และ 3) ร่วมกันขจัดความรุนแรง และเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ ผ่านกลไกของรัฐที่มีหน้าที่ตาม พ.ร.บ. ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 นายจุรินทร์กล่าว
นายจุติ ไกรฤกษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า พม. โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) ในฐานะที่ดำเนินงานด้านการพัฒนาศักยภาพสตรี การคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิสตรี การส่งเสริมความเสมอภาคหญิงชาย ได้ผลักดันให้มี พ.ร.บ. ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน 2558 ได้ขับเคลื่อนให้เกิดการคุ้มครองและป้องกันมิให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้การจัดงานในวันนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาครัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชนเพื่อส่งเสริมความเสมอภาคและขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ และรณรงค์เพื่อสร้างกระแสการยอมรับของสังคมในเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ นอกจากนี้ มีข้อมูลที่น่าสนใจว่า ภายหลังจากการประกาศเจตนารมณ์ฯ ไปเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2563 พบว่า หน่วยงานที่ร่วมประกาศเจตนารมณ์ส่วนใหญ่ครบทั้ง 6 ด้าน ได้แก่ 1) การแต่งกาย ให้บุคลากรหรือนักศึกษาสามารถแต่งกายตามลักษณะเฉพาะทางเพศ ตามข้อบังคับของหน่วยงานหรือสถาบันการศึกษา 2) การจัดพื้นที่ที่เหมาะสมและเอื้อต่อการใช้ประโยชน์สำหรับทุกเพศทุกวัย 3) การประกาศรับสมัครงานและกำหนดคุณสมบัติผู้สมัครงาน ไม่ควรระบุเพศ แต่ควรระบุคุณสมบัติในการปฏิบัติงานที่หน่วยงานต้องการอย่างชัดเจน 4) การใช้ภาษาและท่าทาง หน่วยงานต้องสร้างความรู้ความเข้าใจแก่บุคลากรเกี่ยวกับการใช้ถ้อยคำหรือภาษาที่เหมาะสมสำหรับใช้เรียกลักษณะเฉพาะทางเพศ หรือท่าทางที่ไม่ควรแสดงออกถึงการมีอคติทางเพศ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการตีตรา เสียดสี หรือลดทอนคุณค่าของบุคคลทุกเพศ 5) การสรรหาคณะกรรมการหรือผู้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ในหน่วยงาน ควรส่งเสริมให้คนทุกเพศได้มีโอกาสเข้าร่วมเป็นกรรมการในทุกระดับ และ 6) การป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน ควรให้ความรู้สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรมการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ และมีแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว
การประกาศเจตนารมณ์ในครั้งแรกนั้น ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการขับเคลื่อนความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม เป็นการรณรงค์ผ่านทางภาครัฐ สถานบันการศึกษา และภาคธุรกิจ ดังนั้น จึงเห็นควรให้มีการขยายความร่วมมือในหน่วยงานภาครัฐ พรรคการเมือง และภาคธุรกิจเพิ่มขึ้น เพื่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง ด้านการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานให้ไม่มีการเลือกปฏิบัติระหว่างเพศในสังคม จึงเป็นที่มาของการจัดพิธีประกาศเจตนารมณ์ฯ ครั้งที่ 2 ผมขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่มาร่วมลงนามประกาศเจตนารมณ์ในวันนี้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อสร้างสังคมให้มีความเสมอภาคปราศจากการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ นายจุติ กล่าวในตอนท้าย:Cr;มณสิการ รามจันทร์
พม. จับมือทุกภาคส่วน ประกาศเจตนารมณ์ “มุ่งมั่นในการสร้างสังคมเสมอภาค ปราศจากการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง