พิมพ์ไทยออนไลน์ // ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทคแจ้งความคืบหน้าแผนการควบรวมกิจการ โดยจัดตั้งบริษัทใหม่ภายใต้ชื่อ บริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น
จำกัด(มหาชน) ซึ่งยังคงเป็นชื่อเดิมของบริษัททรูคอร์ปอเรขั่น จำกัด(มหาชน)ทุกกระเบียดนิ้ว ได้ทำให้โลกโซเชียลพากันวิพากษ์วิจารณ์กับกระแสควบรวมธุรกิจที่กำลังจะมีขึ้นในครั้งนี้อย่างหนัก
ทั้งนี้ SPACEBAR ได้วิเคราะห์กระแสโซเชียลมีเดียด้วยเครื่องมือ Social listening ต่อกรณีการรวบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทคในครั้งนี้พบว่า ชาวเน็ตเกินกว่าครึ่ง หรือ 51% ไม่เห็นด้วย เพราะกลัวการผูกขาด และมองว่าการอนุมัติดีลควบรวมธุรกิจของ กสทช.ก่อนหน้าไม่สมเหตุสมผล, โดยหน่วยงานที่ถูกต่อว่ามากที่สุดคือ กสทช. ซึ่งผู้ใช้บริการมองว่าไม่มีอำนาจตัดสินใจ และสนับสนุน กสทช. เสียงข้างน้อยที่ไม่เห็นด้วย, นายทุนครอบงำประเทศและเอาเปรียบประชาชน ส่วนรัฐบาลไม่มีอำนาจพอที่จะห้ามนายทุน และประชาชนเสียเปรียบที่สุด หากค่ายมือถือเอไอเอส จับมือกับ ทรู+ดีแทค ขึ้นราคา ส่วนอีก 32% สงวนท่าที หรือแชร์ข่าวโดยไม่มีคอมเมนต์ และ 17% เห็นด้วย โดยบางส่วนมอง การควบรวมธุรกิจเป็นเรื่องปกติของ
ธุรกิจ หากอยากให้กิจการในตลาดหุ้นได้ผลกำไรสูงสุด, ที่ผิดคือ หน่วยงานกำกับดูแลที่ปล่อยให้ดีลนี้ผ่านไปได้โดยไม่มีกฎเกณฑ์รัดกุม เพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศ, กสทช.มีเงื่อนไขหลังควบรวมว่า ต้องลดค่าบริการให้แก่ประชาชนเป็นเวลา 3 ปี, บางส่วนยังมองว่าการควบรวมจะทำให้ราคาแพคเกจถูกลง เพราะกำหนดเพดานราคาไว้แล้ว และบางส่วนมองว่า การควบรวมอาจทำให้การบริหารองค์กรและการบริการดีขึ้นกว่าเดิม
โดยพบว่า ยอดรวมคนที่เห็นโพสต์เกี่ยวกับประเด็นนี้มีมากถึง 7.38 ล้านครั้ง มีจำนวนการโต้ตอบ 4.4 แสนครั้งโดยแพลตฟอร์มที่มีคนพูดถึงดีลควบรวมมากที่สุดคือ ทวิตเตอร์ 82% เฟซบุ๊ก 14% อินสตาแกรม 3% และยูทูป 1% ยอดทวีตข้อความติดแฮชแท็ก #หยุดควบรวมมือถือ พุ่งถึง 178,000 ข้อความ.