เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2565ินางจินตนา จันทร์บำรุง อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากที่ปรากฏผ่านสื่อออนไลน์ กรณี “‘ส.ส.ธัญวัจน์’อัดรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อสตรีแบบปาหี่ จี้ ‘จุติ’ เร่ง พม.แก้ปัญหา”
อธิบดี จินตนา กล่าวว่า กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดกิจกรรมรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว มาอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปีทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค วัตถุประสงค์เพื่อให้สังคมได้ตระหนักและเห็นความสำคัญของปัญหาความรุนแรงในครอบครัวที่มีแนวโน้มสูงขึ้น พร้อมทั้งเป็นการสร้างกระแสทางสังคมในการสร้างความร่วมมือจากประชาชนในการยุติปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ที่มีผลกระทบทั้งต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว โดยในปีนี้เราจัดกิจกรรมภายใต้แนวคิด R–E–S–P–E–C-T : สร้างการยอมรับต่อความเท่าเทียม เพื่อส่งเสริมการสร้างสัมพันธภาพอันดีในครอบครัว การเสริมพลังสตรี การจัดบริการที่เป็นมิตรแก่สตรี การส่งเสริมเศรษฐกิจ เพื่อลดสภาวะการพึ่งพิงจากเพศชาย การสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในชุมชน การป้องกันการใช้ความรุนแรงต่อเด็กและเยาวชน รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ ความเชื่อและบรรทัดฐานซึ่งนำไปสู่การใช้ความรุนแรงต่อสตรี
อธิบดีจินตนา กล่าวต่ออีกว่า นอกจากการจัดกิจกรรมรณรงค์ดังกล่าวแล้ว สค. ได้ดำเนินการขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ทั้งในด้านนโยบายและการปฏิบัติมาโดยตลอด อาทิ
๑) จัดตั้ง “คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว” ซึ่งเป็นกลไกระดับชาติ เพื่อพิจารณาและขับเคลื่อนประเด็นสำคัญในการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว ตามมาตรการ 5P ได้แก่ มาตรการด้านนโยบาย (Policy) ด้านการป้องกัน (Prevention) ด้านการคุ้มครอง (Protection) ด้านการดำเนินคดี (Prosecution) และด้านหุ้นส่วนความร่วมมือ (Partnership)
๒) สร้างความร่วมมือการดำเนินงานระหว่างหน่วยงาน (MOU) เพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว กับหน่วยงานภาคีเครือข่ายรวม ๒๗ หน่วยงาน พร้อมร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ในการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว
๓) ส่งเสริมกลไกด้านความรุนแรงในครอบครัวระดับจังหวัด ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันการกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค 76 จังหวัด การรับแจ้งเหตุและระงับเหตุความรุนแรงในครอบครัวผ่านศูนย์ช่วยเหลือสังคม ๑๓๐๐ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง รวมทั้งการส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือสังคมตำบล เป็นกลไกระดับพื้นที่
๔) สร้างความตระหนักรู้ในการป้องกันและแก้ไขความรุนแรงในครอบครัว ผ่านกระบวนการสื่อสารสังคม การส่งเสริมการผลิตสื่อและช่องทางสื่อการเรียนรู้เพื่อเป็นการสร้างกระแสสังคมและสร้างภูมิคุ้มกันครอบครัวจากความรุนแรง
๕) พัฒนาแพลทฟอร์ม “ระบบเพื่อนครอบครัว” @Family line ผ่าน Application line เพื่อเป็นศูนย์กลางด้านข้อมูลและการให้คำปรึกษาสำหรับครอบครัวโดยผู้เชี่ยวชาญด้านครอบครัว ผ่านระบบ Online และเพื่อเพิ่มให้ครอบครัวสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น
๖) ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๐ ให้สอดคล้องเหมาะสมกับสภาพการณ์ปัจจุบัน คาดว่าร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวจะแล้วเสร็จภายในต้นปี ๒๕๖๖
๗) เสนอคณะรัฐมนตรี เรื่องการป้องกันและแก้ไขปัญหาการข่มขืนกระทำชำเรา และการล่วงละเมิดทางเพศ เป็นวาระแห่งชาติ
อธิบดีจินตนา กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีอาชีพบริการทางเพศ ทางกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ได้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. ๒๕๓๙ และขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำร่างกฎหมายใหม่ทั้งฉบับ โดยไม่ใช่แก้ไขเพิ่มเติมในกฎหมายฉบับเดิม โดยร่างกฎหมายฉบับใหม่นี้ มีแนวคิด ๑) ป้องกันเด็กอายุต่ำกว่า ๑๘ ปี และผู้ที่ไม่สมัครใจถูกล่อลวงหรือบังคับเข้าสู่การค้าประเวณี เน้นการคุ้มครองสิทธิ และส่งเสริมการเข้าถึงสวัสดิการสังคมของผู้ใหญ่ที่สมัครใจค้าประเวณี ๒) กำหนดนิยาม โดยใช้ “การให้บริการทางเพศ” แทน “การค้าประเวณี” ซึ่งมีลักษณะที่กว้างกว่า ครอบคลุม ผู้ให้บริการ ทั้งหญิง ชาย และผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ๓) กำหนดอายุขั้นต่ำของผู้ที่สมัครใจให้บริการทางเพศ ไม่มีความผิดอาญา ๔) ไม่มีการขึ้นทะเบียนผู้ให้บริการทางเพศ แต่ขึ้นทะเบียนสถานบริการทางเพศ ภายใต้สถานบริการ ๕) ผู้ประกอบธุรกิจทางเพศ สถานบริการทางเพศ ไม่ผิดกฎหมาย แต่ต้องได้รับอนุญาต ภายใต้เงื่อนไขการให้ความคุ้มครอง ดูแลสวัสดิการแก่ผู้ให้บริการทางเพศที่เป็นลูกจ้าง ไม่ละเมิดสิทธิ ๖) ผู้ให้บริการทางเพศอิสระ สามารถจดทะเบียนเป็นแรงงานอิสระหรือแรงงานนอกระบบ เพื่อได้รับสิทธิ สวัสดิการหรือได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย โดยไม่ต้องระบุว่าเป็นผู้ให้บริการทางเพศ และ ๗) การกำหนดโซนนิ่งสถานบริการทางเพศ โดยกำหนดพื้นที่ที่ห้ามไม่ให้มีการจัดตั้งสถานบริการทางเพศ เช่น ใกล้สถานศึกษา สถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เป็นต้น ซึ่งคาดว่าการรับฟังความคิดเห็นของร่างกฎหมายดังกล่าวจะแล้วเสร็จช่วงต้นปี 2566 นี้
นอกจากนี้ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) ยังทำหน้าที่ในการคุ้มครอง พิทักษ์สิทธิ และให้ความช่วยเหลือผู้เสียหาย และเยียวยาทางจิตใจ แก่กลุ่มสตรี และผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยสามารถเข้าถึงความช่วยเหลือได้ทาง สายด่วน 1300 ศูนย์ช่วยเหลือสังคมของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ แอพพลิเคชั่น Line : @linefamily เว็บไซต์ระบบเพื่อนครอบครัว www.เพื่อนครอบครัว.com ของกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว รวมทั้ง Facebook account : Jintana Chanbamrung ของนางจินตนา จันทร์บำรุง อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ตลอด 24 ชั่วโมง
📣 ติดตามข่าวสาร สค.ได้ที่
ติดตามข่าวสาร สค.ได้ที่
เว็บไซต์: https://www.dwf.go.th/
เพื่อนครอบครัว: http://www.xn--42ca5dfr6ac6azcd1c9c9f0e.com/
Facebook: https://www.facebook.com/sorkor023068633
YouTube: https://www.youtube.com/channel/UCXtsy6w-fx3fkESr-C6UaAA
Instagram: https://instagram.com/pr.dwf123?utm_medium=copy_link
LINE Official: @linefamily
Twitter: twitter.com/pr_dwf e-Library : http://library.dwf.go.th/
:Cr;มณสิการ รามจันทร์