พิมพ์ไทยออนไลน์ // นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลและกระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญกับนโยบายการสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) มาใช้ในการพัฒนาประเทศ โดยการนำเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและกระบวนการผลิตต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงการใช้องค์ความรู้ การศึกษา การสร้างสรรค์งาน และการใช้ทรัพย์สินทางปัญญาที่เชื่อมโยงกับวัฒนธรรม จึงเป็นโอกาสดีที่ผู้สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมไทยจะปรับตัวนำเอาเทคโนโลยีหรือแนวคิดใหม่มาใช้ในการเพิ่มศักยภาพให้กับผู้ผลิต ชุมชน และผู้ประกอบการ สามารถผลิตงานศิลปหัตถกรรมไทยให้มีความรวดเร็วเพิ่มมากขึ้น
รมช. พาณิชย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงพาณิชย์ ให้ความสำคัญต่อการสร้างผู้ประกอบการ ให้สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาเพิ่มมูลค่าให้สินค้าและบริการ สร้างความแตกต่าง ยกระดับสินค้าให้เป็นที่เป็นที่ต้องการของตลาดในวงกว้างเพิ่มขึ้น ผลิตภัณฑ์ตรงกับรสนิยมและการใช้งานของผู้บริโภคในปัจจุบัน กระตุ้นและส่งเสริมให้ผู้ผลิตเกิดการเรียนรู้และเข้าถึงนวัตกรรมใหม่ๆ การพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส สามารถต่อยอดมูลค่าทางการขาย สร้างศักยภาพและความยั่งยืนให้กับผลิตภัณฑ์ ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับประเทศ จึงได้มอบหมายให้ sacit หรือ สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) ดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทยของผู้ประกอบการด้านงานศิลปหัตถกรรมไทยให้ทันกับกระแสโลกดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงไปตลอด ด้วยการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาเป็นส่วนช่วยในการผลิต เพื่อลดขั้นตอน ลดต้นทุน และเพิ่มกระบวนการผลิตมากขึ้น
นายภาวี โพธิ์ยี่ รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย กล่าวเสริมว่า ปัจจุบัน sacit ได้จัดวาง Role Model โดยการนำเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มมูลค่าให้กับงานศิลปหัตถกรรม ในพื้นที่ชุมชนหัตถกรรมต่างๆ จำนวน 8 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มปานซอยบ้านทุ่งกองมู จ.แม่ฮ่องสอน , กลุ่มทอผ้ามัดหมี่โฮลโบราณ จ.สุรินทร์ , กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านหนองหญ้าปล้องพังโคน จ.สกลนคร , วิสาหกิจชุมชนเครื่องลงยาสีโบราณ จ.นนทบุรี , ป้ายอหม้อดิน-เครื่องปั้นดินเผาคลองสระบัว จ.พระนครศรีอยุธยา , บ้านกลองลุงเหลี่ยม-เครื่องดนตรี กลองแขก จ.อ่างทอง , กลุ่มแม่บ้านผลิตภัณฑ์จักสานคลุ้มบ้านคลองโอน จ.ตราด และกลุ่มกระจูดบ้านทอนอามาน จ.นราธิวาส โดยเชื่อมโยงเครือข่ายและผู้เชี่ยวชาญการออกแบบ-การผลิต ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ รวมถึงภาคเอกชน เพื่อเข้ามาพัฒนาเครื่องมือ อุปกรณ์ และพัฒนากระบวนการผลิตงานศิลปหัตถกรรมไทย
โดยเริ่มจากการลงพื้นที่กลุ่มปานซอยบ้านทุ่งกองมู อ.เมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน พบว่ากลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ทำงานศิลปหัตถกรรม “ต้องลาย-ปานซอย” คือ การนำแผ่นโลหะ เช่น สังกะสี หรืออะลูมิเนียม มาตอกและฉลุให้เป็นลวดลายที่วิจิตรงดงาม ส่วนใหญ่นำมาใช้ประดับตกแต่งในส่วนของชายคาและโครงสร้างของหลังคาอาคารตามวัดวาอาราม ศาสนสถานต่างๆ ให้ดูมีความอ่อนช้อยสวยงามมากขึ้น ซึ่งปัญหาที่พบ คือ ใช้เวลาในการผลิตยาวนาน มีหลายขั้นตอน ตั้งแต่การร่างแบบลงบนกระดาษ การตอกกระดาษตามลวดลาย ที่ร่างไว้ นำกระดาษที่ตอกลายมาวางทาบบนแผ่นอลูมิเนียมหรือสังกะสีและลอกลายลงบนแผ่นอลูมิเนียม ตอกจุดไข่ปลา ตามเทคนิคการต้องลาย-ปานซอย จากนั้นนำไปติดตั้งประดับตกแต่งตามสถานที่ที่กำหนดไว้ เพื่อแก้ปัญหากระบวนการผลิตดังกล่าว sacit จึงได้สร้างนวัตกรรมแม่แบบปานซอยมาตรฐานที่สามารถตอกขึ้นลายได้ในครั้งเดียว ซึ่งสามารถลดระยะเวลาในการลอกลายซ้ำๆ ให้มีความง่าย จึงทำให้ร่นระยะเวลาในการผลิตให้สั้นลง ผลิตได้มากขึ้น และทันต่อความต้องการของตลาดในปัจจุบันได้.
…