นายอนุกูล กล่าวว่า ทางคณะได้เดินทางไปพบกับผู้เสียหายชาวไทยจำนวน 17 คน ซึ่งเป็นกลุ่มวัยรุ่นหนุ่มสาวและวัยทำงาน โดยมีอายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 2 คน ณ โรงแรมที่พักซึ่งสถานเอกอัครราชทูตไทยฯ จัดไว้ให้เพื่อรอส่งตัวกลับประเทศไทย โดยผู้เสียหายทั้งหมดได้ติดต่อมายังสถานเอกอัครราชทูตไทยฯ เพื่อส่งตัวกลับบ้าน และขั้นตอนต่อไปนั้น ทางสถานเอกอัครราชทูตไทยฯ ต้องติดต่อตำรวจตรวจคนเข้าเมืองของราชอาณาจักรกัมพูชาเพื่อดำเนินการตามกฎหมาย โดยใช้ระยะเวลาไม่น้อยกว่า 1 เดือนขึ้นไป ทั้งนี้ ผู้เสียหายทั้งหมดได้เล่าเป็นเสียงเดียวกันว่า ถูกคนใกล้ชิดหรือสื่อออนไลน์ที่รับสมัครงานหลอกลวงว่า จะมีงานทำเป็นแอดมินได้เงินเดือนดีในระดับสองหมื่นบาทถึงสามหมื่นบาท พร้อมมีที่พักและอาหารให้ด้วย จึงได้หลงเดินทางมาทำงานกับบริษัทในกรุงพนมเปญ เมืองปอยเปต และเมืองพระสีหนุ โดยให้ทำงานอย่างหนักวันละ 15 ชั่วโมง และถูกทารุณกรรมต่างๆ เช่น ไม่ให้กินข้าว ให้กินน้ำก๊อก ไม่ได้รับค่าจ้าง ถูกยึดพาสปอร์ต ข่มขู่ไม่ให้หนี และบางคนถูกทำร้ายร่างกาย หากขัดขืนหรือโต้เถียง อีกทั้งตั้งราคาไถ่ตัวเองเพื่อแลกกับอิสรภาพว่า หากต้องการออกจากงาน ต้องหาเงินมาให้เป็นจำนวน 3,000 ดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 120,000 บาท
นายอนุกูล กล่าวเพิ่มเติมว่า ตนในฐานะปลัดกระทรวง พม. จะช่วยประสานงานเพื่อส่งผู้เสียหายวัยรุ่นกลุ่มนี้กลับภูมิลำเนาในแต่ละจังหวัดของประเทศไทยโดยเร็วที่สุด ซึ่งจากสถิติของการส่งคนไทยที่ถูกล่อลวงกลับภูมิลำเนาตั้งแต่ปี 2564 มีจำนวน 2,000 คน และในปีนี้จนถึงเดือนกันยายนที่ผ่านมา มีการส่งคนไทยกลับภูมิลำเนาแล้วจำนวน 550 คน จากนั้น ตนจะรายงานเรื่องนี้เสนอ นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) รับทราบเพื่อขอให้รัฐบาลทั้งสองประเทศเร่งป้องกันและปราบปรามปัญหาการค้ามนุษย์ให้หมดสิ้นไปโดยเร็วที่สุด :Cr;มณสิการ รามจันทร์