พิมพ์ไทยออนไลน์ // สสว. จัดงานแถลงความสำเร็จโครงการ SME ปรับตัวรับมือ VUCA World (ภาคบริการ) สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจกว่า 260 ล้านบาท ผ่านการสร้าง New Service Business Model ให้กับผู้ประกอบการไทยกว่า 76 ราย ให้สามารถรองรับโลกของ VUCA World (VUCA : ความผันผวน (Volatility) ความไม่แน่นอน (Uncertainty) ความซับซ้อน (Complexity) ความคลุมเครือ (Ambiguity) รู้เท่าทันและเอาชนะสถานการณ์ได้อย่างชาญฉลาด ยังผลให้เกิดความเข้มแข็งและก้าวต่อไปได้อย่างยั่งยืน
นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า โครงการ SME ปรับตัวรับมือ VUCA World (ภาคบริการ) เป็นโครงการที่เน้นการยกระดับและเสริมแกร่งให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีภาคบริการ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วงและรุนแรงจากสถานการณ์โควิด-19 ประกอบไปด้วย ธุรกิจโรงแรมและที่พัก ร้านอาหาร นวดสปา เวลเนสหรือธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพ และอื่นๆ ที่เป็นภาคบริการทั้งหมด ที่ต้องการจะฟันฝ่าและเอาชนะวิกฤตที่ส่งผลให้ธุรกิจต้องหยุดชะงัก การต้องลดขนาด หรือเสี่ยงต่อการเลิกกิจการ แต่ยังมีความมุ่งมั่นที่จะไปต่อเพื่อวันนี้และ
อนาคตที่ต้องดีขึ้น
ผอ.สสว. เผยว่า การดำเนินโครงการ มีผู้ประกอบการกว่า 76 รายทั่วประเทศที่เข้าร่วมโครงการ ได้ผ่านกระบวนการต่าง ๆ รวมถึงมีการอมรมสัมมาเชิงปฏิบัติการอย่างเข้มข้นโดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญและนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จได้มาร่วมแชร์ประสบการณ์ ช่วยค้นหา New Service Concept ที่จะเป็นแนวทางในการพัฒนาบริการใหม่ การนำเอารูปแบบธุรกิจใหม่ๆ ที่สามารถปรับตัวได้บนสถานการณ์ VUCA มาเป็นแนวทางในการเรียนรู้ ตลอดจนการให้คำปรึกษาเชิงลึกโดยที่ปรึกษามากประสบการณ์ ซึ่งจากการดำเนินโครงการสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจกว่า 260 ล้านบาท ให้สามารถกลับมาแข็งแกร่งและพร้อมที่จะเติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืน
ผอ.สสว. ยังได้ตอกย้ำถึงประเด็นสำคัญว่า โครงการ SME ปรับตัวรับมือ VUCA World (ภาคบริการ) ที่ สสว. มีความภาคภูมิใจในการสร้างสรรค์ให้ดำเนินการโครงการนี้เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME ภาคบริการ ซึ่งได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก และกระทบโดยตรงมากกว่าธุรกิจอื่น ๆ แล้วยังส่งผลระยะยาว
อีกด้วย ทั้งนี้วิทยากร ที่ปรึกษาและ Coach ที่เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการจากการผนึกกำลังบูรณาการความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ 2 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยศิลปากร และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มีความพร้อมและมีความเข้าใจสถานการณ์ ภาวะเร่งด่วนต่าง ๆ ที่เป็นปัจจัยสำคัญ
โดยโครงการดังกล่าว มุ่งเน้นเรื่องถ่ายทอดองค์ความรู้ให้ผู้ประกอบการและพนักงานตามโปรแกรม VUCA PROACTIVE ให้กับเอสเอ็มอี เพื่อการทำงานแบบระบบ Agile เชื่อมโยงคนในองค์กรในการรับมือกับสถานการณ์ โดยปรับมุมมอง เปลี่ยน Mindset ปรับพฤติกรรม หาข้อมูลเพิ่มเติมความรู้ มองในหลายๆ แง่มุม การสร้างความชัดเจน เพื่อแก้ปัญหา และใช้เหตุผลวิเคราะห์หาหนทางแบบใหม่ ตัดสินใจให้เด็ดขาด และหาแผนสำรองไว้ และนำข้อมูลที่ได้รับมาพัฒนาผู้ประกอบการให้สามารถสร้างโมเดลธุรกิจบริการใหม่ (New Service Business Model) โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล การสร้างนวัตกรรมการบริการ
อาทิ การบริการแนวคิดใหม่ (New Service Concept) การพัฒนากระบวนการให้บริการใหม่ (New Service Process) การให้บริการที่เหนือความคาดหวัง (Beyond Expectation Service) การพัฒนาบริการเพื่อตอบสนองกลุ่มลูกค้าเฉพาะ (New Market Segment) การใช้ข้อมูลลูกค้าเพื่อกำหนดและปรับแต่งบริการ (Data Analytics) ให้สอดคล้องกับกระแสนิยมของโลก และพฤติกรรมการดำเนินชีวิตที่ผ่านมาที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง รวมถึง Business Model ใหม่ๆ ตลอดจนวิธีการทำการตลาดเชิงรุก (Pro-ActiveStrategy)
นอกจากนี้ ภายใต้โครงการยังได้มีการดำเนินกิจกรรมการประกวด SME VUCA World Award เพื่อเฟ้นหา Role Model ต้นแบบ New Service Business Model ซึ่งในส่วนของ ม.ศิลปากร มีกิจการที่ได้รับรางวัลประกอบด้วย ห้างหุ้นส่วนจำกัด ปริญญา ฟู้ดส์ ไซเอนซ์เดอะ เลกาซี ริเวอร์แคว รีสอร์ท และบ้านเขาหลักบีชรีสอร์ท และสำหรับ ม.ธรรมศาสตร์ มีกิจการที่ได้รับรางวัลประกอบด้วย สปีด มาสเตอร์ วินรีแฮบ สหคลินิกฮัลโหล คลินิก และ 360 Care
“ผลการดำเนินงานในครั้งนี้ ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก มีผู้ประกอบการภาคบริการที่สามารถ เปลี่ยนผ่าน ธุรกิจจนสามารถปรับตัวในภาวะ VUCA ได้อย่างชาญฉลาด ซึ่งผู้ประกอบการที่ผ่านกระบวนการต่าง ๆ ของโครงการในครั้งนี้จะเป็นแรงผลักดันที่สำคัญให้เศรษฐกิจของประเทศเข้มแข็งและพร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์ได้อย่างมั่นคงต่อไป” ผอ.สสว.กล่าวในที่สุด
รองศาสตราจารย์ ดร. อรพรรณ คงมาลัย หัวหน้าโครงการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า “เราพัฒนาผู้ประกอบการให้ชนะ VUCA WORLD ด้วย VUCA SKILLS สร้าง Vision Understanding Clarity และ Agility ผ่านการปรับ Mindset และลงมือทำจริง ร่วมกับที่ปรึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และเครือข่ายพันธมิตรในพื้นที่ทั้งภาครัฐและเอกชนที่สำคัญเรานำเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมบริการมาปรับใช้ โดยมีเป้าหมายไม่ใช่แค่การรอดจากวิกฤต แต่เป็นการยกระดับตำแหน่งทางการแข่งขัน ให้ผู้ประกอบการเป็นผู้นำในระดับภูมิภาคอย่างแข็งแกร่ง และปรับตัวได้ในอนาคต
ดร.ธีวินท์ นฤนาท หัวหน้าโครงการ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า “เรามีความตั้งใจเป็นอย่างมากในการที่จะพัฒนาและเสริมสร้างพลังให้กับผู้ประกอบการ จากความหวังที่หมดสิ้นลง เราเติมพลังให้กับเค้าอีกครั้งด้วยเรื่องราวของนักธุรกิจที่เอาชนะวิกฤต VUCA World ที่มาร่วมแชร์ประสบการณ์ และแนวคิด พร้อมทั้งจับเอาวิชาการที่จะเป็น Direction ที่จะนำผู้ประกอบการไปสู่ Destination ที่ชัดเจนขึ้น และที่สำคัญด้วยทีมที่ปรึกษาและ Coach ทุกท่านต่างมีความมุ่งมั่นในการสร้างสรรค์แนวทางกับการให้คำปรึกษากับผู้ประกอบการบนระยะเวลาของโครงการก่อเกิดผลอันเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนในเชิงประจักษ์แล้วว่า ผู้ประกอบการทุกรายจะสามารถไปต่อได้อย่างเข้มแข็ง มั่นคง และยั่งยืน บนวิถีของการดำเนินธุรกิจ”