พิมพ์ไทยออนไลน์ // นอกจากสัมปทานรถไฟฟ้า สายสีเขียว ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.)รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา ได้แต่ “ซื้อเวลา” ไม่กล้าตัดสินใจให้เด็ดขาดลงไปว่า จะเอาอย่างไรกับอนาคตของโครงการนี้
จะไฟเขียวต่อขยายสัญญาสัมปทานให้กับ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงทพ หรือ บีทีเอส (BTS) ตามข้อเสนอของกระทรวงมหาดไทยและกรุงเทพมหานคร(กทม.)เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ค้างชำระที่กทม.มีอยู่กับบริษัทเอกชนคู่สัญญาหรือจะ“ล้มกระดาน” ตีกลับไปนับหนึ่งใหม่ และรอให้สัมปทานโครงการเดิมสิ้นสุดลง แล้วเปิดประมูลหาเอกชนเข้ามาลงทุนกันใหม่
ทั้งที่จะว่าไป พรรคร่วมรัฐบาลส่วนใหญ่ต่างก็เห็นชอบกับแนวทางการต่อขยายสัมปทานที่ว่าไปตั้งแต่ปีมะโว้แล้ว แต่ปัญหาที่มันเกิดขึ้นนั้นเป็นผลมาจากรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมที่เคยเห็นชอบกับแนวทางการต่อขยายสัมปทานมาก่อน ไม่พอใจที่โครงการรถไฟฟ้า สายสีส้ม ของรฟม.ถูกบริษัทบีทีเอส(BTS) ลุกขึ้นมาฟ้องร้องต่อศาลปกครองกรณีที่ รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกดอดไปแก้เกณฑ์พิจารณาคัดเลือกกลางครัน จนทำเอาโครงการประมูลล้มทั้งยืน ป่านนี้ก็ยังไม่สามารถจัดประมูลใหม่ได้
ทำให้กระทรวงคมนาคมไม่เพียงกระโดดขวางเส้นทางต่อขยายสัมปทานสายสีเขียวให้ BTS อย่างสุดลิ่ม ยังตั้งแท่นจะให้ทบทวนมติครม.เพื่อโอนโครงฃ่ายสายสีเขียวคืนกลับไปให้ รฟม.โม่แป้งเอง ซึ่งก็คงไม่พ้นจ้องจะประเคนโครงการออกไปให้กลุ่มทุน “กากี่นั๊ง” ใต้ขายคาชุบมือเปิบไปอีกต่อนั่นแหล่ะ
การที่นายกฯเอาแต่ “ซื้อเวลา”ไม่ยอมตัดสินใจให้เด็ดขาดลงไป ทำให้ทุกฝ่ายได้แต่กังขาบทบาทของนายกฯ”ลุงตู่”ผู้นี้ ใช่ตัวบุคคลที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาชาติอย่างที่ทุกฝ่ายคาดหวังกันไว้แน่หรือ เพราะไม่เพียงแต่กรณีรถไฟฟ้าสายสีเขียวเท่านั้นที่รัฐบาลเอาแต่ซื้อเวลา
ยังมีกรณีการแต่งตั้ง “คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ” หรือ “กสทช.” ที่สำนักงานเลขาวุฒิสภาได้ดำเนินการสรรหาและที่ประชุมวุฒิสภาได้โหวตให้ความเห็นชอบ “ว่าที่ กสทช.” ใหม่ 5 ใน 7 คนแล้วเสร็จไปตั้งแต่ปลายปี 2564 และว่าที่ กสทช.ชุดใหม่าได้จัดประชุมแบ่งงานและภารกิจที่จะต้องเร่งเข้ามาดำเนินการกันไปตั้งแต่ปลายปีก่อนแล้ว
แต่กว่า 3 เดือนที่สำนักงานเลขาวุฒิสภา ส่งรายชื่อว่าที่ กสทช.ชุดใหม่ไปยังสำนักงานเลขาธิการ ครม.เพื่อนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ จนถึงวันนี้ก็กลับไม่มีทีท่าว่าจะมีการนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯใด ๆ ทั้งที่ภารกิจเบื้องหน้าของ กสทช.ชุดใหม่นั้นมีงานที่ต้องเร่งสะสางกันเป็น”พะเรอเกวียน”
ทั้งการจัดระเบียบวิทยุชุมชน ปัญหาการให้บริการ OTT ที่เข้ามากลืนตลาดสื่อสารและโซเชียลของประเทศไปแล้วในเวลานี้หรือ การประมูลสิทธิ์ให้บริการวงโคจรดาวเทียม และโดยเฉพาะกรณีการควบรวมกิจการโทรคมนาคมระหว่าง ทรู(True )และดีแทค(Dtac) ผู้ให้บริการโทรคมนาคมอันดับ 2และ3 ของประเทศ ที่ประกาศจะดำเนินการควบรวมกิจการกัน ท่ามกลางเสียงค้านระงมของนักวิชาการและประชาชนในทุกภาค่าวน เนื่องจากเกรงจะทำให้ตลาดโทรคมสาคมของประเทศที่มีผู้เล่นน้อยรายเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จะเหลือผู้เล่นอยู่เพียง 2 รายเท่านั้น ประชาชนผู้บริโภคมีโอกาสที่จะถูกมัดมือชกโขกค่าบริการและถูกเอาเปรียบได้ทุกเมื่อ
หลายภาคส่วนจึงออกโรงเรียกร้องและกดดันให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.จะต้องลงมากำกับดูแลและบังคับใช้กฎหมายในเรื่องนี้อย่างเข้มงวดถึงพริกถึงขิง เพราะบทเรียนจากคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า(กขค.) ต่อการอนุมัติควบรวมกิจการค้าปลีก-ค้าส่งในช่วงก่อนหน้านั้น ได้สะท้อนให้เห็นไปแล้วว่าแม้แต่กฎหมายจะวางบทบัญญัติวางหลักเกณฑ์เอาไว้เข้มงวดอย่างไร แต่กลุ่มทุนการเมืองก็ง้างกฎหมายจนบิดเบี้ยวไม่เหลือซากให้เห็นมาแล้ว
และแม้ก่อนหน้านี้ กสทช.ชุดใหม่ จะมีการจัดประชุมเพื่อจัดลำดับความสำคัญของภารกิจก่อน-หลัง ที่กสทช.ชุดใหม่จะต้องเร่งสะสาง แต่ก็กลับปรากฏว่ามี “ไอ้โม่ง-มือที่มองไม่เห็น” แอบส่งซิกให้สำนักงานเลขาธิการครม.ดึงเรื่องการแต่งตั้ง กสทช.ชุดใหม่ออกมาโดยไม่มีกำหนด เพื่อหวังจะให้ รักษาการ กสทช.ชุดปัจจุบันเร่ง “ปิดดีล” การควบรวมกิจการ “ทรู-ดีแทค” ลงให้ได้หรือไม่
เป็นเครื่องสะท้อนให้ประชาชนคนไทยได้เห็น กฎหมายและหน่วยงานของรัฐที่เป็นอิสระของประเทศไทยเรานั้น มันไม่มีอยู่จริง หรือ “มีก็เหมือนไม่มี” เพราะที่สุดแล้ว กลุ่มทุนการเมืองก็สามารถเบียดแทรกเข้าไปเป็น “ยาดำ” เบียดแทรกหาผลประโยชน์เข้าพกเข้าห่อได้หมด
แม้แต่ใบสั่งให้นายกรัฐมนตรี ซ้ายหัน-ขวาหันก็เถอะ จริงไม่จริง!