พิมพ์ไทยออนไลน์//บริษัทไทยเรล โลจิสติกส์ โดยนางสาวณัฏฐา ธนกิจสถาพร ประธานบริหาร พร้อมด้วย นายฐากูร อินทรชม ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการเดินรถ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)และ นายธนวรรธน์ ไทยอยู่ ผู้อำนวยการฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์ บริษัทบุญรอดซัพพลายเชน จำกัด และผู้แทนจากบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ร่วมพิธีเปิดทดลองขนส่งสินค้าทางรถไฟ เส้นทางจุดหยุดรถศรีสำราญ จ.สุพรรณบุรี ไปยัง สถานีบ้านทุ่งโพธิ์ อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2565 ณ จุดหยุดรถศรีสำราญ อ. สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี เพื่อส่งเสริมการขนส่งทางรถไฟให้เติบโต ลดต้นทุนค่าขนส่ง ลดภาระประชาชน หนุนเป้าหมายการเป็นบริษัทศูนย์กลางการขนส่งทุกหมวด ตั้งเป้ากลางปีส่งสินค้าเต็มขบวนถึงปาดังเบซาร์ ประเทศมาเลเซีย ทุกวัน วันละ 1 ขบวนไป-กลับ พร้อมเล็งส่งสินค้าเกษตร ผักผลไม้ไกลถึงจีน
นางสาวณัฏฐา ธนกิจสถาพร ประธานบริหาร บริษัท ไทยเรลโลจิสติกส์ จำกัด กล่าวถึงวัตถุประสงค์การทดลองขนส่งสินค้าทางรถไฟในครั้งนี้ว่า บริษัทไทยเรล โลจิสติกส์ จำกัด เป็นบริษัทขนส่งทางรางที่มีการขนส่งแบบครบวงจร ที่มุ่งเป็นบริษัทศูนย์กลางการขนส่งทุกหมวด ทั้งทางบก ทางน้ำหรือเรือและทางอากาศ สำหรับการขนส่งทางรางล่าสุดได้ร่วมมือกับบริษัทกลุ่มพันธมิตรหลายบริษัท และได้รับการสนับสนุนการรถไฟแห่งประเทศเอื้ออำนวยสถานที่ ขบวนรถจักร จัดเตรียมสถานที่และปรับปรุงทางเพื่อการจัดงาน
การทดลองขนส่งสินค้าในครั้งนี้จะทำให้ทราบว่า การขนส่งทางรถไฟจะช่วยเอื้ออำนวยความสะดวกในเรื่องของการขนส่งได้มากน้อยอย่างไร รวมถึงการช่วยลดต้นทุนการขนส่ง อุปสรรค ปัญหาที่จะเกิดขึ้นระหว่างการขนส่งจากต้นทางถึงปลายทาง การโหลดสินค้าขึ้นลง หรือขั้นตอนวิธีการต่าง ๆ จากการทดลองขนส่ง เพื่อนำประสบการณ์นี้ไปปรับปรุงแก้ไขในเที่ยวขบวนจริงในอนาคต
บริษัท ไทยเรลโลจิสติกส์ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะดำเนินการและสนับสนุนนโยบายของภาครัฐ ที่ได้มีการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางด้านระบบรางอย่างมหาศาล พร้อมทั้งการรถไฟแห่งประเทศไทยเองที่พัฒนาทั้งระบบการขนส่ง พัฒนาบุคลากรขององค์กรที่เป็นคนรุ่นใหม่ การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อที่จะสร้างมาตรฐานคุณภาพของการขนส่งทางรางให้มีมาตรฐานยิ่งขึ้น ภาคเอกชน โดยไทยเรล โลจิสติกส์และบริษัทในกลุ่มของพันธมิตร โดยเฉพาะ บริษัทบุญรอด ซัพพลายเชน ที่ร่วมมือกันในการทดลองครั้งนี้ เพื่อที่จะทำให้เห็นว่า กลุ่มบริษัทเรามีความยินดีและประสงค์ที่จะสนับสนุนกิจการการขนส่งทางรถไฟให้เติบโตและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นไป
“หลังการทดลองครั้งนี้จะมีการประเมินผลร่วมกัน มีการปรับแก้ให้ลงตัวจะเริ่มขนส่งจริงได้ในเร็ว ๆ นี้ โดยคาดหวังว่าในช่วงกลางปี 2565 นี้ จะเริ่มขนส่งจริง ขนส่งสินค้าอย่างเต็มขบวนจากจุดศรีสำราญไปถึงปาดังเบซาร์ ของประเทศมาเลเซียทุกวัน วันละ 1 ขบวนไป-กลับ ซึ่งในส่วนขากลับจะมีสินค้ากลับมาด้วยเป็นยางพาราและกลุ่มสินค้าจำพวกอะไหล่อิเล็กทรอนิกส์จากท่าเรือปีนังของมาเลเซียที่ขนส่งจากอินเดียกลับมา เพื่อจะส่งต่อไปยังจีนและไต้หวัน
จากนั้นจะขยายผลไปยังจุดอื่น ๆ โดยไทยเรล โลจิสติกส์ยังมีนโยบายที่จะขนส่งสินค้าเกษตร ผลไม้ตามฤดูกาลไปให้ผู้ประกอบการนำเข้าผักผลไม้รายใหญ่ในจีนด้วย ซึ่งปัจจุบันมีลูกค้าภาคอุตสาหกรรมและการเกษตรติดต่อเข้ามาค่อนข้างมาก ตัวอย่างหน่วยงานที่สนใจ เช่น บริษัท ดีเอชแอล ซัพพลายเชน (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท Flash Express (แฟลชเอ็กซ์เพรส) บริษัท ปตท. จํากัด (มหาชน) บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัดและการท่าเรือ เป็นต้น
นางสาวณัฏฐา กล่าวต่อว่า การขนส่งสินค้าทางรถไฟมีจุดเด่นในเรื่องความปลอดภัย ความปลอดภัยของคนขับที่ต้องขับรถระยะไกล ค่าใช้จ่ายด้านความเสื่อมสภาพรถยนต์และซ่อมบำรุงรถยนต์ต่ำลง น้ำมันราคาสูงขึ้นและช่วยลดปัญหาเรื่องมลพิษน้อยกว่า ส่วน จุดหยุดรถศรีสำราญ มีจุดเด่นเหมาะสมเรื่องทำเลใกล้นิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง จึงสะดวกในการขนส่งสินค้า ทั้งจากปทุมธานี อยุธยา นครปฐม อีกทั้งการอยู่นอกชุมชน ไม่ผ่านชุมชนย่อยที่เป็นการรบกวนประชาชน และมีพื้นที่กว้างขวาง คาดการณ์ว่า การขนส่งทางรถไฟจะมีการเติบโตอย่างแน่นอน ทั้งรถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูง ด้วยมีการสั่งขบวนรถเข้ามามาก เป็นปริมาณเพียงพอที่จะรองรับ”
นายฐากูร อินทรชม ผู้อำนายการฝ่ายปฏิบัติการเตินรถ การรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ถือฤกษ์วันนี้เป็นการทดลองเดินรถไฟขนส่งสินค้าในทุกขั้นตอน เป็นก้าวแรก ถ้าวันนี้สำเร็จจะมีการขนส่งต่อเนื่องต่อไป โดยครั้งนี้เป็นการขนส่งเที่ยวเดียวแบบวางและผูกมัดจำนวน 10 แคร่ รวมเป็นเส้นทางกว่า 400 กิโลเมตร ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 12-13 ชั่วโมง สินค้าทั้ง 10 แคร่จะถึงปลายทางพร้อมกัน แตกต่างจากการขนส่งทางรถยนต์ไม่มาก ขณะที่ต้นทุนการขนส่งต่อกิโลเมตรต่ำกว่า ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มีขนส่งจากสุพรรณบุรีและพร้อมจะขยายเพิ่มจุดขนส่งที่เหมาะสมแก่ผู้ประกอบการได้ในอนาคต
นายฐากูรกล่าวต่อว่า เนื่องจากไทยเป็นประเทศผู้ผลิต การขนส่งมีการปรับตามการบริโภคของประชาชนและจำนวนผู้ประกอบการ ปัจจุบันจำนวนรถบรรทุกมีจำนวนเพิ่มขึ้นทำให้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ทางผู้ประกอบการไทยเรล โลจิสติกส์เล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องของความปลอดภัย จึงมองว่า การขนส่งสินค้าทางรถไฟเป็นสิ่งที่น่าสนับสนุนต่อไป
ซึ่งเดิมการรถไฟมีการขนส่งทางรางมากอยู่แล้ว ในกลุ่มอุตสาหกรรมหนักในรูปคอนเทนเนอร์ เช่น ปูนซีเมนต์ น้ำมันและสินค้าคอนซูเมอร์นำเข้าส่งออกต่าง ๆในเส้นตะวันออกเฉียงเหนือ ที่แหลมฉบัง ที่บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) แก่งคอย สำหรับสถานการณ์ที่ราคาน้ำมันสูงขึ้นส่งผลกระทบทำให้ค่าธรรมเนียมและค่าระวางผันแปรตามเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นไม่ใช่ทั้งหมด
ด้านนายธนวรรธน์ ไทยอยู่ ผู้อำนวยการฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์ บริษัทบุญรอด ซัพพลายเชน จำกัด กล่าวเสริมเรื่องผลกระทบราคาน้ำมันที่สูงขึ้นในปัจจุบันว่า ราคาน้ำมันส่งผลต่อต้นทุนการขนส่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ภาคเอกชนมองการขนส่งแบบหลายประเภทมานานแล้ว เดิมบริษัทบุญรอดพึ่งพาการขนส่งทางถนนหรือรถยนต์เป็นหลัก และจากการคำนึงถึงเรื่องของต้นทุน การรับผิดชอบของสังคมและด้านสิ่งแวดล้อม จึงต้องบริหารจัดการอย่างครอบคลุมให้เกิดความคุ้มค่าและตอบโจทย์ธุรกิจมากที่สุด โดยต้องการขนส่งในทุก ๆ ประเภท มีจุดออกจากหลายจุด ส่งไปหลายที่ ซึ่งการขนส่งทางรถไฟตอบโจทย์ธุรกิจอย่างมาก โดยเฉพาะการขนส่งเป็นปริมาณมากและขนส่งเป็นระยะทางไกล
:Cr;มณสิการ รามจันทร์