ตัวแทนผู้ถือหุ้น อีสท์วอเตอร์ ยื่นเลขาธิการ ก.ล.ต. ตรวจสอบการดำเนินการและบริหารงานของ ประธานคณะกรรมการบริษัท และ กระบวนการสรรหา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ว่า โปร่งใสหรือขัดต่อ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และพ.ร.บ.บริษัทมหาชน จำกัด หรือไม่
พิมพ์ไทยออนไลน์ // วันที่ 10 มี. ค. 65 ตัวแทนกลุ่มผู้ถือหุ้นของ บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ “อีสท์ วอเตอร์ ราชิตสุววณเนตร ในฐานะ ผู้มีส่วนได้เสีย เข้ายื่นหนังสือถึง เลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ รื่นวดี สุวรรณมงคล เพื่อขอให้ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ตรวจสอบการดำเนินการและบริหารงานของ ประธานคณะกรรมการบริษัทและกระบวนการสรรหากรรมการผู้อำนวยการใหญ่ของบริษัท อิสท์ วอเตอร์ อัศวินี ไตลังคะ ที่อาจจะฝ่าฝืนจรรยาบรรณทางธุรกิจ ข้อบังคับบริษัท กฎบัตรคณะกรรมการสรรหา และพิจารณาค่าตอบแทนของ บริษัท อิสท์ วอเตอร์
และความผิดตามหมวด 3/1 ว่าด้วยเรื่องการบริหารกิจการของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ ในส่วนของหน้าที่และความรับผิดชอบของกรรมการและผู้บริหารตาม มาตรา 89/7 มาตรา 89/8 มาตรา 89/10 มาตรา 89/11 มาตรา 89/12 และมาตรา 89/14 พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 และหมวด 6 ว่าด้วยเรื่องคณะกรรมการตามมาตรา 85 มาตรา 88 ของ พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535
หนังสือของตัวแทนกลุ่มผู้ถือหุ้นของ บริษัท อิสท์ วอเตอร์ ระบุด้วยว่า จากข้อมูลที่ผู้ถือหุ้นมีอยู่นั้น พบว่ามีเหตุอันควรสงสัยหลายประการว่า ประธานคณะกรรมการบริหารบริษัทฯ อาจมีการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อจรรยาบรรณในทางธุรกิจว่าด้วยเรื่องความขัดแย้ง ทางผลประโยชน์ รายการที่เกี่ยวโยงกัน และการทำธุรกรรมระหว่างกันของ กลุ่มบริษัทผู้ถือหุ้นจำนวนหนึ่ง เห็นควรที่จะใช้สิทธิของผู้มีส่วนได้เสีย ที่ต้องการรักษาผลประโยชน์ของตนเองในฐานะผู้ถือหุ้น ด้วยการร้องเรียน และขอให้มีการตรวจสอบการกระทำของ นางอัศวินี ต่อ ก.ล.ต. และหากพบว่ามีความผิดจริง ก็ขอให้มีการลงโทษ ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ มาตรา 89/18 มาตรา 281/2 มาตรา281/3 มาตรา 317/1 และพ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัดมาตรา 85 มาตรา 203
ซึ่งมีทั้งการส่งคืนประโยชน์ทั้งหมดที่นางอัศวินี ได้ไปโดยมิชอบและชดใช้สินไหมทดแทนให้แก่บริษัท มาตรการลงโทษทางแพ่ง และโทษปรับที่ตั้งแต่ 500,000 บาทรวมถึงจำคุกไม่เกิน 5 ปีหรือปรับไม่เกินสองเท่าของค่าเสียหายที่เกิดขึ้นหรือประโยชน์ที่ได้รับหากพบว่านางอัศวินี กระทำไปโดยทุจริต
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาผู้ถือหุ้นมีความเชื่อมั่นในการบริหารจัดการกิจการต่างๆ ของบริษัทฯ และผู้บริหารด้วยดีเสมอมา แต่มีเหตุเคลือบแคลงสงสัยเกี่ยวกับการดำเนินการต่างๆ ของนางอัศวินี ที่ผู้ถือหุ้นมีความวิตกกังวล ไม่สบายใจ และไม่ต้องการให้บริษัทถูกทำลายหรือลดทอนความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ
ที่สำคัญคือความน่าเชื่อมั่นในการลงทุนในระดับสูงที่เป็นบริษัทที่ดำเนินกิจการในโครงการใหญ่ๆ ระดับประเทศ รวมถึง อีอีซี ซึ่งจะเห็นได้จากราคาหุ้นของบริษัทที่ลดต่ำลงตั้งแต่ต้นปี 2565 และยังไม่มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นกลับไปในระดับเดิม
นอกจากนี้ ผู้ถือหุ้นยังมีข้อมูลส่วนหนึ่งที่ทำให้มีเหตุอันควรสงสัยจึงขอให้ ก.ล.ต. ตรวจสอบถึงการพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทนเพื่อสรรหาผู้มาดำรงตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ แทนผู้ที่ดำรงตำแหน่งอยู่เดิมที่กำลังจะหมดวาระนั้นที่อาจฝ่าฝืนกฎบัตรคณะกรรมการสรรหา และพิจารณาค่าตอบแทนของบริษัทฯ ข้อ 2.2 เรื่อง โครงสร้างและองค์ประกอบของคณะกรรมการ และรวมถึงการกระทำของนางอัศวินีและประธานคณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทนที่อาจเข้าข่ายเอื้อประโยชน์ ขาดความเป็นธรรม ไม่โปร่งใส มีการครอบงำและชี้นำการพิจารณาของคณะกรรมการท่านอื่นๆ
รวมถึงตรวจสอบความโปร่งใสในหลักเกณฑ์ เงื่อนไข ขั้นตอน คุณสมบัติ วิธิการให้คะแนนแต่ละปัจจัย และการใช้ดุลพินิจของคณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทนที่จะทำให้ได้ผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ที่ไม่เหมาะสมในการบริหารจัดการธุรกิจของบริษัทฯ ในอนาคต ไม่มีความสามารถที่จะสร้างคุณค่าให้กับบริษัท ไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน เพราะขาดความรู้ความชำนาญ ความสามารถในทักษะการสื่อสารภาษาในระดับสากลกับคู่ค้า นักลงทุน และเจ้าของธุรกิจชาวต่างชาติในโครงการต่างๆ เช่น อีอีซี
หนังสือของตัวแทนกลุ่มผู้ถือหุ้นของบริษัท อิสท์ วอเตอร์ ระบุด้วยว่า ความโปร่งใสเป็นสิ่งสำคัญที่สุด พวกเราจึงต้องการให้มีการตรวจสอบการดำเนินการของ นางอัศวินี ซึ่งหากพบว่ามีการทุจริต บริหารงานที่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย บริหารงานหรือจัดการงานที่ไม่เหมาะสม หรือเป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรมหรือเป็นการเอาเปรียบ ทางผู้ถือหุ้นก็จะดำเนินการทางกฎหมายต่อไป ซึ่งอาจเข้าข่ายเป็นผู้ที่มีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจทำให้เป็นผู้ที่ลักษณะต้องห้ามไม่สามารถดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการ ผู้จัดการ ผู้มีอำนาจในการจัดการหรือที่ปรึกษาของสถาบันการเงินได้อีกตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่ กจ. 3/2560 เรื่อง การกำหนดลักษณะขาดความน่าไว้วางใจของกรรมการและผู้บริหารของบริษัท
ด้าน เลขาธิการก.ล.ต. รื่นวดี สุวรรณมงคล เปิดเผยว่า ตามกระบวนการเมื่อมีการร้องเรียนเข้ามา ก.ล.ต.จะให้บริษัท หรือผู้มีชื่อถูกร้องเรียน ชี้แจงเข้ามา ส่วนรายละเอียดกระบวนการ ต้องรอให้เจ้าหน้าที่สรุปมาก่อนครั้ง.