วันเสาร์, พฤษภาคม 10, 2025

หนังสือพิมพ์ พิมพ์ไทยออนไลน์

หน้าแรกข่าวเด่นประเด็นร้อนข่าวกีฬาจาก”กขค.”ถึง”กสทช.”..มีก็เหมือนไม่มี!

จาก”กขค.”ถึง”กสทช.”..มีก็เหมือนไม่มี!

พิมพ์ไทยออนไลน์ // เหลือบไปเห็นข่าว ศ.ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา ประธานกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ออกมาแสดงความเป็นกังวลต่อสถานการณ์การควบรวมธุรกิจในปี 2564 ที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยข้อมูล ณ สิ้นปี 2564 มูลค่าการควบรวมธุรกิจโดยรวมอยู่ที่ 3.2ล้านล้านบาท หรือเกือบ 1 ใน 3 ของมูลค่า GDP ของประเทศไทย

นัยว่า เฉพาะปี 2564 ที่ผ่านมามีการควบรวมด้วยมูลค่าสูงถึง 2.1 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 3.4 เท่าจากปี 2563 ที่มีมูลค่าการควบอยู่ที่ 0.48 ล้านบาท โดยกลุ่มธุรกิจบริการมีสัดส่วนควบรวมมากที่สุด รองลงมาคือกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค

ขณะที่แนวโน้มการควบรวมกิจการในปี 2565 คาดว่า จะยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมที่ยังคงได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำโดยเฉพาะผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และผลพวงจากระบบเศรษฐกิจดิจิทัลที่มีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ทำให้รูปแบบการประกอบธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปเป็นรูปแบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Platform) เพิ่มมากขึ้น

“แรงกดดันดังกล่าวจะส่งผลให้ผู้ประกอบธุรกิจมีแนวโน้มควบรวมธุรกิจเพิ่มมากขึ้น เพื่อปรับตัวให้มีศักยภาพในการแข่งขันมากขึ้นและเพื่อให้อยู่รอดได้ ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่มีแนวโน้มการใช้อำนาจเหนือตลาด หรือมีการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมเพิ่มมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจเอสเอ็มอีไม่สามารถแข่งขันได้ และอาจไม่สามารถอยู่รอดได้ ถือเป็นความท้าทายที่สำคัญในการกำหนดแนวทางการกำกับดูแล”

สิ่งที่ท่านประธานกขค.สะท้อนออกมานั้น ไม่ได้ห่างไกลไปจากความเป็นจริงที่ผู้คนในสังคมพากันสัพยอก และกังขาต่อการทำหน้าที่ของ กขคและสำนักงานแข่งขันทางการค้าได้เป็นอย่างดีกันเป็นปีๆว่า “มีก็เหมือนไม่มี” หลังจาก กขค.ต้อง “เสียรังวัด” ไปกับการควบรวมธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่งยักษ์ เพราะดอดไปไฟเขียวควบรวมให้อย่างง่ายดาย จนทำให้ยักษ์ค้าปลีก-ค้าส่งที่มีส่วนแบ่งการตลาดสูงกว่า 50% เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ทะยานขึ้นไปกินรวบตลาดค้าปลีกค้าส่งของประเทศจนเกือบจะเป็นการครอบงำตลาดแบบเบ็ดเสร็จไปแล้ว

ซึ่งไม่ว่าจะพิจารณากันตามบทบัญญัติกฎหมายแข่งขันทางการค้าฯ หรืออำนาจหน้าที่ขององค์กรกำกับดูแลลักษณะเดียวกัน หากเป็นกรณีในต่างประเทศ หน่วยงานจะต้องติดเบรกสั่งระงับการควบรวมกิจการกันตั้งแต่แรกแล้ว แต่สำหรับประเทศไทย คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า กลับไฟเขียวดีลควบรวมค้าปลีกค่าส่งยักษ์ดังกล่าว

ด้วยเหตุนี้ การที่ท่านประธาน กขค.จะลุกขึ้นมาป่าวประกาศจะเข้มงวดกำกับดูแล กม.แข่งขันทางการค้า เพื่อปกป้องธุรกิจเอสเอ็มอี ป้องกันไม่ให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ใช้อำนาจเหนือตลาด กีดกันการแข่งขันหรือกินรวบตลาด จึงทำให้ผู้คนได้แต่มองด้วยความสมเพชว่า ก็แค่ “มหกรรมปาหี่” เท่านั้นเพราะองค์กรกำกับดูแลกม.แข่งขันทางการค้าของไทยนั้น “มีก็เหมือนไม่มี” นั่นเอง

เช่นเดียวกับสื่อสารโทรคมนาคม ที่กำลังเผชิญกับกรณี “ซุปเปอร์ดีล” ควบรวมกิจการยักษ์สื่อสารโทรคมนาคม ระหว่าง บมจ.ทรูคอร์ปอเรชั่น หรือ TRUEและบมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ DTac ซึ่งประธานกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขต.) ก็ “แบไต๋”ออกตัวแรงไปแล้วว่า สำนักงานแข่งขันท่างการค้าและกขต.คงไม่สามารถก้าวล่วงลงไปพิจารณาได้ เพราะเป็นอำนาจหน้าที่ของ “คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ
กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)” ที่มีกฎหมายกำกับดูแลเป็นการเฉพาะ เล่น “แบไต๋” ออกตัวแรงกันซะขนาดนี้ ทุกฝ่ายจึงได้แต่ “อึ้งกิมกี่” แล้วหน่วยงานกำกับดูแลอย่าง กสทช.จะมี “น้ำอิ๊ว”อะไรสกัดหรือยับยั้งซูเปอร์ดี
ลที่กำลังจะพลิกโฉมหน้าอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของประเทศครั้งนี้ได้ เพราะลำพังแค่การกำกับดูแลให้เกิดการแข่งขันเสรีและเป็นธรรมตามภารกิจหลักและขอบเขตอำนาจหน้าที่ของ กสทช.ในปัจจุบัน หน่วยงาน กสทช.ก็ถูกสังคมตั้งข้อกังขาในการทำหน้าที่มาโดยตลอดอยู่แล้ว

เมื่อสแกนลงไปดูกฎหมายและบรรดาเครื่องไม้เครื่องมือขององค์กรกำกับดูแลกิจการสื่อสารโทรคมนาคมแห่งนี้ ที่แม้ จะถอดรูปแบบมาจาก กฎหมายแข่งขันทางการค้ามาบังคับใช้ ซึ่งก็รวมไปถึงอำนาจที่จะพิจารณาอนุมัติหรือไม่อนุมัติ แต่ไม่รู้ว่า ที่ผ่านมา กสทช.ไปคัดลอกหลักการ ถอดรูปแบบการกำกับดูแลการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรมกันอีท่าไหน

วันดีคืนดีก็กลับไปออก กม.จำกัดและลดทอนอำนาจของตนเองขึ้นมาซะงั้น อย่างประกาศ กสทช.ปี 2561 ที่ว่าด้วยมาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคมที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นประกาศที่กสทช.ไปแก้ไขและยกเลิกประกาศ กสทช.เดิมปี 2553 นั้น ก็จำกัดอำนาจหน้าที่ กสทช.ให้เหลืออยู่เพียง “รับทราบ”การควบรวมกิจการที่ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมที่รับใบอนุญาตจาก กสทช.แจ้งมาเท่านั้น ไม่สามารถจะทัดทานหรือสั่งห้ามได้ แม้การควบรวมกิจการดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดการผูกขาดและจำกัดการแข่งขันในตลาดโทรคมนาคมก็ตาม

แต่เดิมตาม ประกาศ กสทช.ปี 2553 ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการควบรวมและการถือหุ้นไขว้ในกิจการโทรคมนาคมเอาไว้ให้ กสทช.สั่งห้ามการควบรวมที่ส่งผลกระทบต่อการแข่งขันและการผูกขาดได้ ในกรณีที่คณะกรรมการเห็นว่า การควบรวมกิจการอาจทำให้เกิดการครอบงำตลาดที่เกี่ยวข้องให้คณะกรรมการสั่งห้ามควบรวมกิจการ

แต่ประกาศ กสทช.ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันนั้น ได้ตัดอำนาจในการระงับการขอควบรวมกิจการออกไป ทำให้กสทช.ทำหน้าที่เพียงรับทราบและจดแจ้งการควบรวม ไม่สามารถใช้อำนาจที่มีกฎหมายสั่งห้ามการควบรวมที่ส่งผลต่อการผูกขาดและลดการแข่งขันที่ร้ายแรงออกไป

นอกจากนี้ ในเรื่องของกรอบระยะเวลาในการพิจารณาอนุมัติการควบรวมกิจการ ก็ให้น่าฉงน เพราะ กสทช.ได้จำกัดและบั่นทอนอำนาจของตนเองโดยกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาต หรือผู้มีอำนาจควบคุมผู้รับใบอนุญาตที่ประสงค์จะทำการควบรวมกิจการ ต้องรายงานต่อเลขาธิการ กสทช.ไม่น้อยกว่า 90 วัน ก่อนการดำเนินการ โดยที่ กสทช.ทำได้แค่การจัดตั้งที่ปรึกษาอิสระ(FA) ขึ้นจัดทำความเห็นประกอบรายงานการควบรวมธุรกิจเท่านั้น โดยต้องจัดทำ
ความเห็นประกอบภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง

ผลพวงจากประกาศ กสทช.ฉบับนี้ที่เป็นการตัดแขนขาของตนเองนั้น จึงทำให้ผู้รับใบอนุญาตที่จะดำเนินการควบรวมกิจการ เพียงแค่รายงานธุรกรรม
การควบรวมที่จะมีขึ้นต่อเลขาธิการ กสทช.เท่านั้น ก็สามารถเดินหน้ากระบวนการควบรวม ทำ Deal Diligence หรือดำเนินการในเรื่องอื่น ๆ ต่อได้ทันทีโดยไม่ต้องขออนุมัติดำเนินการใดๆ จาก กสทช.

ยิ่งในส่วนของการแต่งตั้งที่ปรึกษาอิสระขึ้นศึกษาจัดทำความเห็นประกอบรายงานการควบรวมกิจการที่แม้จะกำหนดให้เลขาธิการ กสทช.เป็นผู้แต่งตั้งที่ปรึกษาอิสระซึ่งมีคุณสมบัติ โดยจะต้องจัดทำความเห็นประกอบภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง แต่เมื่อกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตที่ยื่นขอดำเนินการควบรวมเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย ก็หมายความว่า การแต่งตั้งที่ปรึกษาอิสระที่ว่า แทบจะกลายเป็นการแต่งตั้งที่ปรึกษา(ไร้อิสระ)หรือต้องดำเนินการตามที่ผู้ยื่นความประสงค์ควบรวมกิจการกำหนดทิศทางให้นั่นเอง

เหนือสิ่งอื่นใด สิ่งที่สังคมยังคงตั้งข้อกังขาต่อการพิจารณาดีลควบรวมกิจการครั้งประวัติศาสตร์ทรู-*ดีแทคในเวลานี้ก็คือ เหตุใด กสทช.ชุดรักษาการในปัจจุบัน ยังคงทำหน้าที่พิจารณาเรื่องนี้อย่างถึงพริกถึงขิง ทั้งที่วุฒิสภาได้โหวตเห็นชอบ กสทช.ชุดใหม่ไปตั้งแต่ปีมะโว้เมื่อปลายปี 64 ไปแล้ว และสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาได้แจ้งรายชื่อว่าที่ กสทช.ชุดใหม่มายังคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ แต่งตั้ง กสทช.ชุดใหม่ไปแล้วตั้งแต่ต้นปี 65

นั่นหมายความว่า กสทช.ชุดรักษาการชุดนี้ ที่เป็นผู้มีส่วนสำคัญในการแก้ไขประกาศ กสทช.ที่ว่าด้วยการกำกับดูแลการควบรวมกิจการ การกำหนดหลักเกณฑ์ที่ว่าด้วยการควบรวมกิจการ โดยยอมตัดแขนขาตนเองจะโดยตั้งใจ หรือไม่ตั้งใจก็ตามที ไม่ควรจะไปพิจารณาเรื่องใหญ่ที่จะส่งผลต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคมของประเทศเยี่ยงนี้ แต่ควรปล่อยให้เป็นเรื่องของ กสทช.ชุดใหม่เข้ามาโม่แป้งเอง

แต่กลับเป็นเรื่องที่น่าแปลก ทั้ง นายกฯและประธาน กสทช.ชุดรักษาการ(จนรากงอก) ยังคงไฟเขียวให้ กสทช.ชุดนี้ที่ถือได้ว่าพ้นหน้าที่กันไปหมดแล้วยังคงออยู่โยงทำการพิจารณาการควบรวมกิจการครั้งประวัติศาสตร์นี้ เสมือนเป็นการเร่ง “ปิดดีล”ให้ได้ก่อนเปลี่ยนผ่านอำนาจไปให้ กสทช.ชุดใหม่ยังไงยังงั้น

สิ่งเหล่านี้มันทำให้คิดเป็นอื่นไปไม่ได้เลย นอกจากมีไอ้โม่ง- Invisible Hand ชักใยอยู่เบื้องหลังเพื่อกระเตง “ซูเปอร์ดีล” ควบรวมครั้งประวัติศาสตร์นี้ไปสู่เป้าหมายให้ได้ก่อน กสทช.ชุดใหม่จะเข้ามารับไม้ต่อ และปาดหน้ากรรมาธิการวิสามัญศึกษาผลกระทบจากการควบรวมกิจการสื่อสารทารคมนาคมฯ สภาผู้แทนฯ ที่กำลังเร่งเครื่องตรวจสอบเรื่องนี้กันอยู่

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ประชาชนคนไทยและทุกภาคส่วนตอกย้ำมาโดยตลอด ลำพังแค่การกำกับดูแลให้เกิดการแข่งขันเสรีและเป็นธรรมตามภารกิจและขอบเขตอำนาจหน้าที่ของ กสทช.ในปัจจุบัน หน่วยงาน กสทช.ก็ถูกสังคมตั้งข้อกังขาในการทำหน้าที่มาโดยตลอดอยู่แล้ว หากแม้กรณี “ซุบเปอร์ดีลควบรวมกิจการทรู-ดีแทค” ยังแหกกฎบัดกฎหมายไปได้ โดยที่ กสทช.ได้แต่นั่งทำตาปริบๆ ด้วยข้ออ้าง ไม่มีอำนาจสั่งระงับยับยั้งได้แล้ว

สังคมยังจะค่าดหวังอะไรเอากับการทำหน้าที่กำกับดูแลให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรมและเสรีขององค์กร กสทช.ได้อีก ตรงกันข้ามน่าจะเป็นเครื่องตอกย้ำให้เห็นว่า องค์กรกำกับดูแลการแข่งขันของประเทศไทย ทั้งคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า( กขค.) และคณะกรรมการกิจการกระจาขเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)นั้น “มีก็เหมือนไม่มี” เสียมากกว่า!

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวใหม่