วันเสาร์, พฤษภาคม 10, 2025

หนังสือพิมพ์ พิมพ์ไทยออนไลน์

หน้าแรกข่าวเด่นประเด็นร้อนข่าวกีฬารุมค้านดีลควบรวมทรู-ดีแทคกระหึ่มเมือง!

รุมค้านดีลควบรวมทรู-ดีแทคกระหึ่มเมือง!

พิมพ์ไทยออนไลน์ // เมื่อวันที่ 18 ก.พ.65 ที่ผ่านมา สภาองค์กรเพื่อผู้บริโภค ได้จัดเสวนาออนไลน์ “ดีล True – Dtac ต้องโปร่งใส กสทช. ต้องรับฟังผู้บริโภค” โดยมีนักวิชาการ ตัวแทนในภาคประชาชนเข้าร่วมสะท้อนมุมมองที่มีต่อดีลควบรวมกิจการระหว่าง บมจ.ทรูคอร์ปอเรชันจำกัด และบมจ.โทเทิ่ลแอ็คเซ็สคอมมูนิเคชัน

โดยดร สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ผลกระทบจากการควบรวมจะส่งผลประโยชน์ต่อบริษัท 2 ทาง 1.ทำให้บริษัทมีประสิทธิภาพ และเพิ่มขนาดมูลค่าของธุรกิจ 2.เพิ่มอำนาจการผูกขาดธุรกิจ ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคเสียผลประโยชน์ ซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์ ต้องชั่งน้ำหนักข้อดีข้อเสีย 2 ข้อนี้ หากไม่เป็นประโยชน์ จะไม่อนุญาตเลย หรือหากอนุญาตจะมีการกำหนดเงื่อนไข

“การควบรวมมีผล 2 แบบ ถ้าทำให้มีนวัตกรรมและต้นทุนที่ถูกลงจะส่งประโยชน์ต่อผู้บริโภค และรายที่ไม่เกี่ยวข้องอย่าง AIS ต้องตัดราคาเพื่อแข่งขันกัน และเกิดการคัดค้าน แปลว่าการควบรวมนั้นเป็นของดี แต่กรณีที่เกิดขึ้น กลับไม่มีรายใดคัดค้าน เพราะทุกคนเห็นว่าดีลครั้งนี้จะทำให้อำนาจเหนือตลาด และผู้ประกอบการในตลาดเดียวกันได้รับผลประโยชน์ทุกเครือข่าย หลักฐานที่ชัดเจนก็คือราคาหุ้นของทั้ง 3 เครือข่าย มีราคาเพิ่มขึ้นหลังการประกาศควบรวม กรณีของ AIS ถือว่าแปลกเพราะไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้อง แต่ราคาหุ้นกลับ ชี้ว่าการควบรวมครั้งนี้ส่งผลเสียต่อผู้บริโภค ซี่งหน่วยงานกำกับดูแลคือ กสทช. ควรสั่งระงับ หากไม่สามารถระงับความเสียหายที่จะเกิดขึ้นได้ สะท้อนให้เห็นว่าการกำกับดูแลธุรกิจผูกขาดของประเทศไทยล้มเหลวทั้งระบบ คำถามที่จะตามมาของสังคมก็คือ แล้วเราจะมีกสทช. และ กขค.ไว้ทำไม”

ผศ.กมลวรรณ ชีววิศิษฐ์ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายพาณิชย์และธุรกิจ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ผลกระทบจากดีลควบรวมกิจการที่จะเกิดขึ้นนั้นในทางเศรษฐศาสตร์มีการคาดการณ์กันไว้อยู่แล้วว่า จะเกิดขึ้นกับประชาชนแน่นอน เพราะทางเลือกที่ลดลง เนื่องจากผลประโยชน์จะย้ายไปฝั่งของผู้ประกอบการ

อย่างไรก็ตาม หากดูในส่วนของกฎหมายที่เกี่ยวข้องนั้น ใน พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯปี 2553 ได้กำหนดไว้ทั้งอำนาจหน้าที่ของ กสทช.ที่ต้องเข้ามาดูเรื่องนี้โดยมีทั้งอำนาจ และหน้าที่ที่ต้องลงมาดู ประกอบ พรบ.ประกอบกิจการโทรคมนาคมปี 44 ประกาศ กสทช.ปี 49 เรื่องมาตรการป้องกัน มิให้มีการกระทำอันเป็นการูกขาด หรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน และประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคมปี 61

โดยในส่วนของประกาศ กสทช.เรื่องมาตรการป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็ฌนการผูกขาดปี 49 นั้นใน ข้อ 8 การถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน โดยการเข้าซื้อ หรือถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 10 ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม หรือผ่านตัวแทนจะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ ซึ่งกรณีที่คณะกรรมการพิจารณาว่าการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกันตามวรรคหนึ่ง อาจส่งผลให้เกิดการผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขันในธุรกิจการให้บริการโทรคมนาคีม คณะกรรมการอาจสั่งห้ามการถือครองกิจการ หรือกำหนดมาตรการเฉพาะตามหวด 4 ก็ได้

นางสฤณี อาชวานันทกุลิ์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า กสทช. ต้องออกมาแสดงท่าทีให้ชัด เพราะมีหน้าที่ดูแลการแข่งขันเพื่อป้องกันการผูกขาด และความไม่เป็นธรรม ตั้งแต่การประกาศจะดำเนินการควบรวมธุรกิจ แม้จะบอกว่าอยู่ระหว่างการหารือ แต่ข้อมูลที่สะท้อนออกมาจากทุกภาคส่วนนั้น เห็นชัดอยู่แล้วว่าถ้าปล่อยให้เดินหน้าโดยไม่มีหน่วยงานใดเข้าไปกำกับ ก็จะนำไปสู่ภาวการณ์ผูกขาดและไม่เป็นธรรม

“จะควบรวมหรือไม่ควบรวม กสทช.มีหน้าที่กำกับการกระทำใดๆ ที่มีพฤติกรรมส่อเค้าความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน ส่วนตัวคิดมาตลอดว่า กสทช.ไม่ควรจะรออะไรเลย ตั้งแต่วันแรกที่แจ้งตลาดหลักทรัพย์ กสทช.ต้องวางกระบวนการกำกับและเรียกข้อมูล ต้องไม่ให้มีการควบรวมกิจการ ถ้าผู้ถือหุ้นดีแทค อยากออกจากตลาดก็ให้ขายกิจการให้รายอื่นที่ไม่ใช่เอไอเอสและทรู ซึ่งน่าจะสอดคล้องกับบริบทของสังคมไทย หรือหากจะให้ควบรวม ต้องกำหนดเงื่อนไขให้คงผู้ประกอบการ 3 ราย คือเอาคลื่นคืนบางส่วน เพื่อนำมาประมูลใหม่ให้รายใหม่เข้าสู่ตลาด และให้ควบรวม แล้วไปส่งเสริมให้เกิด MVNO ผู้ประกอบการรายใหม่ ไม่มีมีโครงข่าย

นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกสทช.ด้านคุ้มครองผู้บริโภคกล่าวว่า ในฐานะผู้มีอำนาจพิจารณาดีลผูกขาดครั้งนี้ ปัจจุบันยังไม่ได้ข้อสรุป ซึ่งที่ผ่านมา กสทช.ได้คำนึงข้อมูลทุกด้าน หากไม่เป็นกลางก็จะถูกร้องเรียนจากผู้ยื่นควบรวมธุรกิจ ส่วนในครั้งนี้หลายภาคส่วนได้เข้ามาทักท้วง กสทช.ต่อการพิจารณาเรื่องนี้ รวมทั้งกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาผลกระทบจากการควบราวมฯ สภาผู้แทน ซึ่งได้สั่งข้อทักท้วงต่างๆ มายัง กสทช.ที่จะต้องเร่งชี้แจงกลับไป

นพ.ประวิทย์กล่าวว่าที่ผ่านมา กสทช.มีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการรับมือสิ่งที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะการศึกษาของคณะกรรมาธิการในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีตัวแทนของ กสทช.เข้าไปประชุมทุกสัปดาห์ โดยมีข้อสรุปร่วมกันว่ารัฐต้องมีอำนาจกำกับดูแลการควบรวมธุรกิจคมนาคม เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนทั้งระยะสั้นและระยะยาว

ทั้งนี้ ปัญหาสำคัญของการควบรวมคือ ‘การลดจำนวนผู้เล่น’ แต่ในทางกลับกันก็สามารถเพิ่มผู้เล่นได้ และทาง กมธ.ได้ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมในเชิงธุรกิจคือ ข้อดีและข้อเสีย แต่อยากให้วิเคราะห์เชิงลึกว่ามีผลประโยชน์ซ่อนเร้นหรือไม่ ที่เป็นแรงจูงใจให้เกิดการควบรวม นอกจากการประหยัดทรัพยากร

“ในกรณีที่จะให้มีการควบรวม ต้องมีการศึกษาและกำหนดมาตรการและเงื่อนไขธุรกิจ ซึ่งจะครอบคลุมเชิงโครงสร้างและมาตรการ พฤติกรรม และเหตุผลที่เอกชนยื่นขอควบรวม คือประหยัดทรัพยากร เช่น โครงสร้างพื้นฐานที่อาจมีความซับซ้อน สำหรับกรณีที่ไม่ให้ควบรวมจะต้องดูว่าส่งผลกระทบต่อบริษัท สถานะบริษัทและตลาดหรือไม่อย่างไรซึ่งเป็นสิ่งที่ กสทช.จะต้องชี้แจงกลับไปยังกรรมาธิการฯสภาผู้แทน.

 

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวใหม่