พิมพ์ไทยออนไลน์ // ครม.ลุงตู่ แตกโพละ หลัง “เสี่ยหนู-อนุทิน” ภท. หักดิบไม่ไว้หน้า นำ 7 รมต.ภูมิใจไทย ตบเท้าลาประชุม ครม. ทำเส้นทางพิจารณาต่อสัมปทานสายสีเขียว 30 ปี ตามคำสั่งนายกฯ ล่มอีกเป็นคำรบ 3 แม้นายกฯ ยอมไฟเขียวประมูลรถไฟทางคู่ 1.28 แสนล้านให้ วงในจับตารถไฟทางคู่-สายสีส้ม-ม่วงใต้จ่อสะดุดตออีกหน
การประชุมคณะรัฐมนตรี วันนี้ (8 ก.พ.65) ที่มีกำหนดจะพิจารณาข้อเสนอของกระทรวงมหาดไทยที่เตรียมนำเรื่องการต่อขยายสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้า สายสีเขียว ระหว่างกรุงเทพมหานคร (กทม.) กับ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ บีทีเอส (BTS) เข้าสู่ที่ประชุมเพื่อพิจารณาเห็นชอบการต่อขยายสัญญาสัมปทานให้แก่บีทีเอสไปอีก 30 ปี จากที่สิ้นสุดสัญญาในปี 2572 เพื่อแลกกับการให้เอกชนแบกรับภาระหนี้สินทั้งหมดของ กทม. เกือบ 100,000 ล้านบาท และตรึงอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า สายสีเขียวสูงสุดไว้ไม่เกิน 65 บาท จากที่เดิม กทม.จะจัดเก็บมากกว่า 104 บาทตลอดสาย
ต่อสัญญาสัมปทานบีทีเอส “เคว้ง” คำรบ 3
อย่างไรก็ตาม ก่อนการประชุม ครม. จะเริ่มขึ้นปรากฏว่า บรรดารัฐมนตรีในสังกัดพรรคภูมิใจไทยจำนวน 7 คน ประกอบด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกุลรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข, นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม, นายทรงศักดิ์ ทรงศรี รมช.มหาดไทย, นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา, น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ และ นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ ต่างยื่นหนังสือขอลา
การประชุมเนื่องจากติดภารกิจ จึงทำให้ที่ประชุม ครม. วันนี้ไม่สามารถพิจารณากรณีต่อขยายสัญญาสัมปทานได้ จำเป็นต้องถอนวาระดังกล่าวออกไปอีกครั้งเป็นคำรบ 3
การที่รัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทย (ภท.) พร้อมใจกัตบเท้าไม่เข้าร่วมประชุม ครม.ครั้งนี้ ถูกตั้งข้อสังเกตว่าเพื่อเป็นการแสดงออกถึงความไม่เห็นด้วยกับการต่อขยายสัญญาสัมปทานให้กับ BTS ออกไปอีก 30 ปี หลังจากกระทรวงคมนาคมได้แสดงท่าทีคัดค้านมาโดยตลอด โดยอ้างว่า อัตราค่าโดยสารที่กำหนดไว้ในร่างสัญญาสูงเกินไป และกระทรวงมหาดไทยยังไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบกฎหมาย และหลักธรรมาภิบาล
เงื่อนงำคมนาคมขวางสุดลิ่ม!
แหล่งข่าวจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทยได้จัดตั้งคณะทำงานขึ้นเจรจาแก้ไขปัญหาหนี้ค้างชำระระหว่าง กทม.และ บีทีเอส ตามคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และได้นำผลการเจรจาดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจไปเรียบร้อยแล้วตั้งแต่ปลายปี 2562 แต่เมื่อนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) กลับปรากฏว่า กระทรวงคมนาคมที่เคยให้ความเห็นชอบมาโดยตลอด กลับจัดทำความเห็นคัดค้านการขยายสัญญาสัมปทานขึ้นมา โดยอ้างว่า อัตราค่าโดยสารที่กำหนดไว้ 65 บาทตลอดสาย สูง
เกินไป เมื่อเทียบกับรถไฟฟ้าของ รฟม. และยังมีประเด็นข้อกฎหมาย และมติคณะรัฐมนตรีที่กระทรวงคมนาคมยังดำเนินการไม่ครบถ้วน จึงทำให้กระทรวงมหาดไทยต้องขอถอนเรื่องออกจากที่ประชุม ครม. ไปแล้วถึง 2 ครั้ง
ล่าสุด ก่อนการประชุม ครม. ในวันนี้กระทรวงคมนาคมได้เสนอความเห็นเพิ่มเติมให้ ครม. พิจารณาประกอบด้วย เนื่องจากมีประเด็นเพิ่มอีก 2 ประเด็น คือ สิทธิการคำนวณค่าโดยสาร การรองรับระบบตั๋วร่วม และความชัดเจนของประเด็นข้อกฎหมาย ที่ กทม. ยืนยันว่า จะเข้าดำเนินการตั๋วร่วม แต่ไม่ยอมลงทุนเอง
แหล่งข่าว กล่าวด้วยว่า แนวทางการต่อขยายสัญญาสัมปทานเป็นทางออกที่ดีที่สุด ในการแก้ไขปัญหาภาระหนี้คงค้างกว่า 1 แสนล้าน ที่ กทม. มีอยู่กับบีทีเอส ซึ่งล่าสุด บริษัทเอกชนได้ยื่นฟ้องมูลหนี้ดังกล่าวไปแล้ว การที่รัฐบาล และ ครม. ยังคงดึงเรื่องการเจรจาต่อขยายสัญญาออกไป จะยิ่งทำให้ กทม. ต้องแบกภาระหนี้เพิ่มไปอีก เนื่องจากไม่สามารถจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้า ส่วนต่อขยายได้ เนื่องจาก ครม. ได้สั่งให้ กทม. ระงับการจัดเก็บค่าโดยสารเอาไว้ก่อน จากที่เคยนำเสนอจะจัดเก็บในอัตรา 104 บาทตลอดสายไปก่อนหน้านี้ โดย ครม.ให้ไปดำเนินการเจรจาหาค่า
โดยสารที่เหมาะสมร่วมกับกระทรวงคมนาคมเสียก่อน
ทั้งนี้ ผลการเจรจาที่ได้จนนำมาสู่การขยายสัญญาสัมปทานออกไป 30 ปีนั้น เป็นแนวทางที่เหมาะสมที่สุด เพราะหากจะรอให้สัญญาสัมปทานสิ้นสุดลงปี 2572 แล้วประมูลหาเอกชนรายใหม่เข้ามาดำเนินการ แม้ทำได้ รัฐและ กทม. ต้องจัดหางบไปจ่ายค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าและชำระหนี้ค้างระบบรถไฟฟ้าให้กับบีทีเอสก่อนอยู่ดี และหากจะเปิดให้เอกชนรายใหม่เข้า ก็ยังต้องเผชิญกับปัญหาสัญญาจ้างบริหารที่ยังเหลืออีก 2 สัญญาที่จะสิ้นสุดในปี 2585 หรือหากจะโอนส่วนต่อขยายกลับไปให้ รฟม.ดำเนินการเอง ตามที่มีบางฝ่ายเรียกร้องก็คงยุ่งขิงอยู่ดี เพราะ รฟม.ก็คงประเคน
โครงการไปให้ BEM บริหารเดินรถต่อ อันจะทำให้เกิดปัญหาในการเชื่อมต่อกับสายหลัก ที่อาจถึงขั้นต้องให้ผู้โดยสารลงจากรถเดินข้ามสถานีอีก
“การคัดค้านของกระทรวงคมนาคมนั้น มีเงื่อนงำ ที่นายกฯ และ รมว.คลัง (นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ) รู้อยู่เต็มอก เพราะต้องการนำเอาโครงการนี้เป็นข้อต่อรองทางการเมือง เพราะก่อนหน้านี้ กระทรวงคมนาคมได้เห็นชอบกับผลการเจรจาแก้ไขสัญญาสัมปทานกับบีทีเอสดังกล่าวมาโดยตลอด รวมทั้งตัวนายศักดิ์สยามเองก็ไม่เคยทักท้วง หรือคัดค้านผลการเจรจาแก้ไขสัญญาเพื่อต่อขยายสัญญาสัมปทานบีทีเอสที่ว่านี้ แต่เมื่อมีปัญหากรณีการประมูลโครงการรถไฟฟ้า สายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี วงเงิน 1.427 แสนล้านบาท ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เมื่อกลางปี 63 เมื่อบริษัท บีทีเอส ยื่นฟ้อง รฟม. และคณะกรรมการตามมาตรา 36 กรณีปรับเปลี่ยนเกณฑ์ประมูลที่ไม่เป็นไปตาม TOR จนศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้ รฟม. ระงับการนำเกณฑ์ประมูลคัดเลือกใหม่ กระทรวงคมนาคมก็มีท่าทีที่เปลี่ยนไป และลุกขึ้นมาคัดค้านการต่อขยายสัมปทานรถไฟฟ้า สายสีเขียวอย่างหนักเป็นการตอบโต้ เพื่อหวังจะให้นายกฯ เจรจาให้บีทีเอสรามือจากการเข้าประมูลโครงการรถไฟฟ้า สายสีส้ม รวมทั้งถอนฟ้องคดีความทั้งหมดที่มีอยู่”
จับตานายกฯ ลุงตู่ เอาคืนรถไฟทางคู่-รถไฟฟ้า 2 สาย
ก่อนหน้านี้ มีรายงานพลเอกประยุทธ์ได้มีการเจรจาไฟเขียวให้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่อยู่ในความดูแลของ พรรคภูมิใจไทย ลงนามในสัญญาประกวดราคาก่อสร้างรถไฟ ทางคู่ 2 สายทาง คือ รถไฟทางคู่สายเหนือและสายอีสาน วงเงินก่อสร้างรวมกว่า 1.28 แสนล้านบาท หลังจากที่นายกฯ ได้ตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองการประมูลโครงการดังกล่าว เนื่องจากมีกระแสข่าวสะพัดว่า มีการฮั้วประมูล เพราะโครงการที่แบ่งเนื้่องานออกเป็น 5 สัญญา และมีบริษัทรับเหมาเอกชนเข้าร่วมประมูล 5 ราย เช่นกันนั้น ผู้รับเหมาได้เสนอราคาต่ำกว่าราคากลางใบเพียง 30-40 ล้านบาทเท่านั้น หรือ 0.08% จากวงเงินก่อสร้างรวม 1.28 แสนล้านบาท แต่ในที่สุดนายกฯ ก็ไฟเขียวให้ กระทรวงคมนาคม และการรถไฟฯ ลงนามในสัญญาโครงการดังกล่าวต่อไป
แต่ผลจากการที่รัฐมนตรีในสายพรรคภูมิใจไทยบอยคอตไม่เข้าร่วมพิจารณา การต่อขยายสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวในครั้งนี้ จนเป็นเหตุให้เส้นทางต่อขยายสัญญาสัมปทานค้างเติงออกไปอีก และส่อให้เห็นความปริแตกภายในพรรคร่วมรัฐบาลลอย่างชัดเจนนั้น ทำให้วงการรับเหมาต่างเชื่อว่า หลังจากนี้คงจะมีกลุ่มบุคคลยื่นเรื่องร้องเรียนโครงการประกวดราคารถไฟฟ้ารถไฟทางคู่วงเงิน 1.8 แสนล้านบาท ของการรถไฟฯ ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. รวมทั้งเชื่อว่า ในส่วนของการประมูลก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้วงเงิน 8.2 หมื่นล้าน ที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่ง
ประเทศไทย (รฟม.) เพิ่งเสร็จสิ้นการประมูลไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยบริษัทรับเหมามีการเสนอต่ำกว่าราคากลางไปเพียง 128 ล้านบาท หรือ 0.8 % รวมทั้งการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันตก วงเงินจะมีการประมูลก่อสร้างเป็นลำดับถัดไปนั้น เชื่อแน่ว่า นายกฯ จะอาศัยเรื่องนี้ ระงับการดำเนินการของไว้ก่อนอย่างที่จะประมูลตามมานั้น เชื่อแน่ว่า พรรค พปชร. และนายกฯ คงจะขัดขวางไม่ยอมให้ผ่านไปโดยง่ายแน่!