พิมพ์ไทยออนไลน์ // จ่อระอุทะลักแดดเป็นปรอทแตกแทรกอุณหภูมิทางการเมืองที่กำลังร้อนระอุ!
กับเรื่องที่ “สหภาพรัฐวิสาหกิจการประปาส่วนภูมิภาค (สร.กปภ.)”ออกโรงเรียกร้องให้องค์กรตรวจสอบทั้งหลายแหล่เข้ามาตรวจสอบขบวนการ “ปล้นชาติ” ในกปภ.หลังบอร์ดและฝ่ายบริหาร กปภ.เตรียมแก้ไขสัญญาสัมปทานผลิตและจำหน่ายประปากับบริษัทประปาทุมธานีจำกัด ในเครือกลุ่ม ช.การช่าง ออกไปอีก 20 ปีจากสัญญาเดิมที่จะสิ้นสุดลงในปี 2566 นี้
เป็นการมุบมิบๆต่อขยายสัญญาสัมปทานหรือไม่ จนทำเอาพนักงาน กปภ. “ลุกฮือ”ขึ้นมาร้องแรกแหกกระเชอไปทั่วสารทิศ ถึงขั้นรุกไล่ฝ่ายบริหารโดยเฉพาะตัวผู้ว่าการ กปภ. ที่ทำตัวเป็น “สนต้องลม” ยอมให้ทุนการเมืองเข้ามาล้วงตับ “บอนไซ” องค์กรตนเอง!
เพราะแต่เดิมนั้นบอร์ดกปภ.ที่มี “ปลัดฉิ่ง-นายฉัตรชัย พรหมเลิศ” ปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน มีนโยบายชัดเจนที่จะให้กปภ.ดำเนินการผลิตและจำหน่ายประปาในพื้นที่ปทุมธานี-รังสิตเอง ภายหลังสัญญาสัมปทานที่ กปภ.มีอยู่กับบริษัทเอกชนสิ้นสุดลง! ตามมติบอร์ดกปภ.เมื่อ 24 เม.ย.2562
แต่วันดี คืนดี เมื่อมีการปรับเปลี่ยนบอร์ดกปภ.ในปี 2564 ก็เกิดเรื่อง “พลิกล็อค” ช็อคซีนีม่าขึ้น เมื่อจู่ ๆ ก็มีกระแสข่าวสะพัดว่า กปภ.ได้รับนโยบายหรือ “ใบสั่ง” จากบิ๊กการเมืองที่ผู้กำกับดูแลที่ให้กปภ.รับข้อเสนอของบริษัทเอกชนคู่สัญญาที่ทำเรื่องขอขยายสัญญาสัมปทานออกไปอีก 20ปีจากที่จะสิ้นสุดในปี 2566 โดยอ้างสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ท่ามกลางความงวยงงของคน กปภ. อะไรมันจะกลับตาลปัตรกันได้ถึงเพียงนี้
เหตุนี้ จึงทำเอาคน กปภ.ลุกฮือขึ้นร้องแรกแหกกระเชอไปยังหน่วยงานต่างๆ ไล่ดะมาตั้งแต่ ป.ป.ช. ,สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน, ,ประธานกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริต สภาผู้แทนฯ รวมทั้งล่าสุด ยังได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองและทุเลาการดำเนินการทั้งมวลของ กปภ.เอาไว้ก่อน
หากทุกฝ่ายจะได้ย้อนไปพิจารณาเส้นทางการต่อขยายสัมปทานโครงการต่างๆ เทียบเคียงกัน อย่างสัมปทานพัฒนาที่ดินรถไฟ 47 ไร่บริเวณสามเหลี่ยมพหลโยธิน (ห้าแยกลาดพร้าว) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) หรือที่สำนักงานทรัพย์สินเปิดประมูลสัมปทานพัฒนาที่ดินโรงเรียนเตรียมทหาร และล่าสุดที่สยามสแควร์นั้น จะเห็นได้ว่าทุกโครงการล้วนสร้างดอกผลกำรี้กำไรให้กับหน่วยงานเจ้าของโครงการกันพุงปลิ้น! ได้เม็ดเงินผลประโยชน์เข้ารัฐมหาศาลนับหมื่นล้านหรือนับแสนล้าน
แต่การต่อขยายสัญญาสัมปทานประปามูลค่านับหมื่นล้านที่กระทรวงมหาดไทยและกปภ.กำลัง“ลุยกำถั่ว” กันอยู่นี้ ทั่น รมต.มหาดไทย และผู้ว่าการกปภ.ช่วยตอบข้อกังขาของสังคมได้ไหมว่า กปภ.ได้ “ค่าต๋ง” หรือเม็ดเงินผลประโยชน์ตอบแทนอะไรมาบ้างจากการต่อขยายสัญญาสัมปทานไปถึง 20 ปี
ขอโทษ!นอกจากจะไม่ได้ค่าต๋งอะไรกลับมา เม็ดเงิน “ส่วนต่าง” จากการขายน้ำประปาจากที่กปภ.จะดำเนินการเอง กับสัญญาแก้ไขฉบับใหม่ที่กปภ.สุมหัวดำเนินการกันอยู่นี้ที่กำหนดอัตราค่าน้ำประปาไว้ตั้งแต่ 10.15 บาทขึ้นไป และปรับค่าน้ำทุกปีตามดัชนีเงินเฟ้อ CPI นัยว่ามีส่วนต่างกำรี้กำไรทะลักไปกว่า 14,400 ล้านเลยทีเดียว
กับข้ออ้างของบอร์ดและฝ่ายบริหาร กปภ.ที่ว่า การต่อขยายสัญญาสัมปทานเป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 46 47 และ48 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯปี2562 นั้น ก็ไม่รู้ผู้ว่า และบอร์ดกปภ.ไปหยิบยกเอามาจากไหน และได้เคยสอบถามเรื่องไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาบ้างหรือไม่?
เพราะจากการตรวจสอบเส้นทางการอนุมัติต่อขยายสัมปทานที่ว่าพบว่า “มีการดำเนินการที่ขัดแย้งและแหก พรบ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน(พีพีพี)ปี 2562 ชัดเจน”..
แม้บทบัญญัติมาตรา 46 และ 47 กำหนดให้….ในกรณีที่ต้องมีการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนให้หน่วยงานเจ้าของโครงการเสนอเหตุผล และความจำเป็นประเด็นที่ขอแก้ไข ผลกระทบและข้อมูลอื่นๆ ต่อคณะกรรมการกำกับดูแล เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนนำร่างสัญญาร่วมลงทุนฉบับแก้ไขให้ สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณา และเสนอต่อรัฐมนตรีเจ้าสังกัดพิจารณาเห็นชอบก่อนลงนาม
แต่ก็มีบทยัญัติมาตรา 49 ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการจัดทำแนวทางการดำเนินโครงการต่อเนื่องจากโครงการร่วมลงทุนภายหลังจากสัญญาร่วมลงทุนสิ้นสุดลง โดยเปรียบเทียบกรณีที่หน่วยงานของรัฐดำเนินการเอง และกรณีให้เอกชนร่วมลงทุน เสนอรัฐมนตรีเจ้าสังกัดอย่างน้อย 5 ปี ก่อนที่สัญญาร่วมลงทุนจะสิ้นสุดลง โดยให้คำนึงถึงประโยชน์ของรัฐ ความต่อเนื่องในการให้บริการสาธารณะ และผลกระทบต่อประชาชน
ในกรณีที่รัฐมนตรีกระทรวงเจ้าสังกัดกำหนดให้มีการดำเนินโครงการต่อเนื่องจากโครงการร่วมลงทุนภายหลังสัญญาร่วมลงทุนสิ้นสุดลง ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้เสมือนเป็นโครงการร่วมลงทุนใหม่
บทบัญญัติข้างต้น ยังไม่ชัดเจนอีกหรือว่าเส้นทางการดำนินโครงการนี้จะต้องเราิมที่ไหนหรือดำเนินการอย่างไร? ฯพณฯทั่น รมต.มหาดไทย และทั่นผู้ว่า กปภ.ถึง”มั่วตุ้ม”ไปหยิบยกเอาบทบัญญัติกฎหมายใดก็ไม่รู้มา “ลุยกำถั่ว” การต่อขยายสัญญาสัมปทานโครงการนี้กันดื้อ ๆ แถมยัง “ถลำลึก”ไปถึงขั้นอนุมัติจัดทำร่างสัญญาแก้ไขฉบับใหม่กันไปเรียบร้อย
เพราะบทบัญญัติมาตรา 49 ของ พรบ.ร่วมลงทุนฯบัญญัติไว้ชัดเจน “หากหน่วยงานเจ้าของโครงการและรัฐมนตรีเจ้าสังกัดกำหนดให้มีการดำเนินโครงการต่อเนื่องจากโครงการร่วมลงทุนภายสัญญาร่วมลงทุนสิ้นสุดโดยการร่วมลงทุน ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการดำเนินการตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ เสมือนเป็นโครงการลงทุนใหม่”
ซึ่งนั่นหมายถึงว่า หากจะต่อขยายสัญญาสัมปทานใหม่ภายหลังสัญญาเดิมสิ้นสุดลง กปภ.และมหาดไทยจะรวบรัดค้ำถ่อไปดำเนินการาตามมาตรา 46,47 และ 48 เลยไม่ได้ แต่จะต้องกลับไปดำเนินการเปิดประมูลโครงการนี้เสมือนกับเป็นโครงการใหม่เต็มรูปแบบเท่านั้น ไม่ใช่มุบมิบเจรจาจัดทำร่างสัญญาใหม่กันดื้อๆ ก่อน“สอดใส้” นำเสนอให้บอร์ดอนุมัติกันดื้อๆ เช่นนี้
และหากฯพณฯท่านรัฐมนตรีกระทรวงเจ้าสังกัดผู้กำกับดูแล กปภ.หรือแม้แต่บอร์ดและฝ่ายบริหารกปภ.ไม่แน่ใจว่าสิ่งที่ตนเองดำเนินการอยู่นั้น มันสอดคล่องกับบทบัญญัติกฎหมายหรือไม่ แหก พรบ.การร่วมลงทุนฯปี 2562 หรือไม่ ก็สามารถหารือไปยังคณะกรรการกฤษฎีกาได้อยู่แล้ว
เรื่องสำคัญขนาดนี้ พวกท่านคิดว่าจะเอาใบบัวปิดให้มิดแบบกรณี “หมูแพง” เพราะมีการปิดบังโรคระบาดอหิวาห์อาฟริกาได้หรือ?และสมควรหรือไม่ที่หน่วยงานตรวจสอบทุกองค์กรที่มี่อยู่ในประเทศนี้ จะต้องลุกขึ้นมาปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ และประชน ไม่ให้อ้ายอีหน้าไหนดอดมา”ชุบมือเปิบ”ผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนไปได้อีก
ส่วนใครคือ “ไอ้โม่ง” ที่อยู่เบื้องหลังดีลอัปยศที่ว่าหาก ฯพณฯ ท่านนายกฯ ลุงตู่ อยากรู้ ก็ลองสอบถาม “ทรงศักดิ์ ทองศรี” และทั่นรอง “เนติบริกร” วิษณุ กันดูเอาเองครับ.