วันพุธ, พฤษภาคม 14, 2025

หนังสือพิมพ์ พิมพ์ไทยออนไลน์

หน้าแรกข่าวเด่นประเด็นร้อนข่าวกีฬาจับพิรุธ!ปฏิบัติการกคช.ยึดบ้านเอื้ออาทร “เทพารักษ์4” ระวัง!บทเรียนซ้ำรอย “ค่าโง่โฮปเวลล์ ”

จับพิรุธ!ปฏิบัติการกคช.ยึดบ้านเอื้ออาทร “เทพารักษ์4” ระวัง!บทเรียนซ้ำรอย “ค่าโง่โฮปเวลล์ ”

พิมพ์ไทยออนไลน์ // เรื่องของการทุจริต “โครงการบ้านเอื้ออาทร”นั้น คงไม่ต้องท้าวความอะไรกันให้มากความ เพราะปลายปีก่อน2563 “ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” เพิ่งมีคำพิพากษาฟันทุจริตอดีตรัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) และพรรคพวกนับสิบคน กรณีเรียกสินบนการดำเนินโครงการ และปล่อยให้ลิ่วล้อบริวารแฝงเข้ามาหากินอย่างเอิกเกริก สั่งจำคุกกราวรูดตั้งแต่ 4 ปีไปจนถึง 99 ปี

น้ำลด ตอผุด “เอื้ออาทร เทพารักษ์4”

แต่ควันหลงจากคดีทุจริตโครงการยังไม่หมดแค่นั้น ยังมีคดีความอีกหลายสิบคดี ที่ยังขุดกันออกมาไม่หมด หนึ่งในคดีความที่โผล่ขึ้นมาล่าสุด เป็น”น้ำลดตอผุด”นั้นก็คือ โครงการบ้านเอื้ออาทร “เทพารักษ์ 4” ที่จังหวัดสมุทรปราการที่ล่าสุดนั้น ผู้บริหารบริษัทเอกชนคู่สัญญาเข้ายื่นเรื่องร้องทุกข์ต่อกรมสอบ
สวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ให้ดำเนินคดีกับบอร์ดและฝ่ายบริหารกคช.กราวรูด จากการส่งเจ้าหน้าที่และกลุ่มบุคคลเข้ายึดโครงการ ทั้งที่ยังมีข้อพิพาทคาราคาซังอยู่ในชั้นศาล แถมยังจ่อจะฟ้องศาลอาญาคดีทุจริตฯ ตามมาอีกคดี

ทั้งนี้ จากการย้อนรอยตรวจสอบโครงการบ้านเอื้ออาทรเทพารักษ์ 4 พบว่า โครงการนี้การเคหะฯไม่ได้ทำสัญญาจ้างรับเหมาเอกชนเข้ามาก่อสร้างบ้านเอื้ออาทรอย่างที่เข้าใจกัน แต่ดันจัดทำเป็นโครงการ “ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน” ที่กำหนดให้บริษัทเอกชนคู่สัญญาต้องดำเนินการจัดหาที่ดิน แหล่งเงินและดำเนินการก่อสร้างโครงการตามเงื่อนไขที่การเคหะฯกำหนด โดยการเคหะจะทยอยจ่ายเงินงวดคืนให้ตามสัญญา

แต่การดำเนินการได้เกิดมีปัญหาจนต้องเลิกกลางครัน ซึ่งไม่ได้มีแต่โครงการนี้ แต่ยังมีโครงการบ้านเอื้ออาทรอีกหลายแห่งที่มีปัญหาและชะตากรรมแบบเดียวกัน บางโครงการปล่อยทิ้งร้างเสียด้วยซ้ำอย่างที่การเคหะปราจีนบุรีนั่น

ถอดบทเรียน”ค่าโง่โฮปเวลล์

แต่เมื่อเป็นโครงการร่วมลงทุน จึงไม่ใช่เรื่องที่หน่วยงานรัฐคู่สัญญานึกจะฉีกสัญญา หรือส่งเจ้าหน้าที่ ส่งคนเข้าไปบุกยึดโครงการกันดื้อๆ นั้นไม่สามารถทำได้ เพราะรัฐบาลเคยมีบทเรียนที่ต้องจ่าย “ค่าโง่”กันบานทะโรคเป็นหมื่น ๆ ล้านจากการบอกเลิกสัญญาสัมปทาน และยึดโครงการพิพาทในลักษณะนี้กันมาแล้ว

นั่นก็คือ “โครงการโฮปเวลล์”มูลค่ากว่า 8 หมื่นล้านบาท ที่กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)ใช้สิทธิ์บอกเลิกสัญญา หลังจากเห็นว่าการก่อสร้างมีความล่าช้าไม่เป็นไปตามสัญญา จึงใช้สิทธิ์บอกเลิกสัญญาดื้อๆ พร้อมสั่งห้ามคู่สัญญาเอกชนเข้าใกล้พื้นที่ ก่อนจะลุยทุบตอม่อโฮปเวลล์ทิ้ง
เพื่อผุดโครงการรถไฟฟ้า สายสีแดงที่เห็นในปัจจุบันนั่นแหละแทน

อย่างไรก็ตาม ฟากฝั่งคู่สัญญาเอกชนนั้น ได้ลุกขึ้นมาร้องแรกแหกกระเชอจากการถูกฉีกสัญญาอย่างไม่เป็นธรรม มีการยื่นเรื่องสู่สำนักงานอนุญาโตตุลาการและฟ้องร้องกันนัวเนียตามมาไม่รู้กี่คดี ก่อนที่ในท้ายที่สุดศาลปกครองสูงสุดจะมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 22 เม.ย.2562 สั่งให้การรถไฟฯและกระทรวงคมนาคมจ่ายชดใช้ค่าเสียหายแก่บริษัทเอกชนคู่สัญญา จากการบอกเลิกสัญญาโดยมิชอบนี้กว่า 25,000 ล้านบาท

กลายเป็น “ค่าโง่”ที่จนป่านนี้ทั้งกระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ ยังเคลียร์หน้าเสื่อไม่เสร็จ เพราะไม่รู้จะบากหน้าไปหาเงินจากไหนมาจ่ายค่าโง่ และจนป่านนี้ก็ยังคงเก็บงำเรื่องไม่ดำเนินการไล่เบี้ยหาคนผิดมาลงโทษใดๆ เสียอีก!

แกะรอยบ้านเอื้ออาทรเทพารักษ์4

มาถึงโครงการบ้านเอื้ออาทร “เทพารักษ์ 4” โครงการนี้ ที่ว่ากันตามสัญญานั้น เป็นการ “ร่วมลงทุน”ระหว่าง กคช.และบริษัทเอกชนคือ บริษัทเพียงประกายก่อสร้าง จำกัด โดยกําหนดให้บริษัทฯ จัดหาที่ดิน เงินทุนและดําเนินการก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัยจำนวน 125 อาคาร รวม 5,830 หน่วย บนพื้นที่รวม 125 ไร่ มูลค่าลงทุนกว่า 2,448 ล้านบาท

ความน่าสนใจของโครงการนี้ อยู่ที่เป็นโครงการบ้านเอื้ออาทรที่ใหญ่ที่สุดในเวลานั้น ทั้งยังเป็นโครงการ”แฟล็กชิพ”ที่ผู้รับเหมาใช้วิธีการก่อสร้างด้วยการก่ออิฐ ฉาบปู หล่อเสาคานในพื้นที่เลยก็ว่าได้ ขณะที่โครงการอื่นๆ ปั๊มระบบ “พรีคาสต์”กันไปหมดแล้ว

หลังเซ็นสัญญากันไปไม่ทันได้เริ่มงาน ก็นัยว่ามี “ใบสั่ง” จากระดับบิ๊กในการเคหะฯเวลานั้น บีบให้บริษัทปรับผังดำเนินโครงการ และจัดซื้อ “ที่ดินตาบอด” ติดโครงการผนวกเข้ามาด้วย รวมทั้งยังดึงเอาบริษัทรับเหมาจากภายนอกเข้ามาร่วมเป็นคู่สัญญาเพิ่มเติม เพื่อ“ชักหัวคิว”เข้าไปอีก ซึ่งบริษัทก็ได้แต่จำยอมแบบน้ำท่วมปาก ไม่เช่นนั้นก็จะถูกกลั่นแกล้ง

ใบสั่งบิ๊กเคหะฯ “ฉ้อฉล-กินหัวคิว”

เรื่องมาแดงขึ้น เพราะบริษัทเอกชนคู่สัญญาไม่สามารถจะแบกรับใบสั่งที่ต้องถูกชักหัวคิวรายวันจนทำเอางานก่อสร้างปั่วป่วน ต้องวิ่งยื่นฟ้องศาลแพ่งเพื่อให้การเคหะฯ ถอนบริษัทรับเหมาที่เอามาแปะเป็น “ปลิงดูดเลือด”ออกไป ซึ่งศาลแพ่งได้มีคําพิพากษาให้การเคหะฯและบริษัทรับเหมาที่ถูกดึงเข้ามาเป็นฝ่ายพ่ายแพ้คดี เพราะจำนนด้วยเอกสารหลักฐาน ตามคำพิพากษาคดีแดงที่ 5988/2552

แต่ผลพวงจากคดีดังกล่าวก็ทำให้โครงการระส่ำ เพราะถูกผู้ใหญ่ในการเคหะฯหมายหัว และอาศัยความได้เปรียบจากความเป็นหน่วยงานรัฐเจ้าของโครงการ บีบบังคับให้บริษัทฯปรับลดขนาดโครงการลงเหลือเพียง 42 อาคาร หรือ 1 ใน 3 ของสัญญาเดิม ทั้งที่รู้อยู่ว่า จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนก่อสร้าง และเห็นอยู่แล้วว่าในเวลานั้น บริษัทได้ก่อสร้างอาคารไปแล้วกว่า 80 อาคารโดยดำเนินการเกือบจะแล้วเสร็จไปแล้ว 42 อาคาร

ท้ายที่สุด จึงทำให้โครงการบ้านเอื้ออาทรเทพารักษ์ 4 ได้รับผลกระทบอย่างหนัก จนไม่สามารถก่อสร้างต่อไปได้ และถูกการเคหะฯ ใช้สิทธิ์บอกเลิกสัญญาไปในที่สุด ทั้งที่บริษัทยืนยันว่า ไม่ได้เป็นผู้ละทิ้งงาน และไม่ได้เป็นต้นเหตุที่ทำให้โครงการล่าช้า จึงทำให้เกิดข้อพิพาทคาราคาซังที่ฟ้องร้องกันนัวเนียมากว่า 10 ปี ปัจจุบันยังอยู่ในชั้นพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด

เคหะฯรุกคืบยึดโครงการ

การที่การเคหะฯใช้สิทธิ์บอกเลิกสัญญา(แต่ฝ่ายเดียว) โดยที่บริษัทเอกชนยืนยันว่า ไม่ได้เป็นผู้ผิดสัญญานั้น จึงทำให้คดีนี้ถูกนำขึ้นฟ้องต่อศาลปกครองและศาลปกครองสูงสุด โดยที่บริษัทยังคงยืนยันว่า ยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทอยู่ เพราะแม้จะมีโอนที่ดินให้แก่การเคหะฯ แต่ก็เป็นการโอนแบบมีเงื่อนไขและเป็นไปตามเงื่อนไขการร่วมลงทุนฯ เมื่อการเคหะฯประสงค์จะบอกเลิกสัญญา บริษืทจึงมองว่า ทั้งสองฝ่ายต้องกลับสู่สถานะเดิม ที่ต้อง
เลิกแล้วต่อกัน ตัวบริษัทเอกชนก็เล็งที่จะฟ้องเรียกที่ดินพิพาทคืนเพื่อนำไปพัฒนาด้านอื่นต่อ เพราะได้มีการเจรจาแหล่งเงินทุนไว้แล้ว

อย่างไรก็ตาม วันดีคืนดีฝ่ายบริหารการเคหะฯ กลับส่งเจ้าหน้าที่และดึงเอาบริษัทรับเหมาภายนอกเข้ามาปรับปรุงอาคารพิพาทที่ว่านี้ โดยแจ้งไปยังบริษัทเอกชนว่า ขอเข้าไปปรับปรุงอาคารเพียงบางส่วนเท่านั้น แต่ลึกๆ แล้ว ทุกฝ่ายต่างรู้แก่ใจกันดีว่า การเคหะฯ นั้น มีเป้าหมายจะรุกคืบยึดโครงการไปเปิด
ขายใหม่ในสิ้นเดือน ม.ค.นี้ เพราะมีการปล่อยข่าวสะพัดไปทั่วจังหวัดว่า จะเชิญ “นายกฯลุงตู่” มาเปิดโครงการเอง แม้บริษัทจะทักท้วงยืนยันไม่สามารถจะยินยอมให้ได้ เพราะที่ดินและตัวโครงการ ยังคงมีคดีความกันอยู่ก็ตาม

ระวังซ้ำรอย”ค่าโง่โฮปเวลล์”

ก็คงได้แต่เตือนไปยัง “นายกฯลุงตู่” และบอร์ดการเคหะฯ รวมไปถึงตัวผู้บริหารการเคหะที่กำลัง “ลุยกำถั่ว” ดึงผู้รับเหมารายใหม่เข้าไปบุกยึดโครงการที่ยังเป็นข้อพิพาทมาโม่แป้งต่อ โดยหวังจะเปิดขายให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อย ให้ระวังจะเป็นปฏิบัติการ “เรียกแขกให้งานเข้า”ที่อาจจบลงด้วย” ค่าโง่”แบบโครงการโฮปเวลล์เอาอีก!

เพราะบทเรียนกรณี “ค่าโง่โฮปเวลล์” ที่ผู้บริหารหน่วยงานรัฐใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบไปบอกเลิกสัญญาและรุกคืบยึดเอาโครงการเขาดื้อๆ นั้น วันนี้ไม่เพียงจะทำให้รัฐต้องเจอ “ค่าโง่”ไปกว่า 30,000 ล้านบาท ตัวผู้เกี่ยวข้องยังต้องนอนสะดุ้งไม่รู้จะต้องพาเหรดเข้าซังเตกันวันไหน!

จนป่านนี้ก็ไม่รู้รัฐบาลและการรถไฟฯจะไปหาเงินจากไหนมาจ่ายหนี้เอกชนคู่สัญญาอยู่เลย จะให้ “นายกฯบิ๊กตู่”ออกคำสั่ง ม.44 ชักดาบไม่ต้องจ่ายก็ไม่ได้อีก เพราะ ลำพังแค่ “ค่าโง่เหมืองทองคิงส์เกต” ที่ถูกคู่สัญญาเอกชนจากออสเตรเลียฟ้องหัวเอากว่า 30,000 ล้านนั้น ก็ร่ำๆ ว่า หากพ่ายแพ้คดีก็ยังไม่รู้จะ
โยนขี้ไปให้ใครแบกรับกันอยู่เลย

หากต้องมาเจอ “ค่าโง่”บ้านเอื้ออาทรอีก ก็มีหวังทั้งบอร์ดและฝ่ายบริหารการเคหะฯ ได้งานเข้ากันถ้วนหน้า และไม่ใช่แต่ “ค่าโง่”ที่อาจมีตามมา

เผลอๆ ผู้เกี่ยวข้องกับโครงการนี้ ทั้ง รมต.พม.,บอร์ดและฝ่ายบริหารการเคหะฯ ที่กำลัง “สุมหัว”ทำสัญญาซ้อนสัญญาบนที่ดินพิพาทโครงการนี้ อาจได้พาเหรดกันเข้า “ซังเต” ตามรอยกรณีทุจริตบ้านเอื้ออาทรก่อนหน้านี้อีกด้วย ทำเป็นเล่นไป.

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวใหม่