วันพุธ, พฤษภาคม 14, 2025

หนังสือพิมพ์ พิมพ์ไทยออนไลน์

หน้าแรกข่าวเด่นประเด็นร้อนข่าวกีฬาทุนการเมืองเดินเกมลึก”กินรวบ” สัมปทานประปาหมื่นล้าน!

ทุนการเมืองเดินเกมลึก”กินรวบ” สัมปทานประปาหมื่นล้าน!

พิมพ์ไทยออนไลน์ // วงการรับเหมาสุดทน แฉใบสั่งทุนการเมืองเดินเกมลึกกินรวบสัมปทานประปาภูมิภาคหมื่นล้าน ทั้งที่สัมปทานเดิมจะสิ้นสุดลงปี 66 และต้องส่งมอบอุปกรณ์เครื่องมือ-ทรัพย์สินให้รัฐโม่แป้งเอง เผย “บิ๊ก มท.-เนติบริการ” ส่อร่วมสุมหัวหักดิบแผน กปภ.สั่งประเคนสัมปทานรายเดิมหรือไม่ ด้านสหภาพสุดสิ้นหวังหลังร้องทั่วทิ แต่กลับเงียบเป็นเป่าสาก

แหล่งข่าวจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึง กรณีที่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การประปาส่วนภูมิภาค (สร.กปภ.) ออกโรงคัดค้านกรณีที่การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ) เตรียมขยายสัญญาให้สิทธิดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำประปากับ บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัดในเครือกลุ่ม ช.การช่าง ออกไปอีก 20 ปี จากสัญญานเดิมที่จะสิ้นสุดลงในปี 2566 ว่า แม้สหภาพฯจะยื่นหนังสือร้องเรียนไปทุกหน่วยงานงานให้ตรวจสอบกรณีอื้อฉาวดังกล่าว ตั้งแต่คณะกรรมการป.ป.ช.,สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ประธานกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริต สภาผู้แทนฯ และล่าสุดได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งยุติกระบวนการต่อขยายสัญญาเอาไว้ แต่ยังไม่มีความคืบหน้า

ทั้งนี้ กปภ.ได้ทำสัญญาให้สิทธิผลิตและจำหน่ายประปาในพื้นที่ปทุมธานี-รังสิต กับบริษัท ประปาปทุมธานีจำกัด เมื่อปี 2538 ในปริมาณไม่เกิน 288,000 ลบ.เมตร/วัน กำหนดอัตรารับซื้อน้ำ 7.50 บาทและปรับเพิ่มขึ้นทุกปีตามดัชนีเงินฟ้อ (CPI) เป็นสัญญาสร้าง-บริหาร และโอน (Built Own Operate-Transfer : BOOT) อายุสัญญารวม 25 ปีจะสิ้นสุดสัญญาในปี 2566(14 ต.ค.2566) โดยเมื่อสิ้นสุดสัญญาทรัพย์สินและเครื่องมือทั้งหมดจะต้องตกเป็นของรัฐ ก่อนมีการแก้ไขสัญญาอีก 2-3 ครั้ง โดยปรับเพิ่มปริมาณการผลิตและจำหน่ายประปาขึ้นจากสัญญาเดิมอีกไม่ต่ำกว่า 70,000ลบ.เมตร รวมเป็นไม่น้อยกว่า 3.58 แสน ลบ.เมตร/วัน โดยปัจจุบันบริษัททำการผลิตและจำหน่ายประปาให้กปภ.400,000 ลบ.เมตร/วัน ในราคาเฉลี่ย 12.50 บาท/ลบ.เมตร

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ บอร์ดกปภ.ที่มี นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทยและประธานบอร์ดกปภ. มีนโยบายชัดเจนที่จะให้กปภ.ดำเนินโครงการผลิตและจัดหาน้ำประปาเองภายหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในปี 66 ตามมติบอร์ด กปภ.เมื่อวันที่ 24 เม.ย.2562 และโดยมีการตั้งคณะทำงานขึ้นศึกษาแนวทางการดำเนินกิจการภายหลังสัญญาโครงการเอกชนร่วมลงทุนในกิจการประปาปทุมธานี-รังสิตสิ้นสุดลง แต่เมื่อมีการปรับเปลี่ยนบอร์ด กปภ.ในปี 2564 กปภ.กลับได้รับใบสั่งจากรัฐมนตรีมหาดไทยผู้กำกับดูแลให้ กปภ.รับข้อเสนอของบริษัทเอกชนคู่สัญญาที่ทำเรื่องขอขยายสัญญาสัมปทานจากเดิมที่จะสิ้นสุดในปี 2566 ออกไปอีก 20 ปี โดยอ้างเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล

“เรื่องนี้สร้างความงุนงงให้กับพนักงานกปภ.อย่างมาก เพราะเป็นการกลับลำจากหน้ามือเป็นหลังมือและขัดแย้งกับมติบอร์ด กปภ.เดิมโดยสิ้นเชิง เหตุนี้เมื่อมีความพยายามจะนำเรื่องต่อขยายสัญญาเข้าบอร์ด กปภ.เมื่อปลายเดือน ก.ย.64 ฝ่ายยุทธศาสตร์ของ กฟภ.ถึงกับจัดทำรายงานทักท้วงบอร์ด กปภ. โดยยืนยันไม่เห็นด้วยกับแนวทางขยายสัญญาสัมปทานดังกล่าว เพราะขัดแย้งกฎหมาย (พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯปี 2562) รวมทั้งขัดแย้งกับมติบอร์ด กปภ.ก่อนหน้า ทั้งยังเป็นการดำเนินการเอื้อประโยชน์แก่เอกชนเพียงรายเดียว แต่ก็ไม่สามารถจะทัดทานใบสั่งจากการเมืองได้ โดยมีรายงานข่าวว่า บอร์ด กปภ.ได้มุบมิบอนุมัติการต่อขยายสัญญาสัมปทานดังกล่าวไปเมื่อวันที่ 30 ก.ย.64 แล้ว โดยมีการเผยแพร่เอกสารสัญญาแก้ไขฉบับใหม่ปลิวว่อนไปทั่วองค์กร กปภ.และมหาดไทย

แหล่งข่าว ยังกล่าวด้วยว่า ความพยายามต่อขยายสัญญาสัมปทานผลิตและจำหน่ายประปาดังกล่าว น่าจะเป็นเรื่องไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะสัมปทานเดิมที่จะสิ้นสุดลงในปี 66 นั้น บรรดาเครื่องจักรและทรัพย์สินในโครงการรทั้งหมดจะต้องตกเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐอยู่แล้ว ซึ่งก่อนหน้ากปภ.ได้เตรียมแผนรองรับการดำเนินกิจการประปาเองไว้แล้ว แต่จู่ ๆ กลับมีใบสั่งการเมืองล้มแผนดังกล่าว เพื่อจะให้ต่อสัญญาสัมปทานให้กับรายเดิม ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดปกติวิสัย และส่อเอื้อผลประโยชน์ให้แก่เอกชนอย่างชัดเจน ทั้งยังเป็นการดำเนินการที่ขัดแย้งกับบทบัญญัติกฎหมายตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนปี 2562 ด้วย เพราะหาก กปภ.จะเปิดให้เอกชนเข้ามาดำเนินโครงการก็ต้องเปิดประมูลเป็นการทั่วไปตาม พรบ.ร่วมลงทุน(พีพีพี)ปี 2562 และยังต้องดำเนินการตามมติ ครม.เมื่อ 29 มิ.ย.2564 ในเรื่องข้อตกลงคุณธรรม เพื่อป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐอีกด้วย

“มีกระแสข่าวสะพัดว่า หากมีการต่อขยายสัญญาออกไป 20 ปี เฉพาะวงเงินกำไรจากส่วนต่างการขายน้ำที่ กปภ.จะดำเนินการเองกับที่กำหนดในสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมหน่วยละ 10.15 บาทขึ้นไปตามดัชนี CPI นั้นมีการคำนวณไว้ว่าจะมีส่วนต่างกำไรเกิดขึ้นตลอด 20 ปีมากกว่า 14,000 ล้านบาท ซึ่งกำไรส่วนนี้ไม่ได้ตกอยู่กับรัฐหรือประชาชน แต่ผลประโยชน์ก้อนโตนี้ จะตกอยู่ที่ใครเป็นเรื่องที่จะต้องติดตามกันต่อไป.

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวใหม่