พิมพ์ไทยออนไลน์ // วงการสื่อสารโทรคมนาคม ขานรับ 5 กสทช.ใหม่หลังวุฒิสภาฯไฟเขียวโหวตผ่านฉลุย ชี้ดีกว่าปล่อยให้เกิดสุญญากาศ เหตุยังมีภารกิจรอ กสทช.ชุดใหม่สะสางอีกอื้อทั้งกรณีกองทุน USO จัดระเบียบบริการข้ามโลก OTT และกรณีควบรวมกิจการทรู-ดีแทค ที่กำลังเขย่าบทบาท กสทช.
หลังที่ประชุมวุฒิสภาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โหวตให้ความเห็นชอบรายชื่อบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง “กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ” หรือ “กสทช.ชุดใหม่” คณะกรรมธิการสามัญเพื่อตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง กสทช.ที่มี พล.อ.อู๊ด
เบื้องบน ส.ว. เป็นประธาน ได้รายผลการตรวจสอบประวัติผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการ กสทช. ทั้ง 7 ราย และที่ประชุมวุฒิสภาได้โหวตให้การรับรอง 5 กสทช.ใหม่สุดระทึก ส่วนอีก 2 รายชื่อได้ส่งกลับไปให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และคณะกรรมการสรรหาดำเนินการคัดเลือกกันใหม่อีกครั้ง
แหล่งข่าวในวงการสื่อสารโทรคมนาคม เปิดเผยว่า ผู้ประกอบกิจการวิทยุโทรทัศน์ และสื่อสารโทรคมนาคม ต่างหายใจโล่งอกที่วุฒิสภาฯโหวตรับ 5 กสทช.ชุดใหม่ หลังจากมีกระแสข่าวก่อนหน้าว่า ที่ประชุมวุฒิสภาอาจโหวตให้การรับรองเพียง 4 ราย ซึ่งจะทำให้ กสทช.ชุดใหม่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ จำเป็นต้องให้ กสทช.เดิม
ทำหน้าที่ต่อไป แต่หลายฝ่ายได้แสดงความกังวลหากกลไก กสทช.ชุดใหม่ ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้จะกระทบต่อภารกิจของ กสทช.โดยรวมตามมาอย่างแน่นอน เพราะ กสทช.ชุดปัจจุบันทำหน้าที่รักษาการมากว่าทศวรรษแล้ว จึงทำให้ที่ประชุมวุฒิสภายอมโหวตผ่าน 5 รายชื่อ กสทช.ชุดใหม่ เพราะตามกฎหมาย กสทช.นั้นแม้ กสทช.ชุด
ใหม่จะปฏิบัติหน้าที่ไปแล้ว หากพบว่ามีคุณสมบัติขัดแย้ง ก็ต้องพ้นตำแหน่งอยู่ดี
ทั้งนี้ แหล่งข่าวกล่าวว่า ปัญหาใหญ่ที่รอ กสทช.ชุดใหม่เร่งเข้ามาสะสางนั้น นอกจากการจัดระเบียบสถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุชุมชนที่ยังคงเต็มไปด้วยปัญหา ทั้งในส่วนของคลื่นหลักและวิทยุชุมชนที่ยังไม่มีการออกใบอนุญาตที่เป็นรูปธรรมแล้ว ยังมีกรณีดีลควบรวมกิจการระหว่าง บมจ.ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด และ บมจ.โท
เทิ่ลแอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชัน จำกัด หรือดีแทค ซึ่งกำลังเป็นที่วิพากษ์กันอย่างกว้างขวาง ซึ่งนอกจากเครือข่ายในภาคประชาชน มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งสมาชิกสภาผู้แทนจาก 7 พรรคการเมืองจะออกโรงวิพากษ์การควบรวมกิจการที่กำลังจะมีขึ้นอย่างหนักหน่วงจนถึงขั้นที่มีการเสนอให้เสภาผู้แทนฯตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ
ขึ้นศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการควบรวมกิจการทรู-ดีแทคในครั้งนี้
ล่าสุด อาจารย์และนักวิชาการจากสถาบันต่างๆ รวม 87ราย ได้ร่วมกันลงนามในแถลงการณ์เรียกร้องให้ สำนักงาน กสทช.และสำนักงานแข่งขันทางการค้า(กขค.) เร่งตรวจสอบการควบรวมกิจการของทรู และดีแทค และกำกับดูแลการควบรวมกิจการครั้งนี้ เนื่องจากส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการแข่งขัน ผู้บริโภค และเศรษฐกิจของ
ประเทศ หากการควบรวมครั้งนี้สำเร็จ ผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่จะเหลือเพียง 2 ราย จากเดิม 3 ราย ซึ่งเชื่อว่าน่าจะส่งผลอย่างรุนแรงต่อระดับการแข่งขัน และสวัสดิการของผู้บริโภค
นอกจากนี้ โทรศัพท์เคลื่อนที่จัดเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐาน รากฐานที่สำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ รวมถึงเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล ดังนั้น ในเมื่อการควบรวมกิจการครั้งนี้ สุ่มเสี่ยงที่จะนำไปสู่โครงสร้างตลาดที่ผูกขาดมากกว่าเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาพการณ์ที่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตความเร็ว
สูงผ่านสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ การลดลงของการแข่งขันจะเพิ่มต้นทุนและลดโอกาสการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่จำเป็น ซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านดิจิทัล ของประชาชน
นอกจากนี้ยังมีเรื่องกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะหรือ “กองทุน USO” ในกสทช.ที่คณะกรรมการบริหารกองทุนเตรียมทบทวนแผนการดำเนินการกองทุนในช่วงปี 2565-69 โดยมีแนวโน้มที่จะคงอัตราการจัดเก็บเงินค่าธรรมเนียมเข้ากองทุนในระดับเดิมทั้งที่
บทบาทภารกิจของกองทุน USO ในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปหมดแล้ว แต่กสทช.กลับอ้างว่า กองทุนฯ ยังคงมีภารกิจที่ต้องลงทุนขยายโครงข่ายโทรศัพท์ และบริการโทรคมนาคมในพื้นที่ห่างไกล จึงมีการผลักดันโครงการต่าง ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง และใช้งบมือเติบราวสามล้อถูกหวยบางโครงการมีการลงทุนซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่น ๆ
ที่ให้บริการอยู่แล้ว
อย่างบริการโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (OLT) บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงสาธารณะ Wi-Fi หมู่บ้าน, บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงสำหรับหน่วยงานของรัฐ
ในรูปแบบ Wi-Fi โรงเรียน และ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และ ศูนย์อินเทอร์เน็ต (Uso Net) ภายในโรงเรียน ก็เต็มไปด้วยปัญหา การให้บริการไม่สอดคล้องกับ
สภาพความจำเป็นภายในหมู่บ้าน หรือหมู่บ้านส่วนใหญ่ต่างมีบริการอินเทอร์เน็ตของเอกชนเข้าถึงพื้นที่อยู่แล้ว
“ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา เสียงสะท้อนต่อโครงการลงทุนต่างๆ ของกองทุน USO ที่ถลุงเม็ดเงินไปหลายหมื่นล้าน แต่เราก็ยังคงเห็นข่าวของเด็กในพื้นที่ห่างไกล ต้องไปนั่งเรียนออนไลน์ตากแดดอย่างยากลำบากหรือต้องเดินทางไปไกลหลายกิโล เพื่อหาสัญญาณโทรศัพท์ในการเรียนออนไลน์ ทั้งที่พื้นที่เหล่านั้นเป็นพื้นที่เป้าหมายของ กสทช.
สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นผลงานที่ย่ำแย่ของโครงการ USO และส่วนหนึ่งของปัญหาก็มาจากความบกพร่องไม่ทันโลกของโครงการ USO ด้วย”