วันจันทร์, พฤษภาคม 6, 2024

หนังสือพิมพ์ พิมพ์ไทยออนไลน์

หน้าแรกข่าวเด่นประเด็นร้อนข่าวกีฬาร้อง ป.ป.ช. สอบกราวรูดเช่าระบบคอมพ์ศูนย์ดิจิทัลชุมชน! เอื้อประโยชน์คู่ค้าเก่า เอาระบบเดิมมาย้อมแมวส่งมอบหรือไม่

ร้อง ป.ป.ช. สอบกราวรูดเช่าระบบคอมพ์ศูนย์ดิจิทัลชุมชน! เอื้อประโยชน์คู่ค้าเก่า เอาระบบเดิมมาย้อมแมวส่งมอบหรือไม่

พิมพ์ไทยออนไลน์ // เครือข่ายสื่อมวลชนต่อต้านทุจริตแห่งชาติ (ส.ท.ช.) ยื่นเรื่องสอบทุจริตบิ๊กดีอีเอส เช่าระบบคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ในศูนย์ดิจิทัลชุมชน กว่า 250 แห่ง หลังตรวจสอบพบกำหนดเงื่อนไข TOR-สเปคจัดหาเอื้อคู่ค้าเก่า ลือหึ่งเอาของระบบเดิมมาย้อมแมวส่งมอบกันดื้อๆ ทำความเสียหายแก่รัฐกว่า 300 ล้าน

เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564 นายณรงค์ ลาภเกิน รองประธานเครือข่ายสื่อมวลชนต่อต้านทุจริตแห่งชาติ (ส.ท.ช.) พร้อมคณะ ได้เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อขอให้ตรวจสอบการทุจริตโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พร้อมอุปกรณ์สนับสนุนโครงการศูนย์ดิจิทัลชุมชน กลุ่มที่ 2 (จำนวน250ศูนย์) ภายใต้โครงการยกระดับศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน ที่ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ดำเนินการไปตามเอกสารประกวดราคาเมื่อ วันที่ 15 มกราคม 2564 โดยระบุว่า โครงการดังกล่าว มีการดำเนินการไม่โปร่งใส มีการกำหนดเงื่อนไข TOR เอื้อประโยชน์ต่อผู้เข้าเสนอราคาบางราย และมีพฤติกรรมการพิจารณาเอื้อประโยชน์ต่อผู้เสนอราคา จนก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ

ทั้งนี้ แต่เดิมสัญญาเช่าระบบคอมพิวเตอร์พร้อมอุปกรณ์ศูนย์ดิจิทัลชุมชนในโครงการเดิม 250 ศูนย์มูลค่า 270 ล้านบาท มีระยะเวลา 1 ปี จะสิ้นสุดสัญญาในเดือน กันยายน 2564 โดยมีบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) เป็นคู่สัญญา และมีการซับงานให้ บริษัท สหวิริยาโอเอ จำกัด (มหาชน) (SVOA) เป็นผู้จัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์ พร้อมอุปกรณ์อีกทอด ซึ่งเมื่อหมดสัญญา บริษัทที่ดูแลโครงการ (SVOA) จะต้องขนเครื่องคอมพิวเตอร์ พร้อมอุปกรณ์เหล่านี้กลับสำนักงาน

แต่ปรากฏว่า สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ทำการประกวดราคาจัดหาระบบคอมพิวเตอร์ พร้อมอุปกรณ์สนับสนุน ศูนย์ดิจิทัลชุมชน ภายใต้โครงการยกระดับศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนสู่ศูนย์ดิจิทัลชุมชน ในกลุ่มที่ 2 เพิ่มเติมอีกจำนวน 250 ศูนย์ โดยมีการกำหนดเงื่อนไข TOR กำหนดสเปคจัดหาระบบคอมพิวเตอร์ที่เอื้อประโยชน์ให้แก่กิจการร่วมค้า SA (บริษัทสหวิริยาโอเอ SVOA ร่วมกับ บริษัทแอดวานซ์ อินฟอร์เมชั่นเทคโนโลยี) ซึ่งเป็นคู่ค้าเดิมให้เป็นผู้ชนะประกวดราคา และเปิดช่องให้มีการนำเอาคอมพิวเตอร์ พร้อมอุปกรณ์ในโครงการเดิมบางส่วน มาสวมรอยส่งมอบ ซึ่งไม่เป็นไปตามข้อกำหนดจนยังความเสียหายแก่รัฐ

ทั้งนี้ จากการติดตามตรวจสอบข้อมูลของ เครือข่าย ส.ท.ช. พบว่า มีการจงใจกำหนด TOR ที่ส่อเอื้อประโยชน์ให้ผู้จัดหาระบบคอมพ์ และอุปกรณ์รายเดิม คือ กิจการร่วมค้า SA สามารถจะนำเอาคอมพิวเตอร์พร้อมอุปกรณ์ที่ต้องส่งกลับ สำนักงานใหญ่ กลับมาดำเนินการส่งมอบให้แก่ศูนย์ได้ โดยมีการกำหนดเงื่อนไขให้พื้นที่ส่งมอบโครงการกลุ่มที่ 1 ที่เป็นศูนย์ดิจิทัลชุมชนเดิม ซึ่งที่จะต้องจัดหาเครื่องคอมพิวเตร์และอุปกรณ์จำนวน 24 รายการมาทดแทนของเดิม แต่คณะกรรมการไม่มีการกำหนดคุณลักษณะของพัสดุที่จะจัดหาต้องเป็นของใหม่ ไม่เคยผ่านการใช้งานมาก่อน แต่ในพื้นที่ส่งมอบกลุ่มที่ 2 ที่เป็นศูนย์ดิจิทัลชุมชนใหม่ กลับมีการกำหนดสเปคระบบคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ที่จะส่งมอบต้องเป็นของใหม่ ไม่เคยผ่านการใช้งานมาก่อน ส่อให้เห็นว่า เป็นการกำหนดเงื่อน TOR ที่เปิดโอกาสให้กิจการร่วมค้า SA สามารถ

นำอุปกรณ์ที่ต้องส่งกลับ สำนักงานใหญ่ หลังหมดสัญญา กลับมาทำสัญญาเช่าใหม่ได้อีก แม้ในข้อกำหนดระบบคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ทื่ต้องส่งมอบในพื้นที่จัดหากลุ่มที่ 1 และ 2 จะมีความแตกต่างกัน โดยใน TOR ของกลุ่มที่ 1 ไม่ได้กำหนดข้อความว่า อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ที่ติดตั้งต้องอยู่ในสายผลิต เป็นของใหม่ที่ไม่เคยผ่านการใช้งานมาก่อน แต่หากคณะกรรมการจัดซื้อจะได้พิจารณาอย่างรอบคอบย่อมต้องคำนึงถึงประโยชน์ของทางราชการอย่างเคร่งครัด เพราะในเอกสารประกวดราคาหน้าที่ 1 อันเป็นข้อกำหนดหลักที่ผู้เสนอราคาทุกรายต้องปฏิบัติตาม ได้กำหนดข้อความชัดเจนว่า พัสดุที่จะเช่านี้ ต้องเป็นของใหม่ ไม่เคยใช้งานมาก่อน ไม่เป็นของเก่าเก็บ อยู่ในสภาพใช้งานได้ทันทีอยู่แล้ว”

นอกจากนี้ พฤติการณ์ในการเสนอราคาของผู้เข้าประกวดราคาทั้ง 3 ราย ได้แก่ กิจการร่วมค้า SA , บริษัท ริโก้ (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท คอนโทรลด้าต้า (ประเทศไทย) จำกัด ก็เห็นได้ชัดเจนว่า มีการเสนอรายการพัสดุของท้อง 2 กลุ่ม เป็นยี่ห้อและรุ่นเดียวกันเกือบทุกรายการ โดยเฉพาะการเสนอพัสดุในกลุ่มที่ 1 เครื่องคอมพิเตอร์สำหรับงานประมวลผลแบบที่ 2 ราคากลาง เครื่องละ 30,000 บาท ทุกรายเสนอยี่ห้อ Lenovo รุ่น ThinkCentre M75s ซึ่งเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ยี่ห้อและรุ่น ตามสัญญาเก่าของ บริษัท NT ทั้งหมด จึงควรเป็นข้อสงสัยในการพิจารณาว่าผู้เสนอราคาทั้ง 3 ราย มีการสมยอมในการเสนอราคาหรือไม่

ขณะเดียวกัน ยังพบด้วยว่า คณะกรรมการประกวดราคา ยังมีการกำหนดเงื่อนไข TOR ที่เอื้อประโยชน์ให้กิจการร่วมค้า SA อีกหลายประการ อาทิ การจัดส่งเจ้า
หน้าที่ไปประจำศูนย์ดิจิทัลชุมชน ซึ่งโดยพื้นฐานแล้ว น่าจะเป็นบรรทัดฐานเดียวกัน แต่ในการประกวดราคาครั้งนี้ กลับกำหนดให้ศูนย์ดิจิทัลชุมชนกลุ่มที่ 1 ซึ่งเป็นศูนย์เดิมไม่ต้องมีการส่งเจ้าหน้าที่ไปประจำศูนย์ ทำให้คู่ค้าเดิม ที่ได้รับการพิจารณาคัดเลือกประหยัดต้นทุนไปโดยปริยาย

จากการติดตามของ เครือข่ายฯ ยังพบว่า ระหว่างที่ สำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจดิจิทัลฯ ดำเนินการประกวดราคาโครงการนี้ ได้มีข้อท้วงติงจากหลายภาคส่วนที่ทักท้วงให้ นางวรรณะ เทพหัสดิน ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลการประกวดราคา ได้ดำเนินการตรวจสอบการดำเนินโครงการนี้อย่างเข้มงวด แต่ก็กลับมีการปล่อยปละละเลย จนมีการประกาศผลประกวดราคาและลงนามในสัญญากันไป ทำให้มีการนำเอาพัสดุระบบคอมพิเวอต์พร้อมอุปกรณ์เดิม มาทำการส่งมอบ ยังความเสียหายให้แก่ทางราชการ เฉพาะที่คำนวณเป็นตัวเงินจากโครงการนี้ มากกว่า 326 ล้านบาท

จากพฤติการณ์ที่กล่าวมาดังกล่าว ทางเครือข่าย ส.ท.ช. จึงสงสัยในพฤติกรรมของข้าราชการเจ้าหน้าที่รัฐ ที่เกี่ยวข้องกับการประกวดราคาโครงการนี้ รวมไปถึงบริษัทเอกชน ที่เข้าร่วมประกวดราคา ที่มีพฤติกรรมสวมยอมราคาเข้าประมูล จึงขอให้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้เข้ามาตรวจสอบและเอาผิดกับบุคคลเหล่านี้.

 

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวใหม่