พิมพ์ไทยออนไลน์ // ยังคงเป็นประเด็นร้อนกับการแก้ปัญหาหนี้ท่วมของกรุงเทพมหานคร (กทม.)ที่ค้างจ่ายค่าจ้างเดินรถไฟฟ้า สายสีเขียวส่วนต่อขยาย และค่าก่อสร้างระบบ มูลหนี้รวมกส่า 120,000 ล้าน ที่ยังคงหาข้อยุติไม่ได้ จนล่าสุดได้ถูกบริษัทเอกชนคู่สัญญา ประเดิมฟ้องศาลปกครองไปแล้วกว่า 12,000
ล้านบาท และยังคงตั้งแท่นจะฟ้องตามมาอีกกว่า 20,000 ล้าน
แม้ก่อนหน้านี้ กระทรวงมหาดไทย(มท.) จะตั้งคณะกรรมการเจรจาปัญหาหนี้ดังกล่าวตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่ 3/2562 ลงวันที่ 11 เม.ย.2562 จนได้ข้อยุติ ที่จะให้ต่อขยายสัมปทาน 30 ปีให้กับ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (บีทีเอส) เพื่อแลกกับการให้เอกชนรับโอนหนี้ทั้ง
หมดไป
ก่อนนำเสนอต่อกระทรวงมหาดไทย(มท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง “สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.)”รวมทั้งที่ประชุมคณะรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 63 ก็ให้ความเห็นชอบแนวทางดังกล่าว ก่อนส่งร่างสัญญาให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณา
แต่เมื่อกระทรวงมหาดไทยเตรียมนำร่างสัญญาเสนอต่อที่ประชุม ครม.เมื่อ 17 พ.ย.2563 กลับถูกกระทรวงคมนาคม ออกโรงคัดค้านอย่างหนัก จนต้องเลื่อนการพิจารณากลายเป็นปัญหาคาราคาซังที่ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ แม้กระทรวงมหาดไทย(มท.) จะพยายามนำเสนอต่อที่ประชุม ครม.ในคราวประชุมล่าสุด เมื่อวันที่ 19 ต.ค.ที่ผ่านมา แต่ก็ไม่สามารถจะฝ่าเสียงทักท้วงอย่างถึงพริกถึงขิงจาก กระทรวงคมนาคมไปได้ สุดท้าย ต้องตัดสินใจถอนเรื่องออกไป
ไม่พียงกระทรวงคมนาคมที่ออกโรงคัดค้านการต่อขยายสัมปทานบีทีเอส วันดีคืนดี นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ที่ไม่รู้โผล่มาจากไหนก็ได้ออกโรงฟ้อนเงี้ยว แถลงคัดค้านการต่อขยายสัมปทาน รถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ว่านี้ไปด้วย
โดยนายยุทธพงศ์ได้ตั้งข้อกังขาต่อการที่ กทม.ได้ว่าจ้าง บริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) เพื่อไปว่าจ้าง “บีทีเอส” มาเดินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย 2 สายทาง ไปจนถึงปี 2585 รวมทั้งที่จะต่อขยายสัญญาสัมปทานให้บีทีเอสว่า เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะ กทม.ยังไม่ได้เป็นกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินโครงข่ายรถไฟฟ้า ส่วนต่อ
ขยายที่รับโอนมาจาก การถไฟฟ้าขนส่งมวลชนฯ (รฟม.) พร้อมตั้งข้อสงสัย เหตุใดไม่เปิดกว้างให้มีการแข่งขัน
น่าแปลก! ท่าทีและความเคลื่อนไหวของ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทยข้างต้น ดูจะสอดรับกับจุดยืนของกระทรวงคมนาคม ที่ออกโรงคัดค้านการขยายสัญญาสัมปทานบีทีเอสที่ว่าอย่างสุดลิ่ม จนทำให้เกิดข้อกังขาว่า ตกลงจุดยืนของ พรรคเพื่อไทย(พท.) ที่เคยเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ รมว.คมนาคม ก่อนหน้านี้ คืออะไรกันแน่ เพราะจู่ ๆ กลับกระโดดออกมารับลูก กระทรวงคมนาคม อย่างเป็นปี่เป็นขลุ่ยเช่นนี้ จนอดสงสัยไม่ได้ว่า มี “วาระซ่อนเร้น” อะไรหรือไม่?
แหล่งข่าวระดับสูงจากบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด(KT) ได้ให้ความเห็นต่อท่าทีของรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทยข้างต้นว่า อยากให้นายยุทธพงศ์ ย้อนกลับไปตรวจสอบโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย (หัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ) ที่กระทรวงคมนาคมประเคนสัมปทานไปให้ บมจ.ทางด่วน
และรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าใต้ดิน สายสีน้ำเงินเดิม ให้เป็นผู้รับสัมปทานเดินรถไปในช่วง 3-4 ปีก่อน
เหตุใด และ ทำไมกระทรวงคมนาคมและรฟม.ถึงได้เลือกวิธีประเคนสัมปทานให้กับผู้รับสัมปทานรายเดิมทั้งที่ก่อนหน้าคณะรัฐมนตารี(ครม.)เมื่อปี 53 มีมติจะให้เปิดประมูลหาเอกชนเข้ามารับสัมปทานเดินรถไฟฟ้า แต่เหตุใดกระทรวงคมนาคมจึงไม่เปิดประมูล เปิดให้มีการแข่งขันอย่างที่กำลังแนะนำ กทม.อยู่
เวลานี้
เหตุผลนั้นก็เพราะหาก กทม.(หรือรฟม.) เลือกใช้วิธีเปิดประมูลให้เอกชนเข้ามาเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย หรือสีน้ำเงินส่วนต่อขยายอย่างที่ท่าน ส.ส.ผู้ทรงเกียรติ นำเสนอนี้ ก็ลองนึกสภาพกันดูว่า หากผู้ชนะประมูลรับสัมปทานเดินรถไฟฟ้า ส่วนต่อขยาย ไม่ใช่รายที่ให้บริการสายหลักเดิม แต่เป็นคนละกลุ่มคนละระบบจะเกิดอะไรขึ้น? การเดินทางของผู้โดยสารจะเป็นอย่างไร?
” หากผู้ให้บริการเดินรถเป็นคนละราย คนละระบบกันกัน ใช้ตั๋วโดยสารคนละชนิดกัน บีทีเอสใช้บัตรพลาสติก ส่วนฺ BEM ใช้เหรียญ และ 2 ขบวนที่ว่านี้แม้วิ่งบนรางเดียวกันแต่ไม่ได้เชื่อมต่อกัน เพราะคนละระบบ ใช้ศูนย์ควบคุมรถคนละระบบกัน มันจะเป็นอย่างไร ? ก็ “บรรลัยเกิด” ตามมาอย่างไม่ต้องสงสัย! “
เราคงได้เห็นภาพผู้โดยสารที่ใช้บริการรถไฟฟ้าจากสถานีต้นทาง (เคหะสมุทรปราการ) เมื่อมาถึงสถานีแบริ่ง ก็ต้องลงจากรถไฟฟ้าเพื่อเปลี่ยนขบวน ต้องซื้อตั๋วโดยสารใหม่ จ่ายค่าแรกเข้ากันใหม่ และเมื่อไปถึงสถานีพหลโยธิน เพื่อต่อขบวนไปยังสถานีเกษตร – คปอ.หรือสถานีคูคต ก็ต้องเปลี่ยนขบวน ลงไปซื้อ
ตั๋วกันใหม่กันให้ยุ่งขิงอีก
“จะหวังพึ่ง”ระบบตั๋วร่วม”ที่กระทรวงคมนาคมตีปี๊บจะดำเนินการมาตั้งแต่ปีมะโว้ 2555 ป่านนี้คืบหน้าไปถึงไหน? “ทั่นยุทธพงศ์” ไม่ลองตั้งกระทู้สอบถาม รมต.ศักดิ์สยาม ชิดชอบ ดูบ้าง จะได้รู้ว่า สมควรที่จะนำเสนอ Model เดินรถไฟฟ้า สายเดียวกัน แต่เปิดกว้างให้มีการประมูลและสัมปทานคนละระบบกันหรือไม่”
กับหนทางผ่าทางตันสัมปทานรถไฟฟ้า สายสีเขียว ที่เหมาะสมน้ัน ก่อนหน้านี้ ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ที่ได้ชื่อว่า เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านระบบขนส่งมวลชน ได้นำเสนอทางออก 3 แนวทางที่เป็นไปได้มากที่สุด ได้แก่ทางเลือกที่ 1: เปิดประมูลหาผู้รับสัมปทานใหม่ในปี 2572 แต่ทางเลือกนี้จะต้อง “รอ” จนกว่าสัญญาสัมปทานระหว่าง กทม.กับ BTS จะสิ้นสุดลงในปี 2572 โดยการเปิดประมูลใหม่จะต้องให้ผู้รับสัมปทานรับผิดชอบการเดินรถและบำรุงรักษาทั้งส่วนหลัก และส่วนขยาย
แต่หนทางในอันที่จะเปิดประมูลใหม่ได้นั้น รัฐบาลจะต้องแก้ปัญหาเหล่านี้ควบคู่ไปด้วยคือ 1. ต้องชำระหนี้ให้ BTS ถึงวันนี้เป็นเงินประมาณ 37,000 ล้านบาทเป็นค่าเงินต้นและดอกเบี้ยงานระบบไฟฟ้า และหนี้ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้า ส่วนต่อขยายค้างจ่าย อีกทั้งยังต้องเตรียมเงินไว้เป็นค่าจ้างเดินรถไปจนถึงปี 2572 ทั้งค่า
ดอกเบี้ยงานโยธา และค่าชดเชยกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางรางบีทีเอสโกรท(BTSGIF) อีกประมาณ 93,000 ล้านบาทรวมเป็นเงินทั้งหมดประมาณ 130,000 ล้านบาท
2. รัฐบาลต้องแก้ปัญหาข้อพิพาทที่อาจเกิดขึ้นระหว่างกทม.กับ BTS เนื่องจากกทม.ได้ทำสัญญาจ้างให้ BTS เดินรถและบำรุงรักษาทั้งส่วนหลักและส่วนขยายไปจนถึงปี 2585 ดังนั้นการจะเปิดประมูลหาผู้รับสัมปทานใหม่ในปี 2572 ก่อนสิ้นสุดสัญญาจ้างอาจทำให้ BTS ฟ้องเรียกค่าเสียหายจาก กทม.ตามมา
ทางเลือกที่ 2: เปิดประมูลหาผู้รับสัมปทานใหม่ในปี 2585 แม้ทางเลือกนี้จะไม่เกิดข้อพิพาทระหว่าง กทม. กับ BTS เนื่องจากต้องรอจนกว่าสัญญาจ้างให้ BTS เดินรถสิ้นสุดลง จึงจะเปิดประมูลหาผู้รับสัมปทานใหม่ แต่รัฐบาลก็ต้องหาเม็ดเงินมาชำระหนี้ให้ BTS อยู่ดีและ ยังต้องเตรียมเงินไว้เป็นค่าจ้างเดินรถตั้งแต่เวลานี้
จนถึงปี 2585 รวมทั้งค่าเงินต้นและดอกเบี้ยงานโยธาถึงปี 2585 และค่าชดเชยกองทุนรวม BTSGIF อีกกว่า 350,000 ล้านบาท
ส่วนทางเลือกที่ 3: คือขยายสัมปทานให้ BTS 30 ปี อันเป็นแนวทางที่เป็นผลจากการเจรจาของคณะกรรมการที่กระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งตามคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยคณะกรรมการฯ ได้มีมติให้ขยายสัมปทานให้ BTS เป็นเวลา 30 ปี ตั้งแต่ปี 2572-2602 โดยมีเงื่อนไข BTS ต้องรับผิดชอบภาระหนี้ทั้งหมดของ กทม.(ประมาณ 130,000 ล้านบาท) และยังต้องแบ่งรายได้ให้กทม.อีกกว่า 2 แสนล้านบาท และหาก BTS ได้ผลตอบแทนการลงทุนเกิน 9.6% จะต้องแบ่งรายได้ให้ กทม. เพิ่มเติมอีกตามอัตราที่กำหนดในสัญญา
หากไม่เลือกหนทางนี้ ก็คงต้องปูเสื่อรอทั้งกระทรวงคมนาคมและเครือข่ายอะไรต่อมิอะไรที่ออกมาร้องแรกแหกกระเชอก่อนหน้า จะมีหนทางเลือกใด ที่จะไม่ทำให้รัฐ และ กทม.ต้อง “เสียค่าโง่”เอาได้อีก จะต้องรอให้ผีถึงป่าช้า ให้บริษัทเอกชนคู่สัญญา “หืดจับ”ถึงขั้นเงินหมุนเวียนหมดหน้าตักก่อน ถึงขั้นหยุดวิ่งให้บริการก่อนหรือถึง จะมาคิดอ่านแก้ไขปัญหากันหรืออย่างไร?