พิมพ์ไทยออนไลน์// “…หลักสำคัญว่าต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะว่าชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำ คนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้า คนอยู่ได้ แต่ถ้าไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้…” พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรพระราชทาน ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2529น้ำ สิ่งสำคัญที่ยังคงเป็นปัญหาหลักของประเทศไทยที่เป็นเมืองเกษตรกรรม แต่เกษตรกรยังต้องฝากความหวังไว้กับการแก้ปัญหาของรัฐบาล ยังคงมีหลายพื้นที่ที่มักเผชิญกับปัญหา “น้ำท่วมและน้ำแล้ง” ซึ่งเมื่อการเพาะปลูกไม่สามารถเดินหน้าต่อได้ จึงส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง เนื่องจากเกษตรกรที่เป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้หากพูดถึงปริมาณน้ำแต่ละปี มีน้ำฝนที่ใช้การได้ปีละ 205,000 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่น่าเสียดายที่สามารถเก็บกักไว้ได้เพียง 82,000 ล้าน ลบ.ม. หรือประมาณ 40% เท่านั้น ยังคงมีปริมาณน้ำฝนใช้การได้อีก 60% ที่เหลือไหลลงทะเลอย่างสูญเปล่าเป็นตัวแปรสำคัญให้เกิดน้ำท่วมในหลายครั้ง จึงมีการพูดถึงแนวทางแก้ปัญหา ซึ่งนักวิชาการมีการมองไปที่การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ เพื่อเก็บน้ำ 60% ที่เหลือนี้ แต่นั่นหมายถึงการต้องแลกมาด้วยงบประมาณมหาศาล ซึ่งที่ผ่านมาก็ยังพบว่ามีประชากรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาฝนแล้งและน้ำท่วมแม้จะอยู่ใกล้เขื่อนก็ตาม กรมการพัฒนาชุมชนจึงได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่มาประยุกต์ใช้กับการเก็บน้ำและบริหารจัดการน้ำในพื้นที่การเกษตรระดับไร่นาผสมผสานกับภูมิปัญญาพื้นบ้าน ภายใต้แนวคิด “โคก หนอง นา โมเดล” ที่เน้นการพัฒนาคนให้พึ่งพาตนเอง และช่วยเหลือแบ่งปันกันภายในชุมชน โดยการขุดบ่อ ทำหนองและคลองไส้ไก่ โดยนำดินที่ขุดได้ไปทำเป็นโคก คิดเป็น 30% ของพื้นที่ เพื่อทำการการปลูกป่า 3 อย่าง คือ ปลูกไม้ใช้สอย ไม้กินได้และไม้เศรษฐกิจ เพื่อให้ได้ประโยชน์ 4 อย่าง คือ มีกิน มีอยู่ มีใช้ มีความสมบูรณ์ และความร่มเย็น 30% สำหรับทำนา ปลูกข้าว และ 10% สำหรับที่อยู่อาศัยและเลี้ยงสัตว์นับเป็นหัวใจสำคัญในการบริหารจัดการที่ดินที่มีอยู่ควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาน้ำที่ส่งผลกระทบหลักต่อภาคการเกษตร เมื่อเกษตรกรมีการนำแนวทางดังกล่าวมาปรับใช้ จะพบว่าสามารถพึ่งพาตัวเองได้และไม่ต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งดังที่ผ่านมา
ในห้วงเวลาที่หลายจังหวัดของประเทศไทยกำลังเผชิญกับอุทกภัยในขณะนี้ มีผลเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า พื้นที่บางจุดในจังหวัดสุโขทัยและกำแพงเพชร สามารถอยู่ได้ท่ามกลางอุทกภัยครั้งนี้ อันเนื่องมาจากการน้อมนำศาสตร์พระราชา “โคก หนอง นา โมเดล” มาใช้ โดยมีหลักการที่สำคัญด้านการบริหารจัดการน้ำ คือ การเก็บกักน้ำไว้ใช้อย่างเพียงพอ ผ่านรูปแบบพื้นที่ โคก หนอง นา ซึ่งบนโคกที่ได้มีการปลูกป่า 3 อย่างนั้น มีรูปแบบการปลูก แบ่งเป็น 5 ระดับ ได้แก่ 1.ไม้ระดับสูง ได้แก่ ตะเคียน ยางนา เต็ง รัง ที่มีเรือนยอดสูงและมีอายุยืน 2.ไม้ชั้นกลาง ส่วนใหญ่เป็นไม้ผลที่เก็บกินได้ เช่น มะม่วง ขนุน มังคุด กระท้อน ไผ่ สะตอ เป็นต้น 3.ไม้ชั้นเตี้ย ได้แก่ พริก มะเขือ กะเพรา ผักหวานบ้าน ติ้ว เหรียง ฯลฯ 4.ไม้เรี่ยดิน ตระกูลไม้เลื้อยชนิดต่าง ๆ อย่างเช่น พริกไทย รางจืด และ 5.ไม้หัวใต้ดิน เช่น ขิง ข่า มันมือเสือ บุก กวาวเครือ เป็นต้น จากความหลากหลายของชนิดต้นไม้ที่ปลูก ทำให้มีรากไม้ที่หลากหลายในการที่จะช่วยอุ้มน้ำไว้ในดิน ในขณะที่ หนอง จะมีการขุดให้คดโค้ง เพื่อกระจายความชื้นของน้ำไปยังพื้นดินโดยรอบ ช่วยลดพลังงานในการรดน้ำต้นไม้ไปอีกทางหนึ่ง โดยการขุดหนองนั้นควรมีระดับตื้นลึกแตกต่างกันไปในแต่ละจุด เพื่อเป็นการสร้างระบบนิเวศน์ในน้ำ ให้สัตว์น้ำมีแหล่งวางไข่ และสามารถอยู่ร่วมกันได้ไม่ว่าจะเป็นสัตว์น้ำขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ อีกทั้งการปลูกพืชน้ำบางชนิดก็จะสามารถทำร่วมได้เช่นกัน โดยก่อนที่จะทำการขุดต้องมีการคำนวณปริมาตรนํ้าที่สามารถเก็บได้ในหนอง โดยคำนึงถึงสภาพภูมิประเทศและสภาพแวดล้อมในพื้นที่นั้น ๆ ด้วย เช่น ถ้าเป็นพื้นที่การเกษตรที่อาศัยน้ำฝน บ่อต้องลึกเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำระเหยได้มากเกินไป เพื่อให้พอใช้งานเหมาะสมกับขนาดของพื้นที่เกษตรกร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำริเป็นแนวทางว่า ในพื้นที่ 15 ไร่ เพาะปลูก 1 ไร่ ต้องมีน้ำสำหรับใช้ในการเกษตรไม่ต่ำกว่า 1,000 ลูกบาศก์เมตร ดังนั้น เมื่อทำนา 5 ไร่ ปลูกพืชไร่หรือไม้ผลอีก 5 ไร่ รวมเป็น 10 ไร่ ต้องมีน้ำใช้ไม่ต่ำกว่า 10,000 ลูกบาศก์เมตรในแต่ละปี และส่วนของนา ที่มีการยกคันนาให้สูงและกว้าง จะทำให้ใช้พื้นที่บนคันนาปลูกพืชผักไว้รับประทาน อีกทั้งยังเป็นที่เก็บน้ำไว้ใช้เมื่อฝนทิ้งช่วงได้อีกด้วยโดยนายอดิรุจ แสงชัย ผู้นำต้นแบบ เจ้าของแปลง โคก หนอง นา แห่งเดียวในบริเวณรอบ ๆ ชุมชนบ้านโคกกะทือ หมู่ที่ 5 ตำบลวังใหญ่ อำเภอศรีสำโรง จังหวัดสุโขทัย ที่ไม่ถูกน้ำท่วม เล่าว่า บ้านโคกกะทือ ประสบปัญหาน้ำท่วมเป็นประจำเกือบทุกปี ทำให้เกษตรกรหลายรายต้องกู้หนี้ยืมสินมาประคับประคองการทำเกษตรกรรมและดำรงชีวิต จึงทำให้เกิดแนวคิดว่าจะทำอย่างไรให้รอดพ้นวิกฤติน้ำท่วม และมีรายได้อย่างเพียงพอในการดำรงชีวิต และไม่เป็นหนี้สิน จึงเข้ารับการอบรมในโครงการ “โคก หนอง นา พช.” จากกรมการพัฒนาชุมชน ซึ่งถือว่าเป็นโครงการที่ดีมาก ๆ ที่จะช่วยให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้ ด้วยการมีอาหารและน้ำอยู่ในพื้นที่ทำกิน และหากมีการปฏิบัติตามแนวทางอย่างถูกวิธีก็จะช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งได้อย่างยั่งยืนเห็นได้ชัดว่า โคก หนอง นา โมเดล เป็นแนวทางปฏิบัติที่สามารถแก้ปัญหาได้ทั้งภัยแล้งและอุทกภัยอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ ในห้วงเวลาที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) “โคก หนอง นา” ยังมีส่วนช่วยในเรื่องของการสร้างแหล่งอาหาร สร้างอาชีพที่มั่นคง จากการที่เรามีข้าว ผัก ปลา และสมุนไพรบนที่ของเราเอง นำไปสู่การต่อยอดและแบ่งปันในชุมชน นับเป็นโมเดลต้นแบบในการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน ถือเป็นการตอกย้ำอย่างชัดเจนว่า โคก หนอง นา โมเดล นั้นคือทางรอดที่สามารถป้องกันปัญหาได้อย่างแท้จริง :Cr;มณสิการ รามจันทร์