พิมพ์ไทยออนไลน์ // ถือเป็นยุค “ตัดแปะ” ของรัฐบาล “เรือแป๊ะ”จริงๆ..
กับเรื่องของการ “ตัดแปะ”สอดใส้โครงการต่าง ๆ ของกระทรวงคมนาคม จนทำเอาหน่วยงานเกี่ยวข้องหรือเจ้าของโครงการเองปวดขมับ อย่างการก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) หรือ “เทอร์มินัล 2 ” วงเงินกว่า 42,000 ล้านบาทของ บมจ.ท่าอากาศยานไทย หรือ AOT ที่ฝ่ายบริหารทอท.และกระทรวงคมนาคมประกาศเดินหน้าก่อสร้าง “เทอร์มินัล 2” ด้านทิศเหนือ ควบคู่ไปกับการขยายเทอร์มินัลเดิม ที่ได้ชื่อว่าเป็น “เทอร์นิมัล ตัดแปะ”
เพราะเป็นโครงการที่อยู่นอก Master Plan เลยก็ว่าได้!
แม้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)จะออกโรงทักท้วงไม่เห็นด้วยกับโครงการถึง 2 รอบ เนื่องจากผิดไปจากแผนแม่บทที่กำหนดให้มี 2 เทอ์มินัลเท่านั้น คืออาคารผู้โดยสาร 1 ด้านทิศเหนือ ใกล้มอเตอร์เวย์ และอาคารผู้โดยสาร 2 ด้านทิศใต้ (ฝั่งถนนบางนา-ตราด) และหากทอท.จะขยายขีดความสามารถของสนามบินก่อนการก่อสร้างเทอร์มินัล 2 ก็ให้ไปดำเนินการขยายเทอร์มินัล 1 ด้านตะวันออกและตะวันตกที่อยู่ในมาสเตอร์แพลนอยู่แล้วก่อนจะลุยเทอร์มินัล 2 เต็มตัว
แม้แต่ที่ประชุมครม.เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2564 ที่มีนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่งหัวโต๊ะ จะเห็นชอบกับผลศึกษาโครงการก่อสร้างเทอร์มินัลของท่ากาศยานสุวรรณภูมิ ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.)นำเสนอ และเห็นควรให้กระทรวงคมนาคมกลับไปดำเนินการทบทวนการก่อสร้างให้เป็นไปตามแนวทางที่ สศช. และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2557 กำหนดไว้ตามเดิม เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายเช่นโครงการรับจำนำข้าว
แต่ทอท.และกระทรวงคมนาคมก็ไม่สนเสียงทักท้วง ยังคงดั้นเมฆที่จะลุยกำถั่ว “เทอร์มินัลตัดแปะ”ที่ว่านี้ต่อไป และแม้12 องค์กรวิชาชีพด้านวิศวกรรม ที่นำโดยสมาคมสถาปนิกสยามฯรวมทั้งองค์กาต่อต้านคอร์รัปชั่น(ประเทศไทย) หรือ ACT ที่นายกฯและรัฐบาลเรียกร้องให้ทุกฝ่ายให้ความร่วมมือจะร่วมออกโรงทัดทานกันอย่างไร แต่ ทอท.ก็ยังคงประกาศจะเดินหน้าก่อสร้าง “เทอร์มินัลตัดแปะ”ที่ว่านี้ ชนิดที่ “ช้างทั้งโขลงก็รั้งไม่อยู่”
ไม่เพียงการก่อสร้างเทอร์มินัล 2 ตัดแปะของ ทอท.ที่ไม่รู้จะลากใครต่อใครไปขึ้นเขียง ปปช.ในอนาคตอันใกล้หรือไม่โครงการประมูลหาเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนก่อสร้าง”รถไฟฟ้าสายสีส้ม” ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี วงเงินลงทุน 1.42 แสนล้านของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) ก็เป็นอีกโครงการของกระทรวงคมนาคมที่น่าจะถือได้ว่า มีการ “ตัดแปะ” ไม่เป็นไปตามมาสเตอร์แพลนเช่นกัน
เพราะแต่ไหนแต่ไรมารฟม.ประมูลหาเอกชนรับเหมาเข้ามาดำเนินการก่อสร้างหรือรับสัมปทานเดินรถไฟฟ้าด้วยวิธีการคัดเลือกด้วยเกณฑ์ปกติมานับทศวรรษ โดยไม่มีปัญหา ไม่ทำให้โครงการชะงักงันหรือล้มหัวคะมำแต่อย่างใด ยังคงสามารถจัดหาบริษัทรับเหมาเข้ามาก่อสร้าง หรือรับสัมปทานบริหารโครงการได้ตามวัตถุประสงค์
แต่วันดีคืนดีรฟม.และกระทรวงคมนาคมกลับลุกขึ้นมาปรับ”เปลี่ยนเกณฑ์พิจารณาคัดเลือกสุดพิสดาร”ที่ผิดแผกแตกต่างไปจากอดีต จนทำให้เส้นทางการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มต้องล้มลุกคลุกคลาน พาลจะไปประมูลกันเอาชาติหน้า(ตอนบ่าย ๆ ) เพราะไหนจะถูกบริษัทรับเหมาที่เข้าร่วมประมูลร้องแรกแหกกระเชอ ไหนจะถูกฟ้องกราวรูด จนทำเอาโครงการสะดุดตอแทบไปไม่เป็นจนป่านนี้บรรดาคดีความยังคงคาราคาซังอยู่ในชั้นศาล ไม่มีทีท่าว่าจะยุติกันลงง่าย ๆ
ล่าสุด! มาถึงโครงการ “ระบบตั๋วร่วม” ที่รัฐบาลและกระทรวงคมนาคมตีปี๊บมาตั้งแต่ปีมะโว้หรือในราวปี 2555 มีการยกร่างพรบ.การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม จัดตั้งศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง (Central Clearing House : CCH) เพื่อรองรับระบบตั๋วร่วม อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนผู้โดยสารกันไว้อย่างดิบดี
แต่จนป่านนี้ โครงการระบบตั๋วร่วมที่ว่าก็ยังไม่ขยับไปไหน ร่ำ ๆ จะทดสอบทดลองระบบกันเดือนนั้นเดือนนี้ไม่รู้กี่ครั้งกี่หนแล้ว แต่สุดท้ายก็เงียบหายเข้ากลีบเมฆจน ประชาชนผู้โดยสารได้แต่หาวเรอรอเก้อ จะใช้บริการรถโดยสารต่อเรือ หรือต่อรถไฟฟ้า รถเมล์ ขสมก.หรือรถร่วมอะไรก็ต้องเปลี่ยนระบบซื้อตั๋วใหม่กันให้ยุ่งขิง
มันช่างย้อนแย้งกับสิ่งที่รัฐบาลตีปี๊บจะขับเคลื่อนประเทศด้วยนโยบาย “ดิจิทัล 4.0” เหลือเกิน!
ล่าสุด นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ออกมาตีปี๊บความคืบหน้าโครงการระบบตั๋วร่วมที่ว่านี้อีกครั้ง โดยระบุว่าอยู่ระหว่างการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (ไม่รู้ครั้งที่เท่าไหร่แล้ว) เพื่อนำระบบการชำระเงินด้วยบัตรเครดิต หรือเดบิต ที่เรียกว่า EMV หรือ Europay, Mastercard และ Visa มาใช้ในการชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้า รถโดยสารประจำทาง และเรือโดยสาร โดยคาดว่าจะสามารถนำร่องให้บริการประชาชนได้ภายในเดือนพ.ย.นี้
โดยได้เชื้อเชิญ ธนาคารกรุงไทยให้เข้ามาช่วยทำระบบให้ เป็นผู้ลงทุนและพัฒนาระบบ EMV ทั้งหมด เบื้องต้นการเปิดให้บริการรถไฟสายสีแดงในเดือนพ.ย.นี้ จะนำร่องใช้บริการ EMV เป็นสายแรก พร้อมกับรถโดยสารประจำทางของ ขสมก. และเรือไฟฟ้า MINE Smart Ferry
ส่วนแผนดำเนินงานในปี 2565 กระทรวงคมนาคมมจะผลักดันให้ รฟม.ออกบัตรรายเดือนรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และสายสีม่วง รวมทั้งรถไฟชานเมืองสายสีแดงของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) โดยบัตรโดยสารแบบรายเดือน จะมีทั้งแบบ 20 เที่ยว ราคา 700 บาท (เฉลี่ยค่าโดยสาร35 บาทต่อเที่ยว) 30 เที่ยว900 บาท และ 50 เที่ยว ราคา 1,250 บาท เฉลี่ย 25 บาทต่อเที่ยว
ฟังชื่อโครงการที่กระทรวงคมนาคมกำลังตีปี๊บแล้ว “นายกฯลุงตู่” อย่าเพิ่งเเคลิ้มจนหลงคิดไปว่า เป็นโครงการสุดสวิงริงโก้อะไรที่ไหนเสียหล่ะ เพราะแท้จริงแล้ว “อีเอ็มวี -EMV ” ที่ว่าแม้จะเรียกชื่อสุดอินเตอร์เหมือนระบบในต่างประเทศเขา แต่เนื้อที่ที่กระทรวงคมนาคมกำลังดำเนินการนั้น ก็แค่ตัดเอาหัวอ่าน EDC แบบมาตรฐานที่ติดตั้งตามร้านสะดวกซื้อนั่นแหล่ะ มา “แปะ”บนประตูเก็บค่าโดยสารที่สถานีรถไฟฟ้า รฟม.สายสีน้ำเงิน และสายสีม่วง โดยหลีกเลี่ยงการทำระบบรับบัตร EMV แบบบูรณาการอย่างที่อังกฤษ หรือสิงคโปร์เขาทำกัน
นัยว่า หากจะนำเอาโครงการEMV ต้นแบบมาใช้ในเมืองไทยกันจริงๆ จังๆ อย่างที่นักการเมืองและข้าราชการประจำหอบหิ้วกันไปดูงานมา นอกจากจะมีค่าใช้จ่ายสูง และต้องใช้เวลานานในการบูรณาการระบบต่างๆ เข้าด้วยกัน ไม่สามารถจะโม่แป้งดำเนินการให้แล้วเสร็จตาม “ไทม์ไลน์” ที่เจ้ากระทรวงคมนาคมผู้ยิ่งใหญ่ป่าวประกาศไว้
ก็เลย เป็นที่มาของโครงการ “อีเอ็มวีศรีธนญชัย” แบบ “สุกเอาเผากิน” เป็นระบบ “ EMV ตัดแปะ” คล้ายๆกับเอาหัวอ่าน EDC (หัวอ่านบัตรเครดิตมาตรฐาน) เกรดเดียวกับที่ติดตั้งตามร้านค้าทั่วไปนั่นแหล่ะไปติดแปะบนรถโดยสารขสมก และเรือโดยสาร แล้วอ้างว่าเป็นระบบบัตรโดยสารร่วม EMV
คงหวังว่า หากตีปี๊บ ปชส.โครงการให้ติดหู “นายกฯลุงตู่” คงจับไต๋ไม่ได้แน่ว่าเป็นโครงการตัดแปะ!!!
ทั้งที่จะว่าไป การดำเนินโครงการ EMV ที่ว่านี้ ทั้งที่กรุงลอนดอน และสิงคโปร์นั้น มันเป็นเพียงแค่ “ระบบเสริม”สำหรับระบบตั๋วร่วมปกติ เพราะบัตร EMV ดังกล่าวไม่ใช่ว่าประชาชนโดยทั่วไปจะเข้าถึงได้ทั้งหมด ต้องออกโดยธนาคารเจ้าของบัตรที่อำนวยความสะดวกแก่ฐานลูกค้าของเขาเท่านั้น
แต่พอกระทรวงคมนาคม รฟม. และ ผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าใต้ชายคา ร่วมกับ แบงก์กรุงไทยนำมา “ตัดแปะ(และจับยัด) เข้ากับระบบตั๋วร่วมที่กระทรวงคมนาคมตีปี๊บมานาน แต่ยังทำไม่ได้เสียที จึงทำให้โครงการนี้บิดเบี้ยวไปจากโมเดลต้นแบบกันอย่างที่เห็น กลายเป็นนวัตกรรมศรีธนญชัย 4.0 แถมยังลักปิดลักเปิด เพราะนัยว่า ช่วงแรกของการใช้ระบบนี้ ยังคงจำกัดคงรับได้แค่บัตรวีซ่าที่ออกโดยแบงก์กรุงไทยก่อนเท่านั้น ส่วนจะขยับเปิดกว้างใช้ได้ทุกบัตรอย่างมาตรฐานที่ตั้งไว้หรือไม่ค่อยไปลุ้นระทึกกันอีกที
ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีข่าวด้วยว่า ในส่วนของรถไฟฟ้าสายสีแดงที่กำลังจะเปิดให้บริการ ยังเล่นใหญ่ยิ่งกว่าตัดแปะ แต่เป็นการ “จับยัด” เอาประตูเก็บค่าโดยสารอีกชุดมาติดเจ้า EDC และยัดเข้าไปที่สถานีโดยเป็นระบบที่เป็นเอกเทศแยกจากระบบจัดเก็บค่าโดยสารเดิมเข้าไปอีก
จริงไม่จริง ทั่น รมต. ศักดิ์สยาม ชาญวีรกุล วงษ์สุวรรณ ชิดชอบ ที่เคารพ !!! (ตัดแปะ)