พิมพ์ไทยออนไลน์ // สัปดาห์ก่อนเหลือบไปเห็นนักวิเคราะห์ออกมาตีปี๊บหุ้นเด่นรับงานประมูลโครงการรัฐอย่างรถไฟฟ้า 2 สายทาง คือรถไฟฟ้า สายสีม่วงใต้ (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) และ สายสีส้ม (บางขุนนนท์-มีนบุรี) ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)ที่กำลังเตรียมปัดฝุ่นโม่แป้งกันอีกหน รวมทั้งรถไฟฟ้า สายสีแดง ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่จะเปิดประมูลก่อสร้างตามมาในอนาคตอันใกล้
โดยนักวิเคราะห์ต่างพากันให้น้ำหนัก “หุ้นเด่น” ในกลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้างทั้งหลายแหล่ โดยเฉพาะ BEM-CK ที่น่าจะมีโอกาสมากกว่าใคร เพราะมีครบทั้งรับเหมาและระบบบริหารการเดินรถไฟฟ้า ยิ่งฝ่ายบริหาร รฟม.ออกมายืนยัน นั่งยันเตรียมเดินหน้าจัดประมูลรถไฟฟ้าทั้งสองสายเพราะเคลียร์หน้าเสื่อปัญหาที่ถูกฟเองหัวคาราคาซังไปเกือบหมดแล้ว ก็ยิ่งทำเอา ราคาหุ้นทั้งสองตัวตีปี๊บรับข่าวดีต่อเนื่องกันไปหลายวัน
แต่หากทุกฝ่ายจะได้ย้อนกลับไปพิจารณาผลงานในอดีตของหลักทรัพย์ทั้ง BEM และ CK ที่จับมือกันเข้าประมูลงานรัฐโครงการแล้วโครงการเล่าก่อนหน้านี้ ทั้งโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ให้เป็นเมืองการบินตะวันออกในเขตอีอีซีมูลค่ากว่า 2.6 แสนล้าน โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า สายสีชมพู และสายสีเหลืองของ รฟม.เอง รวมทั้งโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หรือ “มอเตอร์เวย์” 2 สายทางคือบางปะอิน-โคราช และบางใหญ่-กาญจนบุรี มูลค่ากว่า1.5 แสนล้านแล้ว ก็ไม่เห็นว่า 2 รับเหมายักษ์ข้างต้นจะได้งานอะไร มีแต่ “จั่วลม” ชวดโครงการเหล่านี้ไปเรียบวุธไม่ใช่หรือ?
หรือโครงการรถไฟฟ้า สายสีแดงของการรถไฟฯ ที่มีแผนจะเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนทั้งก่อสร้างส่วนต่อขยาย 4 เส้นวงเงิน 7.8 หมื่นล้าน และเดินรถไฟฟ้า-ซ่อมบำรุง นั้นงานนี้ก็ไม่หมู เพราะผู้บริหารรถไฟฯนั้น ไม่ใช่ผู้บริหาร รฟม.คงไม่ไปลากเอาเกณฑ์พิจารณาคัดเลือกสุดพิสดารที่ไหนมาใช้แน่ เพราะขนาดการประมูลหาเอกชนเข้าร่วมลงทุน(พีพีพี) ในโครงการ รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา)วงเงินลงทุนกว่า 2.24 แสนล้าน การรถไฟฯยังใช้เกณฑ์ประมูลปกติ ชี้ขาดเอกชนผู้รับเหมากันที่ข้อเสนอด้านการเงินที่ยัง ประโยชน์ต่อรัฐมากที่สุด หรือมีการของบสนับสนุนจากรัฐน้อยที่สุด โดยไม่จำเป็นต้องไปขุดเอาเกณฑ์ประมูลหลุดโลกที่ไหนมาใช้
ส่วนโครงการที่นัยว่า “ล็อคสเปคตั้งแต่ในมุ้งหรือไม่”อย่างรถไฟฟ้า. สายสีส้ม(บางขุนนนท์-มุนบุรี)มูลค่ากว่า 1.427 แสนล้านนั้นก็ยังเต็มไปด้วยปัญหา เปิดประมูลกันมาตั้งแต่ปีมะโว้ 2563 จนป่านนี้ก็ยัง “ปิดดีล”ไม่ลง เพราะควันหลงจากการที่ฝ่ายบริหาร รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกที่ไปมุบมิบๆ ปรับเปลี่ยนเกณฑ์ประมูลหวังอุ้มสมกลุ่มทุนรับเหมา “กากี่นั๊ง”อะไรที่ว่านั้น สุดท้ายกลับถูกรับเหมาเอกชนที่เข้าร่วมประมูลลุกขึ้นมาฟ้องหัวเอา จนทำเอาโครงการสะดุดตอ คาดว่า อาจจะไปประมูลกันเอาชาติหน้า (ตอนบ่ายๆ)
แต่หุ้นกลุ่มที่เพิ่งเซ็นสัญญาคว้างานยักษ์สุดบิ๊กบึ้มไปวันวาน โดยไม่ต้องไปตีปี๊บให้เมื่อยตุ้มก็เห็นจะเป็นกลุ่ม BGSR ที่ประกอบไปด้วยหุ้น BTS หรือบมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ หุ้น Gulf หรือ บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ หุ้น STECON หรือ บมจ.ซิโน-ไท เอ็นจิเนียร์ริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น และ RACH หรือ บมจ.ราชกรุ๊ป ที่เพิ่งเซ็นสัญญาก่อสร้างและบริหาร-ซ่อมบำรุง( O&M) โครงการมอเตอร์เวย์ 2 สายทาง “บางปะอิน-โคราช” และ “บางใหญ่-กาญจนบุรี” ไปล่าสุดเมื่อปลายเดือนก.ย.ที่ผ่านมานั้น อันนี้แหล่ะชัวร์ ๆ
แถมกรมทางหลวงยังมีแผนจะเปิดประมูลโครงการมอเตอร์เวย์สายใหม่ๆ ตามมาอีก 5-6 สาย อาทิ โครงการมอเตอร์เวย์สาย 9 ช่วงวงแหวนรอบนอกฯช่วงบางขุนเทียน-บางปะอิน ระยะทาง 78 กม. วงเงิน 78,000 ล้านบาท, มอเตอร์เวย์ ศรีนครินทร์-สนามบินสุวรรณภูมิ ระยะทาง 18 กม.วงเงิน 37,500 ล้านบาท ,มอเตอร์เวย์ สายนครปฐม-ชะอำ ระยะทาง 109 กม.วงเงินลงทุน 79,000 ล้านบาท และ มอเตอร์เวย์ส่วนต่อขยายดอนเมืองโทลล์เวย์-บางปะอิน ระยะทาง 22 กม. วงเงิน 28,360 ล้านบาท เป็นต้น
เห็นอย่างนี้แล้ว ยังจะไปตีปี๊บหุ้นเด่นที่ “ดังแต่ไม่ปัง”กันอีกหรือ!