พิมพ์ไทยออนไลน์ // งานนี้วงในจับตาใบสั่งคมนาคมจ่อเปลี่ยนตัวดันทุรังประมูลต่อ ท่าจะจอดแป๊กตั้งแต่ยังไม่ทันได้ออกสตาร์ท
กับเรื่องของการประมูลหาเอกชนเข้าร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้า สายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มุนบุรี (สุวินทวงศ์) วงเงินลงทุนกว่า 1.427 แสนล้านของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่ต้องล้มลุกคลุกคลานจัดประมูลกันมาตั้งแต่ต้นปี 2563 สุดท้ายกลับต้องยกเลิกการประมูลกลับไปนับ 1 ใหม่ อันเป็นผลพวงมาจากการที่ รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ปรับเปลี่ยนเกณฑ์ประมูลกลางอากาศ จนถูกบริษัทรับเหมาที่เข้าร่วมประมูลยื่นฟ้องศาลปกครองกลาง ก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับใช้เกณฑ์ประมูลเจ้าปัญหา จนทำเอาเส้นทางประมูลสะดุดกึก
สุดท้าย รฟม.ต้องยกเลิกประมูลไปเมื่อ วันที่ 3 ก.พ.2564 ก่อนจะไปขอถอนคดีความจากศาลปกครองด้วยข้ออ้างได้สั่งยกเลิกการประมูลไปแล้ว จึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทให้พิจารณาต่อ ซึ่งศาลก็มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีตามคำร้องขอ ก่อนที่ รฟม.จะตีปี๊บเตรียมเดินหน้าจัดประมูลใหม่ โดยยังคงงัดเอาเกณฑ์ประมูลคัดเลือกเจ้าปัญหาอีกครั้ง
แหล่งข่าวในรฟม.เปิดเผยว่า ล่าสุดเส้นทางการจัดประมูลรถไฟฟ้า สายสีส้มใหม่ของรฟม.จ่อเผชิญทางตันอีกครั้ง เมื่อมีกระแสข่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตารา 36 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยที่จะเดินหน้าจัดประมูลไปตามหลักเกณฑ์ที่ฝ่ายบริหารรฟม.เสนอ และเห็นว่าควรรอความชัดเจนของคดีความที่รฟม.ถูกฟ้อง รวมทั้งคดีล่าสุดในศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบที่กำลังพิจารณาอยู่ เพื่อจะได้ไม่เกิดปัญหาตามมาอีก
กรรมการคัดเลือกผวาเจ้าปิ้งชิ่งหนีรฟม.
แหล่งข่าวเปิดเผยว่า เหตุที่กรรมการคัดเลือกเสียงส่วนใหญ่แสดงท่าทีไม่เห็นด้วยที่จะเดินหน้าจัดประมูลใหม่ในเวลานี้ ก็เพราะก่อนหน้านี้ ฝ่ายบริหาร บมจ. ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือบีทีเอส(BTS) ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกไปยังผู้แทน 7 หน่วยงานรัฐที่ร่วมอยู่ในคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้แก่ กรรมการผู้แทนสำนักงบประมาณ, เลขานุการคณะกรรมการคัดเลือก, ผู้แทนกระทรวงคมนาคม,ผู้แทนสำนักคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ, ผู้แทนสำนักอัยการสูงสุด, ประธานคณะกรรมการคัดเลือก และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคัดเลือก
โดยเนื้อหาที่ส่งไปนั้น ได้สะท้อนปัญหาการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มที่ก่อนหน้านี้ มีการแก้ไขหลักเกณฑ์การประเมินผู้ชนะการคัดเลือกโครงการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และดำเนินการขัดมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)ที่กำหนดหลักเกณฑ์การประเมินการคัดเลือกเอกชนผู้ชนะการคัดเลือกที่รัฐต้องได้ผลประโยชน์ตอบแทนทางการเงินที่ดีที่สุด หรือมีการขอรับเงินสนับสนุนทางการเงินจากภาครัฐน้อยที่สุด หากคณะกรรมการคัดเลือกฯยังคงนำหลักเกณฑ์การประเมินผู้ชนะการคัดเลือกโดยใช้คะแนนด้านเทคนิคประกอบด้านราคา ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ ครม.กำหนดไว้ บริษัทคงต้องใช้สิทธิ์โต้แย้งและคัดค้าน เพราะคดีความต่างๆ ที่บริษัทได้ยื่นฟ้องฝ่ายบริหาร รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครอง และคดียังไม่สิ้นสุด
เจอหนังสือเปิดผนึกแบบนี้เข้าไป ข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐที่ร่วมเป็นกรรมการคัดเลือกจึงไม่อยากเอาอนาคตหน้าที่การงานของตนเข้าไปเสี่ยงด้วย ขณะที่กรรมการผู้แทนบางหน่วยงานได้แสดงท่าทีชัดเจนไม่เอาด้วยกับเกณฑ์พิจารณาคัดเลือกที่รฟม.เสนอ จึงทำให้ที่ประชุมยังไม่สามารถหาข้อยุติในเรื่องหลักเกณฑ์พิจารณาคัดเลือกเอกชนผู้รับเหมาในโครงการนี้ได้”
ถือเป็นความเคลื่อนไหวที่กล่าวได้ว่า ย้อนแย้งกับสิ่งที่ฝ่ายบริหาร รฟม.ออกมาตีปี๊บก่อนหน้านี้ว่า จะสามารถที่จะเดินหน้าจัดประมูลโครงการรถไฟฟ้า สายสีส้มต่อไปได้อย่างราบรื่นภายใต้หลักเกณฑ์การประมูลคัดเลือกที่จะพิจารณาเกณฑ์ข้อเสนอด้านเทคนิคและราคาประกอบกัน เพราะได้เคลียร์หน้าเสื่อปัญหาคาราคาซังที่มีอยู่ในชั้นศาลไปเกือบหมดแล้ว
แหล่งข่าวเปิดเผยด้วยว่า ที่จริงหาก รฟม.จะเดินหน้าจัดประมูลไปตามเงื่อนไขทีโออาร์ TOR เดิม ที่ได้รับความเห็นชอบจาก ครม.โดยจะพิจารณาเปิดซองข้อเสนอด้านราคา จากบริษัทเอกชนที่ผ่านเกณฑ์การประเมินข้อเสนอด้านเทคนิคก็สามารถจะทำได้ โดยการปรับเพิ่มเกณฑ์ข้อเสนอด้านเทคนิคจากเดิมที่กำหนดไว้ต้องผ่าน 70 %เป็น 85% ซึ่งถือเป็นเกณฑ์ด้านเทคนิคที่เข้มข้นสูงสุดอยู่แล้ว และยังสอดคล้องกับสิ่งที่ รฟม.ต้องการคือ ได้ผู้รับเหมาที่มีศักยภาพแอละความเชี่ยวชาญเพื่อให้บรรลุ
วัตถุประสงค์ของโครงการนี้ระวัง! รถไฟฟ้า สายสีแดงปาดหน้า
แหล่งข่าว ยังกล่าวด้วยว่า สิ่งที่ทุกฝ่ายควรตระหนัก ในเร็วๆนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) เตรียมเปิดประมูลก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดงส่วนต่อขยาย 4 สายทาง มูลค่า 6.75 หมื่นล้าน ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนเดินรถและซ่อมบำรุง O&M แบบรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ ด้วย
โดยคาดว่า จะได้ข้อยุติรูปแบบประมูลภายในเดือน พ.ย.64 นี้และเปิดประมูลต้นปีหน้า ซึ่งก่อนหน้านี้ นักวิเคราะห์หลายสำนักมองว่าหุ้นรับเหมายักษ์อย่าง BEM-CK น่าจะได้เปรียบ เพราะมีทั้งรับเหมายักษ์ และผู้ให้บริการเดินรถอยู่ในมือครบวงจร
อย่างไรก็ตาม ส่ิงที่หลายฝ่ายมองข้ามก็คือ 2 รับเหมายักษ์ข้างต้นที่เคยจับมือร่วมประมูลงานเมกะโปรเจกต์รัฐมาหลายโครงการทั้งรถไฟฟ้า สายสีเหลืองและสีชมพูของ รฟม.เอง และโครงการมอเตอร์เวย์สายบางประอิน-โคราช และบางใหญ่ -กาญจนบุรี วงเงินกว่า 60,000 ล้านแต่ก็วืดไปหมด ส่วนโครงการที่คาดว่าจะได้แบบนอนมา อย่างรถไฟฟ้า สายสีส้ม และสายสีม่วงใต้ ก็ยังคาราคาซังปิดดีลไม่ลงในปัจจุบัน
แหล่งข่าวกล่าวว่า อย่าลืมว่า หน่วยงานเจ้าของโครงการคือ การรถไฟฯน้ันไม่เหมือน รฟม.ที่มีฝ่ายบริหารจะไปเลือกเอาเกณฑ์ประมูลสุดพิสดารมาใช้ เพราะขนาดโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน วงเงินกว่า 2.24 แสนล้าน รฟท..ก็ยังคงใช้เกณฑ์ประมูลปกติ พิจารณาข้อเสนอทางการเงินจากกลุ่มรับเหมาเอกชนที่ต้องผ่านเกณฑ์ประมูลด้านเทคนิคแล้วเท่านั้น หรือการประมูลก่อสร้างรถไฟทางคู่ สายเหนือ และสายอีสาน วงเงินกว่า 1.28 แสนล้าน ที่แม้การรถไฟฯจะกำหนดเงื่อนไขให้สิทธิ์รับเหมาภายในประเทศ Thailand First แต่ในส่วนของเกณฑ์พิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคได้เปิดกว้าง ให้ผู้รับเหมาที่เข้าประกวดราคาสามารถนำเอาผลงานในต่างประเทศมาแสดงได้
“หากการรถไฟฯ ปาดหน้าจัดประมูลหาเอกชนเข้าร่วมลงทุนหรือก่อสร้างรถไฟฟ้า สายสีแดงได้ก่อน รฟม.โดยใช้เกณฑ์ประมูลปกติจะทำให้เส้นทางการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม หรือสายสีม่วงใต้ของ รฟม.ถูกสังคมตั้งข้อกังขาหนักเข้าไปอีกว่า ทำไมต้องดิ้นสุดขั้วงัดเอาเกณฑ์ประมูลสุดพิสดารมาใช้ทันที”
อย่างไรก็ตาม ภายหลังการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ล่าสุด ที่ยังไม่เห็นชอบกับเกณฑ์ประมูลคัดเลือกตามที่ รฟม.นำเสนอนั้น กลับมีกระแสข่าวว่ามีแนวโน้มที่ กระทรวงคมนาคม และ รฟม.อาจจะมีการปรับเปลี่ยนกรรมการคัดเลือกใหม่อีกครั้ง เพื่อเดินหน้าโครงการนี้ต่อไป.