พิมพ์ไทยออนไลน์ // วงการรับเหมาหวั่นประมูลรถไฟฟ้า สายสีส้มหนีไม่พ้นวังวนเดิม ถูกเอกชนฟ้องอีก หลังรฟม.ยังดั้นเมฆปัดฝุ่นเอา TOR พร้อมเกณฑ์พิจารณาคัดเลือกเจ้าปัญหากลับมาวนใช้อีก ทั้งที่ไปขอศาลจำหน่ายคดีเพราะยกเลิกไปแล้ว
จากการที่ ฝ่ายบริหาร การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ออกมาแถลงข่าวล่าสุดว่า เตรียมเดินหน้าจัดประกวดราคาหาเอกชนเข้าร่วมลงทุน(พีพีพี โครงการรถไฟฟ้า สายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) วงเงินลงทุนกว่า 1.2 แสนล้านบาท โดยระบุว่า คดีความที่เกี่ยวข้องกับการคัดเลือกเอกชนฯครั้งใหม่ที่รฟม.ถุกเอกชนฟ้องร้องก่อนหน้าได้ข้อยุติหมดแล้ว เหลือเพียงคดีย่อย ๆ เท่านั้น ทำให้ รฟม.สามารถที่จะเดินหน้าจัดประมูลบใหม่ได้
แหล่งข่าวกล่าวว่า ที่จริงประเด็นที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของบริษัทเอกชนฟ้อง รฟม.กล่าวหาทำละเมิดนั้นไม่ได้มีอะไรที่ลึกลับซับซ้อนเป็นเพียงประเด็นปลีกย่อยที่ต่อเนื่องมาจากที่ศาลปกครองสูงสุดและศาลปกครองกลางมีคำสั่งจำหน่ายคดีฟ้องรฟม.กรณีลุกขึ้นมาปรับเปลี่ยนเกณฑ์พิจารณาคัดเลือกก่อนหน้านี้เท่านั้น
แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า หาก รฟม.ปัดฝุ่นไปนำเอาเกณฑ์พิจารณาคัดเลือกเจ้าปัญหาเดิมที่จะพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคและราคาประกอบกัน(ในสัดส่วน 30-70) จะไม่ถูกบริษัทเอกชนลุกขึ้นมาฟ้องร้องอีก
“อย่าลืมว่า ปัญหาการเปลี่ยนเกณฑ์พิจารณาคัดเลือกดังกล่าว ยังคงถูกฟ้องคาราคาซังอยู่ที่ศาลทุจริตและประพฤติมิชอบ และยังมีรายงานผลสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ( DSI) ที่สรุปว่าผู้ว่าการ รฟม.และกรรมการคัดเลือกรวม 7 คนที่มีส่วนในการปรับเปลี่ยนเกณฑ์คัดเลือกมาใช้เข้าข่ายกระทำผิด ม.157 และกฎหมายอื่นๆ อีกหลายฉบับ ก่อนส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการ ป.ป.ช.ไล่เบี้ยต่อดังนั้น การปัดฝุ่นเอาเกณฑ์พิจารณาคัดเลือกเดิมที่รฟม.ไปขอจำหน่ายคดีต่อศาลกลับมาประกาศใช้ จึงเป็นการคิดอ่านคิดเอง เออเองของฝ่ายบริหาร รฟม.เท่านั้น”
แหล่งข่าวยังกล่าวถึงเกณฑ์พิจารณาคัดเลือกเจ้าปัญหา ที่รฟม.ยังคงดึงดันจะนำมาใช้ว่า ก่อนหน้านี้ ดร สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรค ปชป.และผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมขนสงได้เคยออกมาทักท้วงและตีแผ่ข้อมูลไปหมดแล้ว การนำเอาเกณฑ์ผสมเทคนิค+ราคามาใช้ ไม่เพียงจะย้อนแย้งกับเหตุผลที่รฟม.กล่าวอ้างเรื่องเส้นทางก่อสร้างที่ต้องสร้างอุโมงค์และทางลอดแม่น้ำเจ้าพระยา จำเป็นต้องใช้เกณฑ์พิเศษทั้งที่ก่อนหน้านี้ รฟม.ก็เคยใช้เกณฑ์คัดเลือกปกติในโครงการรถไฟฟ้าสีน้ำเงิน ดังนั้น การปัดฝุ่นนำเอาเกณฑฺพิจารณคัดเลือกเจ้าปัญหานี้กลับมา จะทำให้ รฟม.ต้องสูญเสียงบประมาณมากขึ้นกว่าการใช้เกณฑ์ราคา 100%
แหล่งข่าวยังได้ฝากข้อคิดไปยังบอร์ด รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกฯด้วยว่าเหตุใดจึงยังคงปล่อยให้ฝ่ายบริหาร รฟม.เล่นเอาเถิดกับการดั้นเมฆนำเอาเกณฑ์ประมูลคัดเลือกดังกล่าวมาใช้ ทั้งที่มีข้อมูลประจักษ์ว่า มีความย้อนแย้งในตัวเอง และเป็นเกณฑ์พิจารณาคัดเลือกที่หาได้ตั้งอยู่บนหลักการที่คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (กนร.)และ คณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติหลักการเอาไว้เมื่อ 29 มกราคม 2563 เหตุใดจึงไม่คิดที่จะให้ฝ่ายบริหารรฟม.นำเสนอหลักเกณฑ์พิจารณาคัดเลือกเจ้าปัญหาที่ว่านี้ต่อคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ, สคร.และคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(คนร.) รวมทั้ง ครม.ก่อนหรือ จะได้ข้อยุติเสียทีว่ารฟม.มีอำนาจที่จะผุดเกณฑ์พิจารณาคัดเลือกเองตามที่ป่าวประกาศโครม ๆ อยู่หรือไม่
อย่าลืมว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจากความล่าช้าในการประมูลรถไฟฟ้า สายสีส้ม หรือสีม่วงใต้ จนยังผลให้ประชาชนคนกรุงต้องสูญเสียโอกาสในการใช้บริการรถไฟฟ้า สร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจไปนับหมื่นล้านและยังทำให้หน่วยงานรัฐคือ รฟม.เองก็เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นไปนับพันล้านบาท สุดท้ายแล้วปฏิเสธไม่ได้ว่า รัฐบาลเอง คือผู้ที่ต้องแบกรับความล้มเหลวทั้งหมด.