วันจันทร์, เมษายน 21, 2025

หนังสือพิมพ์ พิมพ์ไทยออนไลน์

กองทุนสามล้อถูกหวย”USO”

พิมพ์ไทยออนไลน์ // เหลือบไปเห็นข่าว “หมอวรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี ออกมาตีปี๊บทวงคืนดาวเทียม ไทยคม 7-8 โดยอ้างว่า รัฐบาลในอดีตให้ใบอนุญาตประเคนเอกชนชุบมือเปิบไป ทั้งที่ควรเป็นระบบสัมปทาน ที่รัฐต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สิน และวงจรดาวเทียมเหล่านี้ เพราะไม่มีทีใดในโลกที่ให้ใบอนุญาตกันในลักษณะนี้

อ่านแล้วก็ให้ระเหี่ยใจแทน ไม่แน่ใจว่าตัวหมอและเครือข่ายเช้าใจในบริบทของ พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯปี 2553 (พรบ.กสทช.) และที่แก้ไขเพิ่มเติมหรือไม่ว่า มันเป็นยังไง ส่งผลต่อระบบการให้สัมปทานหรือออกใบอนุญาตกิจการวิทยุกระจายเสียง โทรทัศน์ และโทรคมนาคม รวมทั้งดาวเทียมมากน้อยแค่ไหน

เพราะ พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ได้ยกเลิกบรรดากฎหมายผูกขาดทั้งหลายแหล่ของรัฐไปหมดสิ้นแล้ว เพื่อเข้าสู่ระบบการออกใบอนุญาต สู่การเปิดเสรีโทรคมสนาคมไปตั้งแต่ปีมะโว้ 2549 โน้นแล้ว การเปลี่ยนผ่านและประกอบกิจการดิจิทัลทีวี และประกอบกิจการโทรคมนาคม 3G , 4G และ 5G ในปัจจุบันล้วนเป็นระบบใบอนุญาตที่ให้ตรงแก่ผู้ประกอบการ ไม่สามารถจะ “เซ็งลี้”ไปให้ใครอื่นประกอบกิจการแทนได้ และไม่ใช่ระบบสัมปทานที่เอกชนต้องยกทรัพย์สินให้แก่รัฐแบบสัมปทาน BTO ในอดีตอีกแล้ว

ที่จริงหากอยากสร้างผลงานให้โลกจดจำ ก็ไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไรเลย ลองล้วงลูกเข้าไปตรวจสอบการใช้งบ (ถลุง)ของ“กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ” หรือ “กทปส.” หรือ กองทุน USO ของ “สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ที่ทำหน้าที่กำกับดูแล และออกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์และโทรคมนาคม

รวมทั้งกำลังตั้งแท่นเปิดประมูลสิทธิในการใช้วงโคจรดาวเทียมดวงใหม่ที่กำลังระอุแดดอยู่ในเวลานี้

เพราะกองทุน USO ดังกล่าวที่มีแหล่งรายได้จากการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช.ในอัตรา 2.5% ทำให้กองทุนมีรายได้กองพะเนินกว่าปีละ 35,000-40,000 ล้านบาทนั้น ถูกวิพากษ์มาตลอดว่า มีการใช้งบกันราว “สามล้อถูกหวย” ปั้นโปรเจ็กต์ถลุงงบกันสุดติ่งกระดิ่งแมว โดยปราศจากการตรวจสอบ หรือประเมินผลสัมฤทธิ์โครงการ

ตัวหน่วยงานที่ต้องทำหน้าที่ตรวจสอบอย่าง”ซุปเปปอร์บอร์ด กสทช.หรือกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน กสทช. (กตป.)นั้นก็เป็นแค่สะพานของใครบางคนที่หวังจะก้าวข้ามไปเป็นกรรมการ กสทช.หรือไม่ ขณะที่หน่วยงาน สตง.ก็ตรวจสอบไปงั้นๆ จึงทำให้กองทุนดังกล่าวถลุงงบกันมันมือ

แม้วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุน USO จะเป็นไปเพื่อนำเม็ดเงินที่เรียกเก็บจาก “ค่าธรรมเนียม”ใบอนุญาตจากผู้ประกอบกิจการวิทยุ กิจการโทรทัศน์ และกิจการสื่อสารโทรคมนาคมเพื่อนำไปพัฒนาบริการโทรคมนาคมในท้องถิ่นทุรกันดาร หรือพื้นที่ห่างไกล ที่ผู้ประกอบการโทรคมนาคมทั้งหลายไม่อยากเข้าไปลงทุน กองทุน USO จึงต้องเจ้ามาเติมเติมส่วนนี้เพื่อประโยชน์ของประชาชน โดยเฉพาะผู้คนในระดับรากหญ้า

แต่ก็อย่างที่กล่าวไปข้างต้น การใช้งบของกองทุนดังกล่าวโดยเฉพาะในห้วงของบ อร์ดกสทช.ชุดปัจจุบันที่ทำหน้ารักษาการกันจนรากงอกนับสิบปี จากการที่รัฐบาล คสช.ในอดีตออกคำสั่ง ม.44 ล้มกระบวนการสรรหา กสทช.ชุดใหม่ไปถึง 2 ครั้งนั้น ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอดว่า มีการใช้งบหรือถลุงงบย่ิงกว่า “สามล้อถูกหวย” เพราะเปิดกว้างให้มีการถลุงงบแบบครอบจักรวาลก็ว่าได้

อย่างที่เคยมีกระแสข่าวกองทุน USO ไฟเขียวงบ 3,000 ล้านไปให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติผุดศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉินแห่งชาติ 191 ที่ป่านนี้คนไทยจะรู้หรือไม่ โทร 191 ที่บอกโทรไม่ติด สายไม่ว่าง จนหลากหลายหน่วยงานหรือแม้แต่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือศลค.เองก็ยังต้องเปิดสายด่วน หรือเบอร์ฉุกเฉินกันเองนั้นได้งบหรือใช้งบกันแบบไหน คุ้มค่าหรือไม่

ล่าสุด ยังเจียดงบกองทุนอีกปีละกว่า 3,000 ล้านออกไปให้กระทรวงดีอีเอสผ่าน “คณะกรรมการดิจิทัลแห่งชาติ”ให้มาช่วยถลุงกันด้วยอีก ซึ่งก็ไม่ผิดหวังทางบอร์ดดีอีเอสก็จัดเต็มผุดโครงการต่าง ๆ มาช่วยกันถลุงนับสิบ นับร้อยโครงการ แต่ละโครงการนั้นจับต้องได้หรือไม่ มีความเป็นรูปธรรมแค่ไหน ถามผู้คนในวงการดิจิทัลแล้วก็ได้แต่ส่ายหน้า ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำขนานแท้

ขณะที่ภารกิจหลักของกองทุนที่ดำเนินการไปก่อนหน้า หลายโครงการก็เต็มไปด้วยปัญหา อย่างโครงการ “เน็ตชายขอบ” หรือ โครงการโทรศัพท์เคลื่อนที่ และบริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง (ยูโซ่เน็ต) ในพื้นที่ชายขอบ((Zone C) เฟสแรก 3,920 หมู่บ้าน วงเงิน 13,614.62 ล้านบาทที่ กสทช. เปิดให้บริษัทเอกชนเข้ามาดำเนินการเมื่อ 3-4 ปีก่อน โดย 1 ในนั้น มีบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด(มหาชน) (NT) ดอดเข้ามารับจ๊อบไปด้วย 3 สัญญาวงเงินกว่า 6,486.39 ล้านบาท แต่ผลงานติดตั้งดำเนินโครงการกลับล้มเหลวไม่เป็นท่า จนต้องยกเลิกสัญญา ลากเอาโครงการ “เน็ตชายขอบ” ที่ครอบคลุมพื้นที่ให้บริการ 3,920 หมู่บ้าน 2.1 ล้านครัวเรือนไม่สามารถใช้งานได้ตามเป้าหมาย  

ส่วนโครงการเน็ตชายขอบ เฟส 2 อีกจำนวน 15,732 หมู่บ้าน มูลค่ากว่า 20,000 ล้านบาทนั้น กสทช.ได้ดำเนินการ ประกวดราคาไปตั้งแต่กลางปี
2562 ซึ่งก็นัยว่า การติดตั้งดำเนินโครงการคืบหน้าไปเกือบ 100% แล้ว  แต่ใช้งานได้มากน้อยแค่ไหนอย่างไร วานฯฯพณฯท่านชัยวุฒิ คมาธรรมานุสรณ์ ที่รับ่ช่วงต่อโครงการไปดูแลต่อช่วยนำมารายงานต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) หน่อยก็ดี เผื่อจะได้มีผลงานกับเขาบ้าง  

จะว่าไป บทบาทหลัก ๆ ของกองทุน USO ที่เจียดงบลงไปลุยกำถั่วให้บริการโทรคมนาคมและอินเทอร์เน็ตสารพัดโครงการ ก่อนจะขยายบทบาทเจียดจ่ายการถลุงงบออกไปยังหน่วยงานอื่น ๆ  ให้มาช่วยถลุงจนแทบจะครอบจักรวาลนั้นสะท้อนให้เห็นว่า ภารกิจหลักของกองทุนนั้นเสร็จสิ้นลงไปเกือบหมดแล้ว

ในห้วงที่ประเทศกำลังสำลักพิษจากวิกฤตไวรัสโควิด-19 ธุรกิจน้อยใหญ่ ต่างล้มระเนระนาด ที่มีสายป่านยาวหน่อยก็หืดจับหายใจไม่ทั่วท้องต้องรัดเข็มขัดกัดฟันกร่อดๆๆๆ กันรายวันอยู่นั้น บทบาทของกองทุน USO เองก็น่าจะถึงเวลาสังคายนาและปรับเปลี่ยน เงินกองทุนที่ขูดรีดและโขกเอามาจากค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียง โทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม กิจการอินเทอร์เน็ตทั้งหลายแหล่ ก็สมควรยกเลิกหรือปรับลดให้สมน้ำ สมเนื้อกับภารกิจที่เหลืออยู่

แต่กลับไม่น่าเชื่อว่า บอร์ดกสทช.และบอร์ดบริหารกองทุนล่าสุดยังคงมีนโยบายให้คงอัตราจัดเก็บค่าธรรมเนียมยูโซ่ไว้ดังเดิม และสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกันร่างช่วยกันผุดโปรเจ็กต์ เนรมิตโครงการที่จะมาใช้งบกองทุนกันให้ละลานตา ราวกับว่าเศรษฐกิจไทยวันนี้โตวันโตคืน หรือกำลังผงาดยืนอยู่แถวหน้าของโลกยังไงยังงั้น

ไม่ต่างไปจากท่านผู้นำที่วันๆเอาแต่นั่งอยู่บนหอคอยงาช้าง จนไม่รู้เลยว่าชาวบ้านชาวช่องกำลังจะอดตายกันทั้งประเทศ ไม่ตายเพราะไวรัสควิด ก็อดตายเพราะเศรษฐกิจและธุรกิจไทยสำลักพิษจนต้องปิดกิจการเกือบจะทั้งประเทศแล้วในปัจจุบัน!

 

 

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวใหม่