พิมพ์ไทยออนไลน์ // นายสราวุธ ประธานจัดกิจกรรม สำนักงานศาลยุติธรรมครบ 20 ปี เข้าสู่ D-Cout(Digital Court) ยกระดับการดำเนินงานศาลให้เป็นสากล เก็บข้อมูลออนไลน์ศาลทั่วประเทศ
เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 63 ที่ศาลยุติธรรม นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมเป็นประธาน เป็นประธานจัดกิจกรรม สำนักงานศาลยุติธรรมจึงดำเนินงานมาครบ 20 ปี ขึ้นอย่างเรียบง่าย สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
โดย นายสราวุธ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมเป็นประธานในพิธีสงฆ์ ถวายปิ่นโตภัตตาหาร และจตุปัจจัยไทยธรรม แด่เจ้าอาวาสวัดสิริกมลาวาส พร้อมคณะสงฆ์อีก 9 รูป ณ ห้องประชุมใหญ่ สำนักงานศาลยุติธรรม อาคารศาลอาญา ชั้น 12
จากนั้นเวลา 08.00 น. นายสราวุธ เป็นประธานมอบรางวัลการแข่งขันนวัตกรรมการบริหารคดีและนวัตกรรมการบริการของหน่วยงานภายในศาลยุติธรรมตามระเบียบของคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมที่มุ่งเน้นให้บุคลากรภายในสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อใช้ในการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยผลการแข่งขันมีดังนี้
รางวัลด้านนวัตกรรมการบริหารคดี ได้แก่ “ระบบบันทึกการปิดหมายด้วยแผนที่ภาพถ่ายดาวเทียมและพิกัด GPS” ของศาลจังหวัดเบตง
รางวัลชมเชย ได้แก่ “โปรแกรมระบบปฏิบัติงานศูนย์ไกล่เกลี่ย” ของศาลจังหวัดเดชอุดม และ“ระบบสารสนเทศสำหรับผู้บริหาร Management Information Systems (MIS) for Executive ผ่าน Application บนมือถือ” ของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 9
รางวัลด้านนวัตกรรมการบริการ ได้แก่ “ระบบแจ้งเตือนอัจฉริยะด้วยบัตรประชาชนใบเดียว”
ของคณะทำงานบริหารจัดการระบบเทคโนโลยีดิจิทัลของศาลยุติธรรมประจำจังหวัดกาญจนบุรี
รางวัลชมเชย ได้แก่ “โปรแกรมจัดทำบัญชีค่าฤชาธรรมเนียมด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์” ของศาลจังหวัดนครราชสีมา
มีการมอบรางวัลการประกวดภาพยนตร์สั้นหัวข้อ “สิทธิและหน้าที่ของผู้ต้องหา และจำเลยในการขอปล่อยชั่วคราว” ซึ่งเป็นกิจกรรมส่งเสริมให้เยาวชน และประชาชนทั่วไป มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่การปล่อยชั่วคราว และสนับสนุนให้การบังคับคดีผู้ประกัน ของหน่วยงานในสังกัดสำนักงานศาลยุติธรรมดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ได้รับเกียรติจากนายวิทยา ทองอยู่ยง ผู้กำกับภาพยนตร์ นางสาวอมราพร แผ่นดินทอง นักเขียนบทและอาจารย์สอนเขียนบทภาพยนตร์ และนายสุพจน์ พงษ์พรรณเจริญ พิธีกรและนักแสดง ร่วมเป็นคณะกรรมการตัดสิน โดยมีทีมที่ได้รับรางวัลประกอบด้วย
ประเภทมัธยมศึกษา
-รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ผลงาน “โอกาส ?” ทีม Mind Bro Production
จากโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ๒
-รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ผลงาน “ผมไม่ใช่แพะ” ทีม SJ PRODUCTION
จากโรงเรียนอุดรพิทยานุกูล
-รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ผลงาน “สิทธิของเราใช้ซะ” ทีม Blurfilmproductions
จากโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย
-รางวัลชมเชย ได้แก่ ผลงาน “แพะรับบาป…” ทีม สกัดดาวรุ่ง (S.K.D)
จากโรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สตรีวิทยา พุทธมณฑล
และผลงาน “ผู้ต้องหาที่ถูกทอดทิ้ง” ทีม ToSchool
จากโรงเรียนมัธยมวัดสิงห์
ประเภทระดับอุดมศึกษา
-ไม่มีผู้ใดได้รับรางวัลชนะเลิศ
-รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ผลงาน “The choice ทางเลือกสีเทา” ทีม HOLOLO
จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
-รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ผลงาน “ออย ผู้บริสุทธิ์” ทีม 43KY Studio
จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น
-รางวัลชมเชย ได้แก่ ผลงาน “ความยุติธรรมรากหญ้า” ทีม THE MOON
จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยรังสิต
ประเภทประชาชนทั่วไป
-รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ผลงาน “คืนความยุติธรรม” ทีม สังกะลี
-รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ผลงาน “FLY” ทีม ACTITEM
-รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ผลงาน “แม่” ทีม Insign film
-รางวัลชมเชย ได้แก่ ผลงาน “อิสรภาพใบเดียว” ทีม ดรีมทีม พิคเจอร์
และผลงาน “คนขับแท็กซี่” ทีม ราหูฟิล์ม
-รางวัล popular vote ได้แก่ ผลงาน “The number” ทีม สิบหมื่น
จากโรงเรียนดรุณสิกขาลัย (โครงการ วมว.) และโรงเรียนสตรีวิทยา
นอกจากนี้ ในวันที่ 20 และ 28 สิงหาคม ๒๕๖๓ สำนักงานศาลยุติธรรมยังได้จัดกิจกรรมแข่งขันตอบปัญหากฎหมายออนไลน์ทั่วประเทศ ทั้งในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและระดับอุดมศึกษา (ปริญญาตรี)
เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เยาวชนได้เรียนรู้เกี่ยวกับกฎหมายและสิทธิขั้นพื้นฐานต่าง ๆ อีกด้วย
นายสุริย้ณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา สำนักงานศาลยุติธรรมมีการพัฒนาบุคลากรและเทคโนโลยีมาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังตั้งเป้าหมายการขับเคลื่อนให้ศาลยุติธรรมเปลี่ยนผ่านสู่ Digital Court ในปี ค.ศ. 2020 นี้ โดยยกระดับมาตรฐานการดำเนินงานให้เป็นสากล ด้วยการพัฒนาทั้งบุคลากรและเทคโนโลยีอย่างเต็มที่ ด้านเทคโนโลยีเรากำลังเร่งพัฒนาการสร้างระบบบล็อกเชน (Blockchain) แบบ On premise คือระบบติดตั้งในหน่วยงานที่เป็นลักษณะโครงข่าย
เพื่อเก็บข้อมูลออนไลน์ของศาลทั่วประเทศ ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินงานไปแล้ว 91 % โดยศาลยุติธรรมไทยถือเป็นหน่วยงานราชการแห่งแรกของโลกที่ใช้ระบบนี้ โดยขั้นตอนต่อไปคือเตรียมการฝึกอบรมบุคลากร และเจ้าหน้าที่ศาลที่จะมาเป็นแอดมิน (Admin) และผู้ใช้งาน ทั้งนี้ คาดว่าระบบบล็อกเชน (Blockchain) น่าจะเริ่มใช้งานได้ในปี 2564
นอกจากนี้ในระบบออนไลน์ที่เราได้ดำเนินการสำเร็จแล้ว เตรียมจะเปิดตัวภายในเร็ว ๆ นี้
ก็คือการชำระค่าคัดถ่ายเอกสาร ค่าส่งคำคู่ความ ค่าเอกสารรับรองคดี รวมถึงค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ผ่านระบบที่สะดวกแก่ประชาชนทั่วไป เช่น ชำระผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส เพื่อให้การใช้บริการศาลยุติธรรมผ่านระบบออนไลน์มีความสะดวกมากยิ่งขึ้น ส่วนการดำเนินโครงการจัดให้มีระบบไบโอเมทริกซ์ ใช้การสแกนม่านตา (Iris code) เพื่อคัดกรองและยืนยันตัวบุคคลในคดีนั้น ได้เริ่มดำเนินการแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการด้านงบประมาณ
อย่างไรก็ตามในส่วนของระบบที่ได้มีการจัดทำและพัฒนาไปแล้วคือ ระบบซีออส (CIOS) ที่ให้ความสะดวกแก่คู่ความและทนายความในการติดตามสำนวนและคัดถ่ายเอกสารผ่านทางระบบออนไลน์ 24 ชั่วโมงนั้น ปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียนเข้าใช้ (Users) จำนวน 24,743 ราย นอกจากนี้ ในช่วงของสถานการณ์โควิด – 19 ที่ส่งผลให้ประชาชนทั่วไปต้องปรับวิถีการดำเนินชีวิตแบบใหม่ หรือ New Normal
ในส่วนของศาลยุติธรรมได้นําระบบไกล่เกลี่ยออนไลน์มาใช้ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้โดยสะดวก รวดเร็ว ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และปลอดภัยจากสถานการณ์ การแพร่กระจายของไวรัสโควิด – 19 ด้วย ซึ่งนับตั้งแต่เดือน ก.พ. – ส.ค. 63 ที่ผ่านมา ยอดรวมคดีที่เข้าสู่ระบบดังกล่าวในศาล 215 แห่ง ทั้งสิ้น 17,958 คดี ซึ่งไกล่เกลี่ยสำเร็จ 10,362 คดี ไม่สำเร็จเพียง 906 คดี
ปีนี้ในส่วนของศาลยุติธรรมครบรอบ 138 ปี ไปเมื่อวันที่ 21 เม.ย. ที่ผ่านมา ในช่วง 20 ปี หลังจากที่สำนักงานศาลยุติธรรมจะถูกจัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย ได้มีบทบาทสำคัญในการรับนโยบายของประธานศาลฎีกา มาปฏิบัติเพื่อช่วยสนับสนุนการทำงานของฝ่ายตุลาการในการพิจารณาพิพากษาคดีได้เป็นอย่างดี มีส่วนในการส่งเสริมให้บทบาทของศาลยุติธรรมดำเนินไปอย่างเป็นอิสระปราศจากการแทรกแซง ปรับตัวและพัฒนาองค์กรให้สอดคล้องต่อบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นหลักประกันสิทธิและเสรีภาพให้แก่ประชาชนทุกคนได้อย่างแท้จริง โฆษกศาลยุติธรรมกล่าว
Cr.: นายทวีศักดิ์ ชิตทัพ ผู้สื่อข่าวพิมพ์ไทยออนไลน์